7 พฤษภาคม 2559
อลงกรณ์ ย้ำ ชี้แจงคำถามพ่วงประชามติ ต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย อย่างเคร่งครัด
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีการชี้แจงคำถามพ่วงประชามติว่า สปท.ได้จัดส่งรายชื่อสมาชิกสปท.ที่อาสาสมัครไปร่วมชี้แจงคำถามพ่วงประชามติให้สนช.ตามที่ขอความร่วมมือมาจำนวน 42 คน อย่างไรก็ตามจากการประชุมระหว่าง สนช.และ สปท.ได้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. จะมีการประชุมอาสาสมัคร สนช.และ สปท. เพื่อซักซ้อมการทำงานร่วมกันนอกจากนั้นจะมีประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือผู้แทน จะชี้แจงพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2.สปท.จะเปิดรับอาสาสมัคร สปท.เพิ่มเติม และจะส่งรายชื่อให้ สนช.เพื่อจัดอาสาสมัคร สปท.เพิ่มเติม ใน 9 กลุ่มจังหวัด เนื่องจาก สนช.มีเป้าหมายจะลงพื้นที่ชี้แจงทุกจังหวัดและเข้าถึงระดับอำเภอจึงต้องการอาสาสมัครเพิ่มขึ้น และ 3.อาสาสมัคร สนช.และ สปท.จะเข้าร่วมอบรมวิทยากร (ครูก.) ที่ กรธ.เพื่อเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติการทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ รองประธาน สปท.ยืนยันว่าการทำหน้าที่ชี้แจงคำถามพ่วงประชามติต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของกกต.อย่างเคร่งครัด
8 พฤษภาคม 2559
สปท. เสนอไอเดีย 'พ.ร.บ.รอกำหนดโทษ' ต้องยอมรับผิดก่อนใช้มาตรการ 'ห้ามชุมนุม-ตัดสิทธิการเมือง' แทนรับโทษ
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า สปท.การเมืองเสนอร่างพ.ร.บ.รอกำหนดโทษ โดยวางกรอบการแก้ปัญหาไว้ 2 ระดับคือ 1.การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายรัฐ เช่น คดีความผิดเล็กน้อยหรือมีเจตนาไม่ร้ายแรง อาจมีนโยบายของรัฐไม่ดำเนินคดีต่อ เช่น การใช้มาตรา 44 การถอนฟ้อง และ 2.การแก้ปัญหาโดยตัวกฎหมาย จะใช้วิธีการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.รอการกำหนดโทษ เพื่อความปรองดอง ให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสินคดีหรือฟังคำพิพากษา จะใช้กับคดีที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีแกนนำบุกยึดสถานที่ราชการ การปิดสนามบินหรือสี่แยกต่าง ๆ ที่เป็นอุดมการณ์ต่อสู้ทางการเมือง แต่ทำเลยเถิด เกินเลยทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมตามมา แต่จะไม่รวมถึงคดีทุจริต มาตรา 112 และการวางเพลิงเผาทรัพย์
9 พฤษภาคม 2559
รบ.หนุน กรธ. พีอาร์ ร่างรัฐธรรมนูญ คัดวิทยากรหมู่บ้านลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ปชช
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า "รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในระดับจังหวัดและอำเภอ และให้คัดเลือกวิทยากร (ครู ก) ระดับจังหวัด ๆ ละ 5 คน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น สามารถถ่ายทอดความรู้ จัดฝึกอบรมวิทยากร (ครู ข) ระดับอำเภอ และวิทยากรระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" การคัดเลือกครู ก จะคัดจากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดหรือข้าราชการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยมีองค์ประกอบคือ 1. รองผวจ. หรือปลัดจังหวัด 2. ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่หรือผู้แทน 3. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้แทน 4. ศึกษาธิการจังหวัดหรือผู้แทน 5. หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดหรือข้าราชการที่ ผวจ.เห็นสมควร
โดยจะมีการจัดอบรมวิทยากรระดับจังหวัด (ครู ก) วันที่ 18 - 19 พ.ค.59 อบรมวิทยากรระดับอำเภอ (ครู ข) จำนวน 878 อำเภอ ๆ ละ 10 คน รวม 8,780 คน วันที่ 30 พ.ค. - 10 มิ.ย.59 และอบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน/ชุมชน 80,491 แห่ง ๆ ละ 4 คน รวม 321,964 คน วันที่ 11 - 30 มิ.ย.59 จากนั้นวิทยากรทุกระดับจะร่วมกันลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนอย่างใกล้ชิด วันที่ 1 - 20 ก.ค.59
กรธ.ส่งอาสาสมัคร เคาะประตูบ้านนั่งคุยแจงร่างรธน. ก.ค.นี้
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังรอกระทรวงมหาดไทย 2 อย่างคือ 1. รายชื่อของ ครู ก. ระดับจังหวัด ๆ ละ 5 คน ซึ่งจะเข้าอบรมระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤษภาคม 2559 2. ตารางการอบรมของวิทยากรระดับอำเภอ สภาองค์กรชุมชน หรือ ครู ข. ของอำเภอต่างๆใน 76 จังหวัด และเมื่อในส่วนของครู ข. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีตารางการอบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน หรือ ครู ค. สำหรับการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าการเคาะประตูบ้านในเดือนกรกฎาคมจะเป็นการสร้างความรับรู้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ กรธ.เผยแพร่โดยสื่อมวลชนและอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความรับรู้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี
มหาดไทยสั่งการทุกจังหวัดเตรียมหนุนประชามติ
กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติในการออกเสียงประชามติที่ให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัดถือปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการออกเสียงประชามติ โดยให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง รวมทั้งขอความร่วมมือกลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มเครือข่ายต่างๆ ในสังกัดทุกประเภท ทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุนในการดำเนินการออกเสียงประชามติให้เกิดความถูกต้อง โปร่งใส และดำเนินการอื่นที่จำเป็นเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ทุกระดับ วางตัวเป็นกลางในการออกเสียงประชามติอย่างเคร่งครัด
10 พฤษภาคม 2559
iLaw นำ 107 รายชื่อร้องผู้ตรวจการฯ ส่งศาลรธน.วินิจฉัย 'พ.ร.บ.ประชามติ' ขัดรัฐธรรมนูญ
