NLA weekly 20 – 27 พฤษภาคม 2559 ผู้ตรวจการฯ เตรียมทำความเห็น พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้าน กกต. มั่นใจไม่ขัด

NLA weekly 20 – 27 พฤษภาคม 2559 ผู้ตรวจการฯ เตรียมทำความเห็น พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้าน กกต. มั่นใจไม่ขัด

เมื่อ 29 พ.ค. 2559
 
20 พฤษภาคม 2559 
 
กกต. เผยแพร่อินโฟกราฟิก Do & Don't ในการแสดงออกเกี่ยวกับประชามติ
 
เฟซบุ๊กเพจสำนักประชาสัมพันธ์ กกต. เผยแพร่อินโฟกราฟิก Do & Don't อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญ โดยข้อมูลดังกล่าวนี้ อ้างอิงมากจากหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติซึ่งในประกาศกกต. 
 
 
 
 
23 พฤษภาคม 2559 
 
โฆษก กรธ. มั่นใจ อบรม 'ครู ก.' ทำให้เข้าใจสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น
 
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภาพรวมของการจัดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญต่อวิทยากรระดับจังหวัด (ครู ก.) โดยมาจากผู้ดำรงตำแหน่งทางปกครองใน 5 ตำแหน่ง ได้แก่ 
 
1.ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เลือกจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ปลัดจังหวัด 
2.ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ หรือผู้แทน 
3.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้แทน 
4.ศึกษาธิการจังหวัดหรือผู้แทน 
5.หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หรือข้าราชการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร 
 
โดยทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพมหานคร ส่งผู้ผ่านคัดเลือกจังหวัดละ 5 คน เข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 380 คน อีกทั้งกระบวนการเข้าร่วมดังกล่าว ถูกกำชับเป็นคำสั่งทางราชการให้ผู้มีรายชื่อเข้าร่วม ห้ามลาหรือขาด หากผู้ใดที่ไม่สามารถร่วมกระบวนการได้ ให้ทำรายงานชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นความผิดทางราชการ นอกจากนี้ ผู้ที่ร่วมกระบวนการยังมาจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) (พอช.) 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน อีกด้วย
 
และในการอบรมดังกล่าว กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้นำสาระสำคัญของแต่ละหมวดในร่างรัฐธรรมนูญมาชี้แจงต่อ ครู ก. พร้อมแบ่งกลุ่มออกเป็น 9 กลุ่ม และเน้นอธิบายในเรื่องสำคัญ อาทิ สิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายแห่งรัฐ การศึกษา สาธารณสุข การเลือกตั้ง โดยแต่ละกลุ่มจะมี กรธ. 2-3 คนเป็นที่ปรึกษา ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสให้ครู ก. ซักถามข้อสงสัยอย่างเต็มที่ ภายหลังสิ้นสุดการอบรมพบว่า ผลเป็นที่น่าพอใจ ครู ก. มีความเข้าใจในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น
 
 
 
24 พฤษภาคม 2559 
 
ครม.เห็นชอบร่างก.ม.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย 
 
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ เพื่อความสอดคล้องกับอนุสัญญา 2 ฉบับ 
 
โดย iร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีใจความสำคัญคือ กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกระทำความผิดในการทรมานผู้ถูกจับกุม หรือการอุ้มให้สูญหาย ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่หากได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่รัฐ จึงถือว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า กฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม สถานการณ์ความไม่มั่นคง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างเพื่อกระทำความผิดได้ และหากพบว่ามีการกระทำความผิดอายุความจะอยู่ที่ 20 ปี นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีรมว.ยุติธรรมเป็นประธาน ทั้งยังกำหนดมิให้หน่วยงานของรัฐ ส่งตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดออกไปนอกราชอาณาจักร หากเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการทรมาน หรือถูกบังคับให้สูญหาย 
 
 
ผู้ตรวจฯ นัด 1 มิ.ย.จ่อสรุปปม ก.ม.ประชามติ ขัด รธน.หรือไม่
 
รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมมีการพิจารณากรณีที่ จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนและคณะ ยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 61 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่ามีบางเรื่องต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ร้องจึงมีหนังสือไปถึง จอน อึ๊งภากรณ์ สํานักเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งผู้ตรวจได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ร้องและสํานักเลขาธิการวุฒิสภา โดยจากข้อมูลที่ได้เห็นว่ามีข้อพิจารณาสำหรับผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ก็ยังต้องรอข้อมูลจาก กกต.ในฐานะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประชามติเสียก่อน เพราะ กกต.ยังไม่ได้ส่งข้อมูลมา จึงต้องฟังความเห็นของ กกต.เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย ว่าการชี้แจงของ กกต.จะแตกต่าง หรือสนับสนุนกับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้นในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจะมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนในกรณีดังกล่าวว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปหรือไม่ โดยจะไม่มีการเลื่อนบทสรุปไม่ว่าจะได้รับคำชี้แจงจาก กกต.หรือไม่ก็ตาม
 
