19 มีนาคม 2559
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมากรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... โดยคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำและได้เสนอมายังคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งต่อสภา ทั้งนี้ร่างกฎหมายการออกเสียงประชามติมีจำนวน 66 มาตรา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์ กฎ กติกา วิธีการและขั้นตอน การออกเสียงประชามติ หลังจากที่ สนช. ได้ให้ความเห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในประเด็นการทำประชามติไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้
อย่างไรก็ดี สมาชิก สนช. ได้แสดงความเห็นด้วยต่อการกำหนดให้มีร่างกฎหมายการออกเสียงประชามติ และมีความห่วงใยในหลายประเด็น เช่น การจะนำเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในการออกเสียงเพราะเกรงเรื่องความผิดพลาด จึงแนะนำให้ใช้การลงคะแนนด้วยเครื่องในการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน หรือประเด็นเรื่องการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น หรือการรณรงค์ อย่างไรจึงจะถือว่าถูกต้อง และไม่ถูกลงโทษตามร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุและผู้พิการในการลงคะแนนออกเสียง รวมถึงรูปแบบการจัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ควรมีความหลากหลายและต้องเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เป็นต้น
ประธาน กรธ. ขอปรับ ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการทำประชามติ กับวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ฝากให้ช่วยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับ ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ให้ กรธ. สามารถเข้าไปชี้แจงในชั้นกรรมาธิการด้วย เพื่อปรับถ้อยคำให้ กรธ. สามารถทำหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ถือเป็นความผิด
ขณะเดียวกัน ประธาน กรธ. ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า อาจจะเปิดเผยในบางประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญมีเพิ่มมากขึ้นจากร่างแรก ส่วนหมวดการปฏิรูปเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จก็จะส่งไปให้รัฐบาลศึกษาก่อน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องดังกล่าว
22 มีนาคม 2559
ผู้แทนประธานศาลฎีกา ติง ร่าง พ.ร.บ.ชะลอการฟ้อง ให้อำนาจอัยการสั่งคุมประพฤติโดยไม่ผ่านศาล
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับยื่นหนังสือจาก ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้แทนประธานศาลฎีกา ที่ได้ระบุถึงข้อห่วงใยในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ชะลอการฟ้อง พ.ศ. ....ที่รัฐบาลเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. หลังพบว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้อำนาจอัยการชะลอโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 5 ปี และสั่งคุมประพฤติได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดชัดว่าจะปฏิบัติกับผู้หนึ่งผู้ใดเสมือนผู้กระทำผิดโดยไม่ผ่านศาลไม่ได้ อีกทั้งยังจำกัดสิทธิของผู้เสียหายในการนำคดีขึ้นสู่ศาลซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน และอาจทำให้หลักฐานสูญหายในระหว่างชะลอฟ้องและส่งผลต่ออายุความของคดีได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่ากระทบต่อสังคมอย่างมาก
23 มีนาคม 2559
รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับการทำประชามติ มีผลบังคับใช้แล้ว
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ให้ไว้ ณ วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2559 เนื้อหาของการแก้ไข มี 4 มาตรา โดยมาตรา 1 และมาตรา 2 เป็นชื่อและกำหนดการบังคับใช้ ส่วนมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 แล้วกำหนดถ้อยความใหม่ซึ่งมีเนื้อหาให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจากนั้น ครม. ต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ทราบโดยเร็ว เพื่อดําเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ขณะที่ กรธ.ต้องจัดทําคําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญแบบสรุปในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสําคัญ ๆ ได้โดยสะดวก และส่งให้ กกต. ภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันที่แจ้ง ครม.
