สำหรับประเทศไทย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเป็น “ความหวัง” หรือ “หายนะ”?
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน บอกกับเราว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นความหวังให้กับประเทศนี้ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจุบันแหล่งผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศมาจากก๊าซธรรมชาติถึงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หากต้นกำเนิดพลังงานในส่วนนี้ขาดแคลน เพื่อเพิ่มความมั่นคง การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงจำเป็น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่ำและคงที่ สามารถเดินเครื่องตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าพื้นฐาน ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อีกด้านหนึ่งจำนวนผู้คนที่ต้องอพยพหลายแสนคน เสียชีวิตอีกหลายหมื่นคน และผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่เตือนใจผู้คนว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลกมันคือหายนะ จากการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย แต่ละพื้นที่ต่างมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีชีวิตผู้คนจำนวนมากอยู่ในนั้น ดังนั้นถ้าเดาอนาคตได้ เราแทบจะไม่ต้องถกเถียงกันว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือไม่
กว่าห้าทศวรรษของแนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และก็ไม่ต่ำกว่าห้าทศวรรษของการต่อต้านคัดค้านโครงการเหล่านี้ รัฐบาลไทยทั้งเดินหน้าทั้งหยุดโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สลับไปมา หนึ่งก็ด้วยการต่อต้านในพื้นที่ต่างๆ อีกหนึ่งก็คือการเปลี่ยนทางเลือกใช้พลังงานในระดับโลก ตอนนี้ยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แผนการจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ถูกอนุมัติอีกครั้ง
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2509 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อศึกษาความเหมาะสม สถานที่ตั้ง และรูปของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บริเวณอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หลังการสำรวจและเตรียมการต่างๆ ในปี 2515 มีคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 166 ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนกระทั่งในปี 2521 รัฐบาลอนุมัติให้เปิดประมูล แต่สุดท้ายต้องเลื่อนโครงการออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากเกิดการคัดค้านจากประชาชน
แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550-2564 (PDP2007) ซึ่งกำหนดให้มีสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในปี 2563 และ 2564 จำนวนโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงาน ให้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) และเห็นชอบแผนการดำเนินงานและวงเงินงบประมาณในช่วงเตรียมเริ่มโครงการ 3 ปีแรกระหว่างปี 2551-2553
คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการประสาน
เพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์
คณะอนุกรรมการ | ขอบเขตการดำเนินงาน |
ด้านระบบกฎหมาย ระบบกำกับ และข้อผูกพันระหว่างประเทศ | ศึกษาและปรับปรุงกฎหมายด้านความปลอดภัยระดับสากลและพันธกรณีต่างๆ เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย ฯลฯ |
ด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ การถ่ายทอด พัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ | สำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมและมาตรฐานเพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์, อบรมบุคลากรจากต่างประเทศ ฯลฯ |
ด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม | ปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ |
ด้านการสื่อสารแบะการยอมรับของสาธารณะ | สำรวจทัศนคติของประชาชน, เผยแพร่ความรู้, จัดกิจกรรมพิเศษพัฒนาชุมชน ฯลฯ |
วางแผนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ | ศึกษาเทคนิค และความปลอดภัย, สำรวจและเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า, ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ |
ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP2010) โดยกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกตามแผนนี้จะสร้างเสร็จในปี 2563 อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะระเบิดทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องถูกเลื่อนออกไป
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามการศึกษาของบริษัทเบิร์นแอนด์โรส์ ถูกกำหนดไว้ 6 จังหวัด รวม 14 จุด ต่อมาราวเดือนกรกฎาคม 2553 กฟผ.ได้รายงานการศึกษาสถานที่ตั้งซึ่ง ใช้องค์ประกอบพิจารณา 3 ด้าน คือ ด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป้าหมายหลักมี 2 จุดคือ ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี และ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์