"ที่ประชุมผู้ตรวจฯ ในวันนี้ได้มีการนำกฎหมายประชามติทั้งปี 50  ปี 52 มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งกฎหมายเดิมจะไม่มีเนื้อหาเช่นมาตรา 61 วรรคสอง และวรรคสี่ของพ.ร.บ.ประชามติปี 59 รวมทั้งดูคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ตามพจนานุกรมนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เนื่องจากกฎหมายเดิมก็ไม่เคยมีถ้อยคำเหล่านี้ โดยข้อมูลที่มีอยู่สามารถทำให้ผู้ตรวจฯ มีความเห็นที่ตกผลึกไปในแนวทางเดียวกันแล้วว่าจะมีคำวินิจฉัยไปในทางใด แต่เมื่อได้ขอข้อมูลไปยัง กกต.แล้วก็เห็นว่าจำเป็นต้องรอเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบ" นายรักษเกชา กล่าว.
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
 
26 พฤษภาคม 2559 
 
ข้อเสนอกระทรวงไอซีที ให้แก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ เพื่อให้มีวิธีระงับข้อมูลที่เข้ารหัส
 
เคลือข่ายพลเมืองเน็ต พบเอกสาร ข้อเสนอจากกระทรวงไอซีที ให้แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อให้มีวิธีระงับข้อมูลที่เข้ารหัส โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า รัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลาและแนวทางการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันภายใต้พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เข้ารหัสด้วยเทคโนโลยี SSL (Secure Socket Layer) ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการสื่อสารหรือส่งข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีการเข้ารหัสแบบ Public-key encryption นั้น จำเป็นต้องมีวิธีการและเครื่องมือพิเศษในการดำเนินการจึงจะสามารถกระทำได้สำเร็จ …”
 
โดยข้อเสนอดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า มีเพื่อลดปัญหาการตรวจสอบและปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัสป้องกันข้อมูล นอกจากนี้ เมื่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ออกมา ในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังกำหนดไว้อีกว่า ถ้าผู้ให้บริการไม่ให้ความร่วมมือ เช่น ไม่ให้การช่วยเหลือระงับข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส ก็จะมีภาระทางกฎหมายที่กดดันให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย
 
 
 
27 พฤษภาคม 2559 
 
กรธ. ย้ำวางหลักประกันเรียนฟรีอย่างน้อย 14 ปี พร้อมแจงกำหนดการอบรม ครู ข วิทยากรระดับอำเภอประชาสัมพันธ์ร่าง รธน.
 
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ พร้อมด้วย นรชิต สิงหเสนี  โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ย้ำถึงสิทธิเรียนฟรีในร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า กรธ. ได้วางหลักประกันการศึกษา เรียนฟรีอย่างน้อย  14 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนถึงระดับการศึกษาภาคบังคับ   ส่วนรัฐจะสนับสนุนชั้นการศึกษาอื่น ๆ ก็ย่อมทำได้ด้วย รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม พร้อมกันนี้ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการอบรมวิทยากรระดับอำเภอ หรือ ครู ข. เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติ ว่า การอบรม ครู ข. จะมีขึ้นไปจนถึง 7 มิถุนายน นี้  โดยการอบรมจะเป็นไปตามรูปแบบที่ กรธ. กำหนด  มีการเปิดวิดีทัศน์อธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และปิดท้ายด้วยคำถามพ่วงประชามติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  โดยทั้ง กรธ. และ สนช. จะร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์ในแต่ละพื้นที่ด้วย  นอกจากนี้ในวันที่ 3 มิ.ย. นี้ กรธ. จะเชิญผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการเขต 50 เขต ร่วมรับฟังคำชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร   จากนั้น วันที่ 22-23 มิถุนายน กรธ.จะชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้แทนกรรมการชุมชนของ กทม. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ด้วย
 
 
 
 
28 พฤษภาคม 2559 
 
กกต. กำหนดหนังสือแจ้งเจ้าบ้านรูปแบบใหม่ “ตัดชื่อติดตัวไป ออกเสียงเสร็จไว ดั่งใจคิด”
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 กำหนดให้มีการส่งหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังเจ้าบ้าน เพื่อเชิญชวนให้ออกไป ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 สำนักงาน กกต. จึงกำหนดรูปแบบหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงแตกต่างไปจากรูปแบบเดิม โดยรูปแบบใหม่จะเป็นการพิมพ์รายชื่อพร้อมลำดับที่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในช่องสี่เหลี่ยม ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถตัดกระดาษรายชื่อเฉพาะส่วนของตน ไปแสดงพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนกับกรรมการประจำหน่วย ในวันออกเสียงประชามติได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้การแสดงตนของผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนในการตรวจบัญชีรายชื่อที่ป้ายประกาศหน้าหน่วยออกเสียง และขอเชิญชวนผู้มีสิทธิออกเสียงทุกคน พร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิออกเสียง ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 อย่างพร้อมเพรียง