สำหรับมาตรา 4 ได้เพิ่มความเป็นวรรค 4 – วรรค 12 ของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญเดิม ซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการดําเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ อาทิ ประกาศผลการออกเสียงประชามติ จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและคําอธิบายสาระสําคัญของร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสาม (ตามที่ กรธ.จัดทำ) เพื่อเผยแพร่ไปยังประชาชนทราบได้โดยสะดวกและเป็นการทั่วไป หลักเกณฑ์ วิธีการ และกําหนดเวลาในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การนับคะแนน เกณฑ์ของผลประชามติให้ถือเสียงข้างมากระหว่างเห็นชอบกับไม่เห็นชอบ
ประธาน กรธ. เผย ‘วิษณุ’ ไม่ติดใจปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ คาดหมดข้อเสนอจากรัฐบาลแล้ว
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ปธ.กรธ.) เปิดเผยว่า ได้ส่งข้อสรุปบทเฉพาะกาลที่ กรธ.ปรับแก้ให้วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว พร้อมอธิบายเหตุผล เพื่อให้เรียนนายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งวิษณุไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าไม่น่าจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมจากรัฐบาลแล้ว
ส่วนที่มาของ ส.ว. ที่ กรธ.มีมติให้มี 250 คน ตามข้อเสนอของ คสช.นั้น เพราะต้องการให้มาสานต่องานปฏิรูปซึ่งมีทั้งเรื่องที่ต้องดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งแบ่งเป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 200 คน และอีก 50 คนใช้วิธีการสรรหาจากกลุ่มอาชีพ ตามวิธีการของ กรธ. เพื่อเป็นการทดสอบระบบการเลือก ส.ว. ในอนาคตไปในตัวด้วย ส่วนเรื่องหน้าที่ของ ส.ว. ยังเป็นไปตามปกติ คือไม่มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ และไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จะเขียนเปิดให้มีข้าราชการประจำเข้าไปเป็น ส.ว. ได้โดยตำแหน่งไม่เกินร้อยละ 2.5 โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นผู้นำเหล่าทัพหรือฝ่ายความมั่นคง ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. แต่งตั้ง จะเป็นผู้คัดเลือก โดยมีหลักเกณฑ์มาจากคนที่รอบรู้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนระบบเลือกตั้งที่ กรธ. ยืนยันใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะ กรธ.ได้อธิบายหลักการนี้จนประชาชนเกิดความเข้าใจแล้ว หากกลับไปเปลี่ยนจะทำให้ยุ่งยาก
มีชัย กล่าวต่อไปว่า การให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ ยังเป็นไปตามเดิม แต่ได้กำหนดให้ กรณีที่เกิดข้อขัดแย้งไม่ต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถเข้าชื่อกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งเพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาขอเปิดประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อหาทางออก โดยรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อยกเลิกเงื่อนไขเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชี และเมื่อรัฐสภามีมติแล้ว จึงให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี
24 มีนาคม 2559
สนช. เห็นชอบให้ ร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (.พ.ร.บ.) วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ….เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 164 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ทั้งนี้ที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 แต่จากการตรวจสอบ พบว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความผิดพลาดบางประการจึงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 กำหนดให้ วิธีการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.นี้และข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.นี้
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและคดีความที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้รับการพิจารณาพิพากษาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
เคาะ คุณสมบัติคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ช่วงเปลี่ยนผ่าน 9 คน
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมนอกสถานที่เป็นวันที่ 2 เพื่อทบทวนร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นรอบสุดท้าย ที่โรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน บีช รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ได้กำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ช่วงเปลี่ยนผ่าน ในบทเฉพาะกาล โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวน 9 คน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ด้านต่างๆ และเป็นกลางทางการเมือง แต่ขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเป็นผู้คัดเลือก รวมถึงไม่ได้ห้าม คสช. เป็นกรรมการสรรหา แต่เชื่อว่า คสช.จะไม่ทำหน้าที่นี้
