NLA weekly 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2559 ผู้ตรวจฯ มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติ ขัด รธน. หรือไม่

NLA weekly 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2559 ผู้ตรวจฯ มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติ ขัด รธน. หรือไม่

เมื่อ 5 มิ.ย. 2559
28 พฤษภาคม 2559
 
สนช. ลงพื้นที่ฉะเชิงเทรา รับฟังปัญหา ปชช. พร้อมชี้แจงคำถามพ่วงประชามติ
 
กล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการมีคำถามพ่วงประชามติ ต่อประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ สนช.พบประชาชน ว่า สนช.มีมติเห็นชอบให้ตั้งคำถามพ่วงว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาล ว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
 
กล้านรงค์ กล่าวว่า คำถามพ่วงประชามติมีคำหลักอยู่ 3 คำ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นไปตามวาระรัฐบาลแต่ละชุด 2.ระยะเวลา 5 ปี เพราะอายุของวุฒิสภา กำหนดไว้ 5 ปี จึงเอามาเป็นตัวหลัก และ 3.รัฐสภาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 270 เขียนอำนาจหน้าที่ ส.ว.มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา นั่นคือหน้าที่ในการติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานความคืบหน้างานปฏิรูปทุก 3 เดือน ดังนั้น บุคคลที่เป็นนายกฯจึงมีความสำคัญในการทำยุทธศาสตร์ชาติให้เดินหน้า
 
 
30 พฤษภาคม 2559
 
ประธานกรธ. ย้ำ ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกของรัฐ ไม่ใช่การชี้นำ 
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ระบุว่า การอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถจัดการประชุม ได้หรือไม่เป็นหน้าที่ ของ คสช.  ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กรธ . ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มผู้เห็นต่าง และพรรคการเมืองก็แสดงความเห็นมาโดยตลอด กรธ.ก็ไม่เคยโต้แย้งแต่อย่างใด นอกจากกรณีการบิดเบือนข้อมูล ที่ กรธ. จำเป็นต้องอธิบายให้ถูกต้อง ทั้งนี้ กรธ. มีเพียง 21 คน ต้องทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกลไกของรัฐ ให้ข้อมูล อีกทั้งยังได้ย้ำกับ ครู ก ว่าต้องไม่โน้มน้าวให้ประชาชน รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และต้องชี้แจงตามข้อเท็จจริง  และเป็นกลาง จึงไม่กังวลแต่ออย่างใด นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลในระหว่างที่ลงพื้นที่ในจังหวัดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเชื่อว่า ประชาชนต้องการรู้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า
 
 
กกต. แนะ ผู้ตรวจการฯ ถามความเห็น สนช. ประเด็น พ.ร.บ.ประชามติ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยถึงการประชุมกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือสอบถามความเห็นของ กกต. ประเด็นมาตรา 61 วรรคสอง และ วรรคสี่ พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรา 61 ทั้งสองวรรคดังกล่าว ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมอบให้สำนักกฎหมายและคดีของสำนักงาน กกต.ไปดำเนินการยกร่างหนังสือตอบกลับไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่างไรก็ตามกรณีนี้ ควรจะมีการสอบถามความเห็นไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผู้ออกกฎหมายด้วย เพราะ กกต. เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น
 
 
31 พฤษภาคม 2559
 
กกต.เตรียมส่งอาสาลงทุกหมู่บ้านตำบลชวนลงประชามติ หวังมาไม่น้อยกว่า 80%
 
ประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม เป็นประธานเปิดอบรมวิทยากรครู ก เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ รุ่นที่ 2 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมา กกต.ทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น การทำประชามติครั้งนี้ เป้าหมายคือทำอย่างไรที่จะผลักดันให้การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเกิดขึ้น ที่สำคัญตระหนักถึงการออกไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างมีคุณภาพของประชาชน กกต.ตั้งความหวังไว้ว่าจะมีผู้มาออกเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากสถิติในการทำประชามติปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 57 ขณะที่ สถิติการออกเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปสูงถึงร้อยละ 60 – 70 ทั้งนี้ ประวิช ให้สัมภาษณ์ ถึงความตื่นตัวของประชาชนในการออกเสียงประชามติ  ที่ยังค่อนข้างน้อย หากเทียบกับยอดการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดว่า ยอดการลงทะเบียนสะท้อนกลับมาที่ กกต.ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พลังทุ่มเทให้มากกว่านี้เพื่อให้มีผู้ลงทะเบียนมากขึ้น ขณะนี้ เหลือเวลาอีก 37 วันที่เปิดให้ลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัด
 
ที่มา: ประชาไท
 
1 มิถุนายน 2559
 
ผู้ตรวจฯ ลงมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติ ขัด รธน. หรือไม่
 
