NLA Weekly (26 มี.ค.-1 เม.ย.59): หัวหน้า คสช. ใช้ม.44 ปลด 4 ผู้ว่าฯ-ตั้งทหารปราบมาเฟีย

NLA Weekly (26 มี.ค.-1 เม.ย.59): หัวหน้า คสช. ใช้ม.44 ปลด 4 ผู้ว่าฯ-ตั้งทหารปราบมาเฟีย

เมื่อ 4 เม.ย. 2559

26 มีนาคม 2559

กรธ.เผยร่าง รธน. ตอบโจทย์ คสช.-รธน.ชั่วคราว 57

นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงภายหลังการประชุมนอกสถานที่ วันสุดท้าย ว่า กรธ.ได้ข้อสรุปว่าร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งสิ้น 16 หมวด จำนวน 279 มาตรา ซึ่งรวมบทเฉพาะกาลแล้ว สาเหตุที่ลงท้ายเลข 9 เพราะเป็นตัวเลขที่สวยดี ทั้งนี้ กรธ.สามารถร่างรัฐธรรมนูญตามโจทย์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดไว้และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเปลี่ยนผ่านและเป็นการป้องกันผู้ทุจริตไม่ให้กลับสู่การเมือง

สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดขึ้นภายใน 150 วันภายหลังที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับแล้ว โดยยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแม็พของ คสช. คือ 6-4-6-4 ถ้าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องลาออกจากตำแหน่งภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 90 วัน  ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อม จำนวน 200 คนที่ กกต.ต้องส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน จะต้องเริ่มกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน โดยให้ กกต. ดำเนินการส่วนการสรรหา ส.ว.อีก 200 คนก็เป็นหน้าที่ของ คสช.ดำเนินการต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์
 

28 มีนาคม 2559

'ผบ.ทบ.' ขู่เอาผิดกลุ่มบิดเบือน ร่าง รธน.

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. ได้ย้ำว่าการทำงานในช่วงต่อไปนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ประเทศกำลังมีความคืบหน้าในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น การทำงานของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะใช้ช่วงเวลานี้ในการชี้แจงต่อประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายในทุกพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจในความคืบหน้าของการบริหารจัดการประเทศ ส่วนการเคลื่อนไหวใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำให้สังคมเกิดความสับสน ให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยโดยทันที

ที่มา: เดลินิวส์

 
29 มีนาคม 2559

เผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติแล้ว

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่สาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 279 มาตรา เมื่อเวลา 13.39 น. โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ)ได้ทำการปรับปรุงเพิ่มเติม ในเรื่องของ สิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทย  หน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และการปฏิรูป 7 ด้านที่กำหนดกรอบเวลาให้รัฐต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทั้งการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ

ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) รวมถึงการประกาศชื่อนายกรัฐมนตรีล่วงหน้าก่อนเลือกตั้ง 3 ชื่อ นั้น เป็นไปเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมพร้อมยืนยันว่า ไม่มีการสืบทอดอำนาจ และไม่ได้เปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีเอง ไม่ใช่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ส่วนการที่ กรธ.รับข้อเสนอ คสช.ให้มี ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน 250 คน โดยมี 6 คนที่มาจากฝ่ายความมั่นคงนั้น เนื่องจาก กรธ. เห็นด้วยกับเหตุผลของ คสช.ที่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และให้ ส.ว.ติดตามงานปฏิรูป จึงมองว่าเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ และขอย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในหลายๆ ประเทศ ก็มี ส.ว.สรรหา

ทั้งนี้ กรธ.จะจัดทำรูปเล่มสาระสำคัญภายใน 15 วัน จากนั้นจะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่า กกต.จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

มีชัยได้กล่าวในตอนท้ายว่า คสช.ยังคงมีอำนาจอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่เชื่อว่ามาตรา 44 จะใช้ล้มรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ได้

ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ที่ http://bit.ly/1UyIAsD

ที่มา: วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 เด้ง '4ผู้ว่าฯ'

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 12/2559 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีคําสั่งดังต่อไปนี้

1.ให้บุคคลดังต่อไปนี้ขาดจากตําแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิมเพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งตามกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสํานักนายกรัฐมนตรี 1) ยุทธนา วิริยะกิตติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ 2) สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก 3) สมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี 4) วีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

2.ให้ ธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ 3.ให้ เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลําพูน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก 4.ให้ วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี 5.ให้ สุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงกระทรวงมหาดไทยรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี 6.ให้ ศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงกระทรวงคมนาคม และให้ดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ให้ข้าราชการตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามตําแหน่งตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/073/13.PDF“

ที่มา: เดลินิวส์

'บิ๊กตู่' ใช้ม.44 ตั้งทหาร เป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม

ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตราย ต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557  มีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” หมายความว่า ข้าราชการทหาร ซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” หมายความว่า ข้าราชการทหาร ซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา และให้หมายความรวมถึง ทหารประจำการ ทหารกองประจำการ และอาสาสมัครทหารพราน ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคำสั่งนี้

ข้อ 2 ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นความผิดตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายคำสั่งนี้บุคคลซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดตามวรรคหนึ่งซึ่งจะอยู่ในบังคับตามคำสั่งนี้ ต้องเป็นผู้มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้

(1) กระทำความผิดโดยการข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น

(2) แสดงตนให้บุคคลอื่นเกรงกลัว ไม่กล้าขัดขืนหรือร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการเพราะเกรงภัยจะเกิดแก่ตน

(3) ดำรงชีพด้วยการกระทำผิดกฎหมายการกระทำตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุนการกระทำใดๆที่เป็นการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 3 ในการดำเนินการตามข้อ 2 ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อ 2

(2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการต่อไป

(3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิด ตามข้อ 2 โดยในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามเป็นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(4) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิด ตามข้อ 2 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิด ตามข้อ 2 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่า จะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้ เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (4)

(6) กระทำการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ที่มา: เดลินิวส์

 


31 มีนาคม 2559

สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 176 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 179 คน

โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่า ครม. ได้แยกกฎหมายที่เสนอมาออกเป็น 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเหตุผลที่ต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้เนื่องจาก การดำเนินคดีล่าช้า จึงเห็นสมควรจะแยกคดีนี้ออกมา ไปดำเนินการในศาลชำนัญพิเศษ

หลักการสำคัญ คือ จัดให้คดีอาญาที่เกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ จะต้องมาขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ ส่วนคดีที่ไม่ต้องมาขึ้นศาลนี้คือ คดีที่ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลที่อยู่ในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัว โดยวิธีพิจารณาสำคัญที่จะใช้ในศาลนี้คือ ผู้พิพากษาจะต้องมีประสบการมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี ใช้ระบบไต่สวนไม่ใช่ระบบกล่าวหา ศาลสามารถออกหมายเรียกโจทย์หรือจำเลยและอาจเป็นคนถามเองตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อค้นหาความจริงได้

 

นอกจากนี้เพื่อการพิจารณาคดีที่รวดเร็วศาลดังกล่าวจะมีเพียง 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เว้นแต่เป็นคดีสำคัญเป็นคดีๆ ไป เรียกว่าระบบฎีกาเป็นระบบอนุญาต ไม่ใช่ระบบสิทธิอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้จะสามารถตอบโจทย์การดำเนินงานที่รวดเร็ว การยึด/ริบทรัพย์จะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าในอดีต และในกรณีผู้ถูกฟ้องร้องหนีไปคดีจะไม่ขาดอายุความ

ที่มา: วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 174 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการแจ้งสิทธิการได้รับค่าตอบแทน หรือค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้เสียหายหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย หรือแก่จำเลยที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หลังปัจจุบันผู้เสียหายจำนวนมากไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

ที่มา: วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา


1 เมษายน 2559

มติ สปท. พ่วงคำถามประชามติ 'ให้รัฐสภาโหวตนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน'

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณาการเสนอประเด็นคำถาม หรือความเห็นของ สปท.ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกอบการพิจารณาในการเสนอคำถามที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม โดยมีผู้เสนอญัตติ 2 ญัตติ คือ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช สปท. ขอให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ภายหลังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะและแก้ไขความขัดแย้ง รวมถึงส่งเสริมความปรองดอง และญัตติของวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. ที่ให้นายกรัฐมนตรี มาจากการโหวตของที่ประชุมรัฐสภา ได้แก่ ส.ส. และส.ว. ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เพื่อให้สานงานปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และประคับประคองสถานการณ์ประชาธิปไตยและความสงบของบ้านเมือง

ก่อนเริ่มการประชุมมีถกเถียงเรื่องข้อเสนอการตั้งคำถามประชามติที่ สปท.จะต้องส่งให้ สนช.พิจารณา แต่ สนช.ยังไม่มีมติว่าจะมีคำถามพ่วงในการทำประชามติหรือไม่ โดยที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีมติเห็นชอบให้ส่งคำถามไปให้ สนช. ด้วยคะแนน 138 คะแนน ไม่เห็นด้วย 7 คะแนน และงดออกเสียง 7 คะแนน และมีมติให้ส่งเพียง 1 ญัตติ โดยระหว่างการลงมติ พล.อ.เลิศรัตน์ ได้ขอถอนญัตติ ทำให้เหลือเพียงญัตติของนายวันชัย ที่จะเสนอไปให้ประธาน สนช. ด้วยคะแนน 136 ต่อ 3 คะแนน งดออกเสียง 12 คะแนน

ที่มา: เดลินิวส์