NLA Weekly (23-29 เมษายน 2559): กกต.ประกาศกฎเหล็กประชามติ 6 ทำได้ 8 ทำไม่ได้

NLA Weekly (23-29 เมษายน 2559): กกต.ประกาศกฎเหล็กประชามติ 6 ทำได้ 8 ทำไม่ได้

เมื่อ 2 พ.ค. 2559
22 เมษายน 2559
 
คสช. ใช้มาตรา 44 ตั้ง 4 ผู้ว่าฯ ใหม่
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 20/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง ระบุว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคําสั่ง ที่ 12/2559 ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2559 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดย้ายหรือโอนไปสํานักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 แห่งคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558
 
คำสั่งหัวหัวหน้า คสช. ที่ 20/2559 ที่อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีดังต่อไปนี้
 
ให้ข้าราชการ 4 รายที่ขาดจากตําแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม เพื่อโอนไปสํานักนายกรัฐมนตรีตามข้อ 1 แห่งคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 12/2559 เรื่อง ได้แก่ (1) ยุทธนา วิริยะกิตติ (2) สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ (3) สมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ (4) วีรพงศ์ แก้วสุวรรณ ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 วรรคสาม แห่งคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558
 
นอกจากนี้ ให้ข้าราชการ 4 รายที่รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในตําแหน่งที่ว่างลงเพราะ เหตุตามข้อ 1 ดํารงตําแหน่งดังต่อไปนี้
 
(1) ธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (2) เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลําพูน ดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (3) วิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี (4) นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ พ้นจากตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง และให้ดํารงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
 
ที่มา: มติชน 
 
25 เมษายน 2559
 
สปท. เตรียมเสนอตั้ง มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ 16 พ.ค.นี้
 
พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมคณะ แถลงข่าวถึงความคืบหน้า เกี่ยวกับการบูรณาการสถาบันการพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ทั้ง 17 แห่ง ให้เป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ทั้ง 4 ภาคของประเทศ คือ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ภาคกลาง (จังหวัดสุพรรณบุรี) ภาคใต้ (จังหวัดกระบี่) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดอุดรธานี)  แล้วพบว่า ทุกภาคส่วนเห็นด้วยแนวทางดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ กมธ.จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม สปท. ในที่ 16 พฤษภาคม 2559 เพื่อพิจารณาต่อไป
 
ส่วนรายงานการจัดการพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งที่ประชุม สปท.ได้มีมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวนั้น ทาง กมธ.ได้มีการเสนอปรังปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อขอให้กรมศิลปากรมีอำนาจในการเวนคืนพื้นที่โบราณสถาน เพื่อเข้าไปสร้างความสมบูรณ์ให้กับโบราณสถาน และให้กรมศิลปากรมีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะบูรณะโบราณสถานที่เป็นของเอกชน รวมถึงหากเอกชนไม่มีงบประมาณในการบูรณะโบราณสถานก็สามารถเข้ามาร้องขอให้รัฐเข้าไปช่วยบูรณะโบราณสถานได้
 
 
26 เมษายน 2559
 
หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ให้ ผบ.ตร. ตั้งตำรวจประจำปี 59
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2559 เรื่องการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2547 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1. ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็นผู้สั่งแต่งตั้งข้าราชการตํารวจตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 44/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ ลงวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2558 ตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ จนกว่าการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจในวาระการแต่งตั้งประจําปี พ.ศ.2559 จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้การแต่งตั้งดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนดเป็นการเฉพาะไปพลางก่อน
 
ข้อ 2. คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
27 เมษายน 2559
 
กรธ.เตรียมทำแผ่นพับรัฐธรรมนูญแจก 17 ล้านครัวเรือน
 
ศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า อนุกรรมการพิจารณาจัดทำเนื้อหาในการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมจัดทำแผ่นพับจำนวน 6 หน้ากระดาษเอ 5 ซึ่งจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดส่งให้กับเจ้าบ้าน จำนวน 17 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยในวันที่ 29 เมษายนนี้ ทางกรธ.จะจัดส่งให้ กกต. เพื่อดำเนินการจัดพิมพ์
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรธ.ได้รับการตอบรับจากศิลปินบางส่วนที่จะเข้ามาแต่งเพลงซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทาง กรธ.คาดหวังว่า บทเพลงดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนสนใจร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่ใช่การชี้นำให้ประชาชนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: มติชน 
 
28 เมษายน 2559
 
สนช.ผ่านวาระแรก พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มโทษหนักขึ้น
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์รับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 โดยอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มี 19 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มเติมฐานความผิดและกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้หนักขึ้น อาทิ กรณีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเลคทรอนิคส์แก่ผู้อื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษไม่เกิน 2 แสนบาท หรือกรณีการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตลอดจนข้อมูลลักษณะลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
 