รักษเกชา  แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 61วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากเนื้อหาในวรรคสองมีการบัญญัติคำว่า "รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย" นั้น มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน  ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น  และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยดุลพินิจของตัวเอง จนทำให้กระทบสิทธิของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย  จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ส่วนข้อความในมาตรา 61วรรคสาม และวรรคสี่ นั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ทั้งนี้คาดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสัปดาห์นี้
 
ที่มา: ประชาไท
 
เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ยกเลิกการห้ามบุคคลเดินทางออกนอกประเทศแล้ว
 
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง ซึ่งหลังการประชุมแล้วเสร็จ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติ ที่จะยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามบุคคลเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ซึ่งหากบุคคลใดมีคดีความในชั้นศาล ก็จะให้ไปยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณา ซึ่งคำสั่งยกเลิกนี้ จะมีประกาศในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้ถือเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์ทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้จะยังไม่ผ่อนคลายเรื่องอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะที่ประชุมหารือแล้ว ยังไม่เหมาะสม และขอเวลาสักระยะหนึ่ง
 
ที่มา: ประชาไท
 
2 มิถุนายน 2559
 
ประยุทธ์บอกพร้อมเลื่อนประชามติ 7 ส.ค.
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่า ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ผลออกมาว่าอย่างไรก็ตามนั้น ถ้ามันขัดแย้งต้องเลื่อนการลงประชามติออกไปก็ต้องเลื่อน ไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าเลื่อนอย่ามาบอกว่าตนเป็นคนสั่งเลื่อนแล้วกัน ต่อคำถามที่ว่าต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาไปฟ้องแล้วว่าอย่างไร ต้องถามศาลที่จะเป็นผู้พิจารณาซึ่งไม่รู้ว่าจะพิจารณาเมื่อไร ถึงตอนนั้นถึงเวลาค่อยว่ากันจะเอาอย่างไร ทำไมต้องมาถามดักหน้าดักหลังอย่างนี้ มันก็จะไม่ผ่านกันพอดีทุกเรื่อง ถ้าเขาไปฟ้องแล้วศาลตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องเลื่อนการทำประชามติออกไป ไม่ใช่ตนเป็นคนสั่งเลื่อน นี่คือข้อแรก และข้อ 2 ศาลจะพิจารณาเมื่อไร ทันก่อนวันที่ 7 สิงหาคม หรือไม่ ถ้าทันแล้วผิดก็ต้องหยุด ถ้าไม่ผิดก็ทำต่อ มันก็มีคำตอบแค่นี้ แต่อยู่ดีๆ จะให้ตนไปสั่งเลื่อน โดยที่ยังไม่เกิดอะไรสักอย่าง แค่มีคนไปฟ้องมันไม่ได้ แบบนั้นตนไม่ทำ
 
ที่มา: ประชาไท
 
ปธ.สนช.ชี้หากเลื่อนประชามติ ประยุทธ์ ใช้ ม.44 ดำเนินการได้
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ว่า การพิจารณาพ.ร.บ.ประชามติของ สนช. ได้ดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อให้การออกเสียงประชามติมีความเป็นธรรม และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  หากศาลรัฐธรรมนูญรับที่จะวินิจฉัยก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สนช. กกต. และ คสช. ต้องติดตามดูผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งหากผลวินิจฉัยไม่กระทบกับการออกเสียงประชามติ ก็เดินหน้าทุกอย่างตามโรดแมป  แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดต่อรัฐธรรมนูญ กกต. ก็ควรใช้เหตุความวุ่นวายในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นบทเรียนและควรเตรียมช่องทางแก้ปัญหา  ซึ่งหากต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติก็เป็นหน้าที่ของ กกต. พิจารณาหรือนายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็สามารถดำเนินการได้เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย  อย่างไรก็ตาม สนช. จะรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  โดยจะยังไม่แก้ไขกฎหมายประชามติล่วงหน้าเพื่อแก้ปัญหา เพราะมาตราดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อสถานการณ์บ้านเมือง
 
ที่มา: ประชาไท
 
กกต. มั่นใจ ศาลฯ ตีความ ม.61 ไม่กระทบลงประชามติ 7 ส.ค.
 
ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตือนให้ กกต.หาช่องทางรองรับ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ว่า กกต.ไม่ต้องเตรียมวิธีการรองรับเนื่องจากสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นเพียงวรรคเดียวใน พ.ร.บ.ประชามติ จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ และไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะมีแน่นอน หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นระหว่างวันออกเสียงประชามติก็ต้องเป็นหน้าที่ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะต้องดูแล
 
