NLA Weekly (2-8 เม.ย.59) มีชัย ติงร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ขาดมาตรการป้องกันคนขวาง กรธ.

NLA Weekly (2-8 เม.ย.59) มีชัย ติงร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ขาดมาตรการป้องกันคนขวาง กรธ.

เมื่อ 10 เม.ย. 2559
3 เมษายน 2559
 
ปธ.สนช. เตือนโพสต์ 'Vote No' หากข้อความประกอบเป็นเท็จผิดกฎหมาย-พ.ร.บ.คอมฯ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณาในวาระ 2-3 วันที่ 7 เมษายน 2559 คาดว่าพิจารณาเสร็จภายในวันดังกล่าว โดยจะให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน ส่วนการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น คงต้องดูที่เจตนารมณ์ ถ้าเป็นการวิเคราะห์เหตุผลข้อดีข้อเสีย มองว่าสามารถทำได้ ส่วนการโพสต์ข้อความ "โหวตโน" ร่างรัฐธรรมนูญในโซเชียลมีเดียนั้น ต้องดูองค์ประกอบและเจตนาของผู้โพสต์ข้อความประกอบ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าผิดหรือไม่ รวมทั้งเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ หากเสนอข้อความที่เป็นเท็จก็ถือว่าผิดกฎหมาย
 
ที่มา: ประชาไท 
 
5 เมษายน 2559
 
ครม.เห็นชอบ 'แผนเศรษฐกิจดิจิทัล' ระยะ 3 ปี พัฒนายาว 20 ปี
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559 - 2561) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระบุช่วงเวลาในการพัฒนายาว 20 ปี
 
ที่มา: ประชาไท
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. 14/2559 ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาชายแดนใต้-โละสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
 
โดยในคำสั่งกำหนดให้มีให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจํานวนไม่เกินหกสิบคนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 ดังกล่าว มีผลให้ คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ทำหน้าที่แทน สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดิมมีอำนาจตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
 
นอกจากนี้ยังระบุว่าเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรณีที่ต้องมีการบูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่างกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้เลขาธิการ ศอ.บต. ปรึกษาหารือและรับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเลขาธิการ กอ.รมน. ไปดําเนินการหรือปฏิบัติงาน
 
ในกรณีที่มีปัญหาว่าการดําเนินการหรือการปฏิบัติงานใดต้องมีการบูรณาการการทํางานร่วมกันตามวรรคหนึ่งหรือไม่ หรือในกรณีที่การดําเนินการตามวรรคหนึ่งมีความจําเป็นต้องพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติให้เลขาธิการ กอ.รมน. เสนอเรื่องดังกล่าวต่อรองผู้อํานวยการ กอ.รมน. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ
 
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ กอ.รมน. มีอํานาจหน้าที่ในการอํานวยการประสานงาน หรือดําเนินการอื่นที่จําเป็นเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย
 
ที่มา: ประชาไท
 
7 เมษายน 2559                                                 
 
มติ สนช. 171 เสียง ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีมติ 171เสียง ผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ....  ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ในที่ประชุมมีหลายประเด็นถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ กรณีที่กรรมาธิการวิสามัญฯ  ตัดคำว่า “รณรงค์” ในมาตรา 7 เพราะแต่เดิมใน มาตรา 7 ได้บัญญัติให้ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งทางสมาชิก สนช. ไม่เห็นด้วยกับการตัดถ้อยคำดังกล่าวออก เพราะเหมือนเป็นการปิดกั้นประชาชน และกระทบกับหลายมาตราในร่างกฎหมายฉบับนี้ ด้านกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังยืนยันที่จะตัดคำว่า “รณรงค์” ออก และใช้คำว่า “เผยแพร่” แทน โดย พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ยืนยันว่า สาเหตุที่ตัดคำว่า “รณรงค์”  โดยให้ กกต.เท่านั้น เป็นผู้รณรงค์  ก็เพื่อไม่ให้บุคคลบางพวกจะใช้ประเด็น “รับ”  “ไม่รับ” ในการออกเสียงประชามติ เป็นช่องทางชี้นำทำให้เกิดความขัดแย้ง   
 