อุตตม กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการตัดต่อภาพผู้อื่น อันทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท รวมถึงเพิ่มเติมโทษแก่ผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์ที่ร่วมมือ ยินยอม หรือ รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของตนเอง นอกจากนี้ กรณีความผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับจำนวน 3 คน ที่รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้น สิ้นสุดลง โดยไม่ต้องนำคดีไปศาล
 
ที่มา: มติชน 
 
สนช.เห็นชอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ป.ง. 6 คน
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542)   โดยที่ประชุม สนช. ได้ลงคะแนนลับให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ป.ป.ง. ทั้ง 6 คน ดังนี้ 1.สุวัฒน์ เทพอารักษ์  2.สังศิต พิริยะรังสรรค์ 3.อุดม รัฐอมฤต 4.ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรี จักรพงษ์ วิวัฒน์วานิช 5.เฉลิมศักดิ์ จันทรทิมละ 6.สุทธิพล ทวีชัยการ
 
 
สปท. จับมือ สนช. หาอาสาสมัครแจงคำถามพ่วง
 
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ วิปสปท. แถลงภายหลังการประชุมว่า วิป สปท.จะแจ้งสมาชิก สปท. เพื่อหาอาสาสมัครเป็นตัวแทนของ สปท.เข้าร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เพื่อร่วมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสาระสำคัญของประเด็นคำถามประชามติเพิ่มเติม ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดไว้ หลังจากได้รายชื่ออาสามัครของสปท.จะต้องส่งรายชื่อไปยังเลขานุการคณะกรรมการประสานงานระหว่างสนช.กับ สปท.หรือ วิป 2 ฝ่าย ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 12.00 น. เพื่อให้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการของ สนช.ต่อไป
 
ที่มา: มติชน 
 
29 เมษายน 2559
 
กกต.ประกาศกฎทำประชามติ 6 ทำได้ 8 ทำไม่ได้
 
ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. แถลงผลประชุม กกต.ว่า กกต.มีมติให้ออกประกาศกกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ จะมีผลเมื่อประกาศดังกล่าวลงราชกิจจานุษาแล้ว คาดว่าจะมีผลไม่เกินสัปดาห์หน้า มีข้อกำหนดสิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ คือ 1.ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วนจากเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลแสดงความคิดเห็นของตน 2.แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ 3.แสดงความเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจน ไม่กำกวมทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
 
4.การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบุคคลนั้น ควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย 5.การสัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน และ 6.การนำเข้าข้อมูลความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลของตนในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม
 
ธนิศร์ กล่าวต่อว่าส่วนที่ทำไม่ได้ 8 ข้อ ได้แก่ 1.การสัมภาษณ์ผ่านสื่อ ด้วยข้อความเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 2.การนำเข้าข้อมูล อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูลในลักษณะดังกล่าว 3.การทำหรือส่งสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย มีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 4.การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ตามกฎหมายเข้าร่วมและมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง
 
5.การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไปเพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง 6.การใช้เอกสารใบปลิวหรือแผ่นพับ ที่มีข้อความเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย หรือปลุกระดมทางการเมือง 7.การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม และ 8.การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างไรอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง
 
ที่มา: มติชน 
 
กกต.ประกาศผู้ใช้สิทธิออกเสียงนอกเขต เริ่มลงทะเบียน 1 พ.ค.นี้
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการออกเสียงประชามติว่า ขณะนี้ กกต. ได้เตรียมความพร้อมงานในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง นับจากได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยเปิดทำการลงคะแนนออกเสียงตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 จะเป็นวันแรกของการเปิดให้มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด
 
สำหรับผู้มีสิทธิที่อยู่นอกเขตออกเสียงที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน คือ เข้ามาอยู่หลังวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ก็สามารถออกเสียงได้โดยต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด ซึ่งช่องทางการยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ 3 ช่องทาง คือ
 
1. ยื่นด้วยตนเอง สำหรับกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานเขต และที่ต่างจังหวัดยื่นคำขอที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 – 7 กรกฎาคม 2559 ในวันและเวลาราชการ ทั้งนี้สามารถยื่นคำขอเป็นกลุ่มได้ โดยการมอบหมายผู้มีสิทธิอื่นยื่นแทน
 
2. ยื่นทางไปรษณีย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 – 30 มิถุนายน 2559 โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ
 
3. ยื่นผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ http://election.dopa.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 – 30 มิถุนายน 2559 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในเวลา 24 นาฬิกาของวันที่ 30 มิถุนายน 2559
 
ดูเพิ่มเติมที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/037/2.PDF