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พร้อมด้วย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีต ส.ส.และ ส.ว. และ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำหนังสือยื่นถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการฯ เพื่อเร่งพิจารณาโดยด่วนและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรค 2 และวรรค 4 ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้
ครม.สั่งปิดเหมืองทอง พิจิตร ให้ก.แรงงานดูแล คนงานกว่า 1,000 คน
คณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งปิดเหมืองชาตรี อัครา หลังสิ้นปี 2559 ส่วนพนักงานและผู้รับเหมา รวม กว่า 1,000 กว่าคน ให้ กระทรวงแรงงานดูแล ตามข้อเสนอของรัฐมนตรี 4 กระทรวงเสนอ ในระหว่างนี้ ให้ บริษัท ขนแร่ ได้ถึงสิ้นปี โดย รัฐมนตรี 4 กระทรวง เห็นร่วมกันว่า เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง การต่อต้านของประชาชน ในพื้นที่ ไม่หวั่นเหมืองฟ้องร้อง
รองประธาน สนช. เชื่อ กฎหมายชะลอการลงโทษ เป็นไปได้ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับ แต่ยากถ้าฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วย
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอร่างกฎหมายชะลอการลงโทษ เพื่อการปรองดอง ตามข้อเสนอของเสรี สุวรรณภานนท์ ว่า หากทุกฝ่ายและประชาชนยอมรับ ก็ถือเป็นเรื่องดีในการสร้างความปรองดอง เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายและทุกคนในบ้านเมืองอยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าในอดีตเคยดำเนินการมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ แต่เชื่อว่าหากมีการเปิดใจ เพื่อนำพาประเทศเดินหน้าร่วมกัน ก็จะเห็นว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาขัดแย้งต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม พบว่า มีเพียงฝ่ายการเมืองเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้การออกกฎหมายดังกล่าวเป็นไปได้ยาก แต่ส่วนตัวเชื่อว่า หลักการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่วิธีการอาจยังไม่เหมาะสม และขณะเดียวกันเห็นว่า ผู้ที่เห็นต่างก็ขอให้เสนอแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้มาด้วย
12 พฤษภาคม 2559
มติ สนช.เห็นชอบเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้ใช้เป็นกฎหมายได้ ด้วยเสียง 170 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 175 คน สำหรับร่าง พ.ร.บ. สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ สามารถจัดการศึกษาหรือดำเนินการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันอื่นได้ รวมทั้งให้ปริญญาในการจัดการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มุ่งเน้นการศึกษาเฉพาะวิชาชีพด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ และทัศนศิลป์ ทั้งไทยและสากล ดังนั้น การกำหนดหลักสูตรจึงต้องสอดคล้องกับการศึกษาวิชาชีพเฉพาะด้าน และให้สถาบันมีอำนาจเปิดสอนและให้ความเห็นชอบหลักสูตรได้เอง โดยคำนึงถึงมาตรฐานการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
สนช.มีมติ 164 เสียง รับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร ไว้พิจารณา
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 164 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง สำหรับเหตุผลที่ต้องตรา พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีรายจ่ายสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานครไม่เพียงพอกับการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้กรุงเทพมหานครจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายงบดังกล่าวได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร จึงสมควรกำหนดให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มเติมให้เพียงพอกับการใช้จ่ายสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานครได้
13 พฤษภาคม 2559
มีชัยบอกร่างรธน.วันนี้แก้อะไรไม่ได้แล้ว แนะวันหน้าบกพร่องอะไรไปแก้ไขกันเอง
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เตรียมความพร้อมเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสนช.” โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บรรยายสรุปภาพรวมและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ… ช่วงหนึ่งของการบรรยายมีชัยกล่าวว่า “ผมเข้าใจว่ากลไกที่เราสร้างไว้มีหลายเรื่องที่ สนช.และ สปท.ไม่ค่อยเห็นด้วย ก็ยอมรับว่าต่างคนต่างมีแนวคิด แต่ขอได้โปรดเข้าใจว่า กรธ.ฟังมาตลอด และนำไปคิดว่าอะไรที่ดีที่สุด จึงขอให้เข้าใจว่าคน 21 คน คิดได้แบบนี้อาจจะต่างจากคน 200 คนคิด แต่ว่าวันนี้แก้อะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไป เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามันบกพร่องอะไรวันข้างหน้าก็คงไปแก้ไขกันเอง”
สนช.ให้ความเห็นชอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยบทบัญญัติเครื่องมือแพทย์ด้วย คะแนน 179 เสียง
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยบทบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ASEAN Agreement on Medical Device Directive) (ตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ทั้งนี้ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า การทำข้อตกลงดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกต่อการค้าเสรี ปรับมาตรฐานการตรวจสอบรับรองที่แตกต่างแต่ละประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกัน และเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาคให้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะนำความตกลงดังกล่าวเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายและออกมาตรรองรับต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยได้ปรับตัวและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน