17 เมษายน 2559
รองประธาน สปท. ไม่เห็นด้วย ถ้าจะประกาศล่วงหน้าว่าประชามติไม่ผ่านแล้วยังไงต่อ
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง กล่าวว่า การออกเสียงประชามติทั้งในอดีตและปัจจุบันกำหนดให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว จึงไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีการเสนอให้ คสช.ประกาศล่วงหน้าว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดแทนหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เพราะการให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาเป็นทางเลือกเปรียบเทียบ ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วย พร้อมมองว่า ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ควรเสนอประเด็นต่าง ๆ ข้อดี ข้อเสีย ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง เพื่อช่วยให้ประชาชนเห็นมุมคิดหลายๆ ด้านต่อร่างรัฐธรรมนูญ
19 เมษายน 2559
ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับตามที่ไอซีทีเสนอ หนุนนโยบายดิจิตอลอีโคโนมี
อุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ที่กระทรวงฯ เสนอรวม 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม) ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และและร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประชุมกิจการวิทยุกระจ่ายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคือ เป็น พ.ร.บ.หลักที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนดิจิตอลของประเทศ ทำให้เกิดคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการ 12 คน มีหน้าที่จัดทำนโยบายแนวทางการดำเนินการเรื่องดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างไรเพื่อเสนอแนะต่อ ครม.
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม) ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าพนักงานจะได้ทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เนื่องจากระยะหลังมีการกระทำความผิดในรูปแบบที่มีการพัฒนาไปมาก เช่น หลอกลวง ฉ้อโกง ปลอมแปลง ข้อมูลเป็นเท็จ ร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงนี้จะครอบคลุมชัดเจนขึ้น
ส่วนร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ กสทช.ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดให้มีการลดองค์ประกอบของ กสทช.จากเดิม 11 คน เหลือ 7 คน เพราะจะเหลือ กสทช.คณะเดียว ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และยกเลิกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) รวมทั้งแก้ไขคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหาแต่งตั้งเป็น กสทช.เรื่องอายุเป็นไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปี จากเดิมไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่เกิน 70 ปี
20 เมษายน 2559
หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ ม.44 เด้ง 'วิมล จันทรโรทัย' พ้นอธิบดีกรมประมง
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม เพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ อดิศร พร้อมเทพ พ้นจากตำแหน่ง รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กกต. กำหนด 7 ส.ค. 59 เป็นวันออกเสียงประชามติพร้อมกันทั่วประเทศ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่องกําหนดวันออกเสียงประชามติ โดยระบุว่า มติที่ประชุมกกต.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2559 กำหนดวันที่ 7 ส.ค.2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ ซึ่งประเด็นดังต่อไปนี้
1.ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ... ทั้งฉบับ
2.ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบประเด็นเพิ่มเติมของสนช. "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกําหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"
21 เมษายน 2559
สนช. รับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 165 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. .... ได้รายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุม สนช.ว่าปัจจุบันจะอยู่ระหว่างการจัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีรายละเอียดกว่า 400 มาตรา โดยต้องนำกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดรวม 7 ฉบับ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มารวมเป็นกฎหมายฉบับเดียว
สนช.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นชอบรับหลักการแห่ง ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่มช่องทางชำระค่าปรับ) ไว้พิจารณา
วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องมีการตรากฎหมายดังกล่าว ว่าต้องการเพิ่มช่องทางชำระค่าปรับตามใบสั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยสามารถชำระค่าปรับตามใบสั่งที่ไม่ถูกเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ ด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต ชำระผ่านธนาคารหรือหน่วยรับบริการรับชำระเงิน ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอว่า ส่วนที่ระบุอธิบดีกรมตำรวจ ให้แก้ไขเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับส่วนราชการที่ได้รับการปรับปรุงจากการโอนกรมตำรวจไปเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วด้วย
ครม.เห็นชอบแก้กฎหมายยาเสพติด เปิดให้วิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ได้-พบลดผลข้างเคียงเคมีบำบัด
ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการที่ อย.เสนอแก้กฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ที่ผู้ครอบครองหรือเสพจะมีโทษตามกฎหมาย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยจะเปิดช่องให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมใช้เพื่อศึกษาวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังศึกษารายละเอียด
ซึ่งความคืบหน้าดังกล่าวนี้ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ในต่างประเทศ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัยระดับพลีคลินิก คือในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง รวมถึงระดับคลินิกคือ ทดลองในคน ซึ่งแม้พบว่าสารสกัดจากกัญชาช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในอวัยวะ เช่น ตับ ปอด เต้านม และสมองในสัตว์ทดลอง แต่ขณะนี้ยังไม่มียาที่สกัดจากกัญชาโดยตรง
นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า ในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ สังเคราะห์สารสกัดจากกัญชามาผลิตเป็นยาลดผลข้างเคียงให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับยาเคมีบำบัด รวมถึงใช้กระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยเอดส์
22 เมษายน 2559
มาแล้ว พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ร่าง รธน. ห้ามก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 โดย มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ กำหนดว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติต้องห้ามรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม เพื่อให้คนอื่นไปโหวตอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้า ป่วน-ซื้อเสียง มีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ห้ามจัดยานพาหนะนําไปโหวต แต่ 'ไม่มี' ผลบังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออํานวยความสะดวก แก่ผู้มีสิทธิออกเสียง