9 มิถุนายน 2559
ประธาน สปท. เผย รัฐบาลเห็นด้วยตั้งศาลอาญาคดีทุจริต รอ สนช. เห็นชอบ 10 มิ.ย. นี้
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงความสำเร็จของการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ ว่าหลังจากที่ สปท. เสนอรัฐบาลพิจารณาจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ขึ้นเป็นศาลชำนาญพิเศษมีฐานะเป็นกรมนั้น ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันพรุ่งนี้ (10 มิถุนายน 59) ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และเริ่มรับดำเนินคดีได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 59 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปตามความต้องการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
‘พรเพชร’ มอบหมาย สนง.เลขาฯ วุฒิสภา ส่งเอกสารเกี่ยวกับการพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ ให้ศาล รธน.แล้ว ยืนยัน เดินหน้าประชามติ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หรือไม่ว่า มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาส่งข้อมูลเอกสารตามที่ศาลกำหนดมา ซึ่งเกี่ยวกับหลักการ เหตุผล เจตนารมณ์ และกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รวมถึงข้ออภิปรายในชั้นกรรมาธิการถึงความเป็นมาของมาตราดังกล่าว ส่วนจะต้องไปชี้แจงด้วยวาจาหรือไม่นั้น ขึ้นกับศาลจะกำหนด พร้อมกันนี้ ยืนยัน กระบวนการประชามติยังคงเดินหน้าต่อไปแน่นอน ไม่มีอะไรต้องหยุด
สนช. มีมติประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 179 เสียง
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นสมควรให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่มช่องทางชำระค่าปรับ) เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการที่เสนอต่อที่ประชุม สนช. อาทิ การเพิ่มช่องทางชำระค่าปรับโดยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ควรเปิดโอกาสให้ธนาคารหรือหน่วยบริการรับชำระเงินอื่นๆ เข้าร่วมโครงการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเร่งรัดการออกกฎหมายอนุบัญญัติให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา การกำหนดอัตราค่าปรับ ควรมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดอัตราค่าปรับให้เป็นอัตราเดียวกันในกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกันและใช้อัตราค่าปรับเดียวกันในทุกช่องทางการชำระค่าปรับ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรนำมาตรการบันทึกคะแนน การพักใช้และการยึดใบอนุญาตขับขี่มาใช้บังคับอย่างเคร่งครัด
10 มิถุนายน 2559
'กกต. สมชัย' บอก 'ม.61 วรรค 2' ตกเป็นจำเลยของสังคม ยันเป็นของดีกันเหตุวุ่นวาย
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน สำนักข่าวไทย รายงาน การสัมมนาวิชาการเนื่องในวันสถาปนาสำนักงาน กกต. ครบรอบ 18 ปี เรื่อง “เหลียวประชามติสากล แลประชามติไทย” โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า เวลาพูดถึงการทำประชามติ มีองค์ประกอบสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.เนื้อหา การให้คนทั้งประเทศมาออกเสียงประชามติ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การกำหนดเนื้อหาต้องเป็นประเด็นที่สำคัญและใหญ่จริงๆในการให้ประชาชนตัดสินใจ 2.เวลา การให้คนได้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศต้องมีเวลาอย่างเพียงพอในการคิดไตร่ตรองเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งครั้งนี้มีกรอบเวลาค่อนข้างจำกัดเพียง 120 วัน
สมชัย กล่าวว่า 3.กระบวนการ ต้องโปร่งใสให้ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าเป็นธรรม เป็นกติกาที่ทุกคนจะได้รับความเท่าเทียมกัน ถ้าจำกันได้ร่างกฎหมายประชามติร่างแรกที่ กกต.เสนอให้ สนช.บัญญัติคำว่าเปิดโอกาสให้คนทั้งสองฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน มีงบให้ฝ่ายละ 50 ล้านบาท แต่การประเมินสถานการณ์ของฝ่ายที่ออกกฎหมายคิดว่าถ้าเปิดโอกาสจะมีความวุ่นวายทางการเมือง และ 4.บรรยากาศ ทุกมีความตื่นตัวที่จะช่วยกันตัดสินใจอนาคตของประเทศ ภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผล
“ขณะนี้มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติ กำลังตกเป็นจำเลยของสังคม มีการกล่าวหากันว่าใครเป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่ผมยืนยันว่ามาตรา 61 วรรคสอง เป็นของดี ต้องถามว่าขณะนี้เราต้องการให้สังคมเอาเรื่องเท็จมาหลอกกัน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจลงประชามติบนความรู้พื้นฐานที่ผิดหรือไม่ หรือต้องการให้ใช้คำหยาบคาย รุนแรงต่อกันเช่นนั้นหรือไม่ รวมทั้งต้องการให้เกิดการปลุกระดมไม่เคารพกฎหมายออกมาเดินขบวนเผาบ้านเผาเมืองอย่างนั้นหรือไม่ ทั้งที่เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างฯ เพื่อเป็นการปรามเหตุการณ์เหล่านี้ไว้เท่านั้น บรรยากาศขณะนี้ไม่ได้น่ากลัว อย่าดราม่ากันไปเอง สังคมดราม่ามากเกินไปหรือไม่ เพลงประชามติที่เขียนก็ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเพียงแต่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เอะอะอะไรก็ว่าเป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพ สังคมหวาดระแวงจนเกินไป หากคิดเช่นนี้ก็จะไม่มีความสุข” สมชัย กล่าว