 
สนช.มีมติ 158 เสียง รับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ไว้พิจารณา
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเห็นชอบ 158 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ใช้บังคับมานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับนโยบายทางอาญาของประเทศ ประกอบกับมีกฎหมายและกฎเกณฑ์ในระดับสากลที่เกี่ยวข้องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังประเภทต่างๆ และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ได้มีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่งผลให้การดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมทั้งยังไม่สามารถจัดการหรือบริหารโทษของผู้ต้องขังเฉพาะรายหรือเฉพาะคดีได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจในการดำเนินการและไม่สามารถดำเนินการให้มีสถานที่ควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องขังประเภทอื่นนอกจากการคุมขังไว้ในเรือนจำ ซึ่งทำให้ระบบการพัฒนาพฤตินิสัยและการบริหารงานเรือนจำไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการราชทัณฑ์ เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารงานราชทัณฑ์และปรับปรุงกฎหมายให้สามารถแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง อีกทั้งเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอื่นในการบริหารจัดการกระบวนการของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
 
สนช.มีมติ 161 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ. คุมประพฤติฯ ไว้พิจารณา
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ. คุมประพฤติ พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 161 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา ปี 2522 และ ปี 2550 ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
 
นอกจากนี้พลเอกไพบูลย์ พร้อมคณะ ได้กล่าวชี้แจงว่า ในปีงบประมาณ 2558 ได้มีการเช่าเครื่องอีเอ็มมาใช้ในงานคุมประพฤติแล้ว จำนวน 3,000 ชุด แต่ในปีงบประมาณ 2559 สำนักงบประมาณได้ตัดงบฯ ส่วนนี้ออกไป เนื่องจากตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก หรือ KPI ไม่ตรงตามเป้าหมาย ทำให้ในปีนี้ไม่มีเครื่องอีเอ็มใช้ อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2560 ได้มีการของบประมาณเบื้องต้นจำนวน 109 ล้านบาทแล้ว โดยเปลี่ยนจากการเช่ามาเป็นการซื้อเพื่อใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีความต้องการใช้เครื่องอีเอ็มถึง 10,000 เครื่อง ขณะที่การใช้เครื่องอีเอ็มได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการใช้ไว้อย่างชัดเจนแล้ว อาทิ กำหนดขอบเขตพื้นที่ และกำหนดระยะทาง ซึ่งช่วยลดความกังวลในคดีเกี่ยวพันกับบุคคลผู้เสียหายได้
 
 
3 มิถุนายน 2559
 
มีชัยบอกก็มีแต่เพียงนิวเคลียร์ลงเท่านั้นที่จะเลื่อนประชามติไปจากเราได้
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีหากวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนจากเดิมว่า คงไม่ เพราะถ้าจะเลื่อนวันลงประชามติก็ต้องมีเหตุจำเป็นและมีอุปสรรค ไม่ใช่เป็นเพราะความต้องการที่จะอยากเลื่อนเท่านั้น ขณะที่ผลของการเลื่อนประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะกระทบโรดแมปของรัฐบาลหรือไม่ก็ต้องดูว่า หากเลื่อนแล้วจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลวินิจฉัยเนื้อหา มาตรา 61 วรรค 2ของ พ.ร.บ.ประชามติ ยังไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เลื่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจากที่กำหนดไว้เดิมไว้ได้ หากถามว่าอะไรที่เป็นเหตุจำเป็นต้องเลื่อนวันประชามติได้นั้น ตนคิดว่าอาจจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดจากนิวเคลียร์ หรือเกิดสงครามโลก
 
ที่มา: ประชาไท
 
เปิดคอร์ส ขรก.แรงงาน เรียนรู้ร่าง รธน.-ประชามติ หวังเจาะภาคแรงงาน
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดโครงการมีส่วนร่วมรับรู้ + รับผิดชอบ : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการปฏิรูปประเทศว่า เพื่อเป็นการสร้างเสริมความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงเข้าใจเพื่อนำไปเผยแพร่สู่ชุมชนภาคแรงงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้าร่วมรับฟังการบรรยายจาก อมร วาณิชวิวัฒน์ และสมชัย ศรีสุทธิยากร กว่า 500 คน 
 
ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การประกาศใช้พ.ร.บ.ประชามติ ถือเป็นช่วงสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตย เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่จะใช้เป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไปสู่เป้าหมายของการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่มีความมุ่งหวังให้ประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งบุคลากรในสังกัดกระทรวงแรงงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างและรับรู้เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการตามเส้นทางการออกเสียงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญตามเป้าหมายที่วางไว้
 
ที่มา: ประชาไท
 
สนช.เห็นชอบ พ.ร.บ.ตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 122 คะแนน เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) เพื่อตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยในบันทึกหลักการและเหตุผลระบุว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีขอบเขตอำนาจหน้าที่จำกัดเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร ซึ่งไม่ครอบคลุมเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงต้องตรา พ.ร.บ.นี้ขึ้น เพื่อปรับโครงสร้างกระทรวงไอซีที ให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่มากขึ้น ครอบคลุมถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
 
ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา การสถิติ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีส่วนราชการ ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
 
ทีมา: ประชาไท