 
สนช. มีมติส่งคำถามพ่วงประชามติ “เห็นชอบหรือไม่ บทเฉพาะกาลกำหนด 5 ปีแรก ให้รัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ โหวตเลือกนายกฯ” 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ 142 เสียง ให้ส่งประเด็นคำถาม ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ และมติ 152 เสียง เลือก “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” เป็นหนึ่งคำถามพ่วงประชามติ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559   
 
ในการเสนอความเห็นประกอบการตั้งคำถามพ่วงประชามติ ได้มีคณะกรรมาธิการของ สนช. 9 คณะ สมาชิก สนช. 8 คน และ สปท. ได้ส่งความเห็นเข้ามาที่กรรมาธิการรวบรวมความเห็นฯ  โดยพบว่า ความเห็นส่วนใหญ่มีหลักการที่คล้ายคลึงกับ คือ ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปี ควรกำหนดให้รัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาล ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ส่วนคำถามที่แตกต่างออกไป เช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งหนึ่งใบตามร่างรัฐธรรมนูญ / ท่านเห็นด้วยหรือไม่หากให้มีการปฏิรูป 5 ปี ก่อนการเลือกตั้ง / ท่านเห็นด้วยกับการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเป็นอิสระได้ โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง เป็นต้น    
 
 
สปท.จับมือ 20 องค์กรเครือข่าย ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการปฏิรูปประเทศ
 
ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการปฏิรูปประเทศ ระหว่าง สปท. กับ 20 องค์กรเครือข่าย เพื่อร่วมผลักดันการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามแผนปฏิรูป โดยทั้ง 20 องค์กรเครือข่ายจะร่วมมือกับ สปท. ใน 3 ภารกิจหลัก คือ สื่อสารสร้างความเข้าใจการปฏิรูปประเทศสู่สมาชิกและสาธารณชน ร่วมสร้าง “ผู้นำการปฏิรูป” ทุกภาคทั่วประเทศ และร่วมจัดตั้งและพัฒนาสถาบันการปฏิรูป (Reform Academy) ครอบคลุม 77 จังหวัด เพื่อให้เกิดขบวนการปฏิรูปในทุกระดับทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมหวังให้ประชาชนทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ นำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
 
สำหรับ 20 องค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย หอการค้าไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สภาพัฒนาการเมือง สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สภาองค์กรชุมชน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ที่ประชุมสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย คณะประสานงานองค์กรชุมชน สมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ชมรม สปช.57 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย
 
 
8 เมษายน 2558
 
ประธาน กรธ. เผย พร้อมปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลหลังผ่านประชามติ
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.พร้อมปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล ภายใน 30 วัน หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติ หลังจากนั้นจะส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความสิ่งที่ กรธ. ได้แก้ไข ซึ่งจะใช้เวลาอีก 30 วัน จากนั้นจะส่งให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โดยคาดว่า ภายใน 3 เดือนหลังจากวันออกเสียงประชามติ จะสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ทันที ขณะเดียวกันมีชัย ยังปฏิเสธให้ความเห็นกรณีที่คำถามพ่วงประชามติประเด็นให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ว่า จะเกิดวิกฤตในอนาคตอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า คำถามพ่วงประชามติจะไม่ทำให้ประชาชนสับสน เพราะจะเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต้องอธิบายต่อสังคม และไม่กังวลว่าประชาชนจะให้ความสำคัญกับคำถามมากกว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลไม่ห้ามให้ประชาชนแสดงความเห็นแต่ต้องอยู่บนความถูกต้อง อย่าบิดเบียนหรือก่อกวน
 
มีชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ไปแล้ว ยังไม่มีความสมบูรณ์ ยังคงขาดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการป้องกันกลุ่มคนขัดขวางการทำงานของ อาจต้องเสนอให้รัฐบาลปรับแก้อีกครั้ง