ส่วนการกำหนดให้ตั้งผู้นำเหล่าทัพโดยตำแหน่งเป็น ส.ว. 6 คน นั้น มีชัยกล่าวว่า ถ้ามองในแง่ดีจะช่วยบอกเล่าข้อเท็จจริง ความเป็นไปของสถานการณ์ให้ ส.ว. ได้รับทราบในเวลาทำงาน หรือ ตัดสินใจ รวมถึงสานต่อการปฏิรูป ซึ่งเป็นประโยชน์ของวุฒิสภา และเป็นเรื่องของความมั่นคงจึงต้องนำคนด้านความมั่นคงเข้ามา ทั้งนี้เชื่อว่า 6 เสียงคงไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงมากนัก
สนช. ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยพลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติห่าสงวนแห่งชาติ ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่า เนื่องจาก พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมีความไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บค่าบริการหรือค่าตอบแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจในการยึด อายัดและการรักษาของกลางไว้ได้ และกลายเป็นภาระต่อทางราชการ หรือการดำเนินคดีล่าช้าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และเนื่องจากบทลงโทษไม่รุนแรงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวจึงต้องเพิ่มบทลงโทษ อีกทั้ง ค่าธรรมเนียมค่าภาคหลวง ค่าบำรุงรักษาไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย มุ่งฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอี
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย ฉบับที่ .. พ.ศ. .... (การฟื้นฟูกิจการ) ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว สนช.ได้มีมติรับหลักการไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา มีหลักการสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในการกำหนดกระบวนการพิจารณาช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีทั้งบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ให้มีช่องทางได้รับการฟื้นฟูและไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย
ทั้งนี้ ในการพิจารณาที่ประชุมเห็นชอบด้วยเสียง 152 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย เพื่อนำไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป พร้อมกับจะส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปยังคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังจะส่งผลดีต่อไทยให้ได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลก เรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ตามดรรชนีเรื่องการแก้ไขปัญหาล้มละลาย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศด้วย
กรธ.เคาะที่มา ส.ว. ช่วงเปลี่ยนผ่าน 250 คน มีหน้าที่ติดตามงานปฏิรูปจากรัฐบาล
อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงที่มา ส.ว.250 คน ในช่วงเปลี่ยนผ่านว่า ให้คณะกรรมการสรรหา สรรหาบุคคลที่เหมาะสม จำนวน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 194 คน ส่วนอีก 6 คน กำหนดแต่งตั้งโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติจะใช้คุณสมบัติเดียวกับ ส.ว. แต่ยกเว้นสำหรับ 194 คน อาจยอมรับให้เป็น หรือเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนได้ ขณะเดียวกัน ส.ว.อีก 50 คน กรธ.ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลือกขั้นต้นจากผู้สมัครในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้ได้จำนวน 200 คน แล้วเสนอให้ คสช.เป็นผู้คัดเลือกเหลือ 50 คน และสำรองอีก 50 คน
นอกจากนี้ กรธ. ยังกำหนดให้ ส.ว.มีหน้าที่ เร่งรัด ติดตาม การทำงานของรัฐบาล ในการปฏิรูปประเทศ โดยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รายงานเรื่องการปฏิรูปประเทศทุก 3 เดือนให้กับวุฒิสภาได้ทราบ ให้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป หากมีปัญหาให้ทั้ง 2 สภาทำงานร่วมกัน ตลอดจนดูแลเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน หากสภามีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ การตรวจเงินแผ่นดิน หรือ การแก้ไขเพื่อไม่ให้การกระทำบางอย่างไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญา ยับยั้งให้กฎหมายเหล่านี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของทั้ง 2 สภา ซึ่งนับเป็นบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา 5 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
25 มีนาคม 2559
ประธาน กรธ.ย้ำ ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภา ยกเลิกการเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรค
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงเกี่ยวกับการยกเลิกเงื่อนไขเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชี โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ว่า ยังยืนยันว่าใช้เสียง 2 ใน 3 เหมือนเดิม แต่สิ่งที่โฆษก กรธ. ออกมาแถลงนั้นเป็นความผิดพลาดของตนเอง เนื่องจากระหว่างการถกเถียงของสมาชิก กรธ.นั้นมี 2 ตัวเลขที่นำมาพูดถึงในที่ประชุม จึงทำให้สับสนและเกิดความผิดพลาดในการพิมพ์ ขณะเดียวกันสมาชิก กรธ.เกรงใจไม่กล้าทักทวง จึงขอรับผิดในส่วนนี้