NLA Weekly (11-17 มิ.ย.59): สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ ด้าน กรธ.ยันประชามติไม่ล้ม

NLA Weekly (11-17 มิ.ย.59): สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ ด้าน กรธ.ยันประชามติไม่ล้ม

เมื่อ 19 มิ.ย. 2559
13 มิถุนายน 2559
 
ประธาน กรธ. ยืนยัน มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติ จะขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่ ไม่ทำให้ประชามติล้ม
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่มีการเรียกร้องให้ กรธ. ชะลอการอบรม ครู ค. ไปก่อนเพราะศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่าไม่มีความจำเป็นต้องชะลอการอบรมชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ที่อบรมไม่ได้พูดให้ร้าย หยาบคาย หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง การจะมีหรือไม่มีกฎหมายย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และหากศาลจะวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเพียงแค่วรรคเดียว ไม่ทำให้ประชามติล้ม ส่วนที่มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่า ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าขั้นตอนยังไปไม่ถึง เพราะยังอยู่ระหว่างการอบรมครู ค. และเอกสารสาระสำคัญยังแจกจ่ายไม่ทั่วทั้งหมด แต่เชื่อว่าอีก 2 สัปดาห์วิทยากรครู ค. จะลงพื้นที่เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อชี้แจงเนื้อหา ซึ่งจะทราบผลตอบรับของประชาชนว่ามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด
 
 
สปท. มีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ
 
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบรายงานแผนการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนยุติธรรม สปท. เรื่องการวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจด้วยคะแนนเสียง 138 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 24 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 166 คน เสนอวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ยึดหลักความอาวุโส ประกอบความรู้ ความสามารถและความประพฤติ อาทิ ข้าราชการตำรวจที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสารวัตรขึ้นไปถึงระดับผู้บัญชาการ ให้พิจารณาเรียงตามลำดับตามบัญชีอาวุโส ประกอบความรู้ ความสามารถ และความประพฤติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนตำแหน่งที่ว่าง ห้ามข้ามลำดับเว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยอย่างแท้จริง และอีกร้อยละ 30 ให้พิจารณาเรียงตามลำดับบัญชีอาวุโส เว้นแต่จะมีเหตุผลในความจำเป็นให้ข้ามลำดับอาวุโสได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
 
 
 
14 มิถุนายน 2559
 
วิป สนช.เผย มีกฎหมายผ่านวาระ 3 แล้ว 174 ฉบับ สัปดาห์หน้าจ่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
 
 เจตน์ ศิรธรานนท์ และยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ. ที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แล้ว จำนวน220 ฉบับ ในจำนวนนี้ผ่านวาระ 3 จำนวน 174 ฉบับ และมีผลบังคับใช้แล้ว 155 ฉบับ แต่ยังมีกฎหมายลำดับรองค้างอยู่ 55 ฉบับ
 
โฆษกวิป สนช. กล่าวต่อไปว่า ในสัปดาห์หน้าวันที่ 23 มิถุนายน จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และคาดว่า ในวันที่ 24 มิถุนายน จะพิจารณาวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อให้ทันต่อการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 รวมถึงการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์
 
 
 
15 มิถุนายน 2559
 
สปท.เผย ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติแล้ว
 
พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมคณะ แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการโดยเฉพาะการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติว่า หลังจาก สปท.ส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบแล้ว มีการส่งกลับมาให้กรรมาธิการให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูป ซึ่งคณะกรรมาธิการมีมติยืนยันตามหลักการเดิม
 
 
 
16 มิถุนายน 2559
 
เห็นชอบ “พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล” เป็นเลขาฯ ปปง.
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ใช้วิธีลงคะแนนลับก่อนมีมติเห็นชอบด้วยเสียง 154 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ให้  พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งการพิจารณาของ สนช. เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลัง พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.คนเดิม ครบวาระการดำรงตำแหน่ง และกระบวนการสรรหาตามหลักเกณฑ์ยังไม่ได้กำหนด อีกทั้งต้องใช้เวลายาวนาน ทำให้หัวหน้า คสช.มีคำสั่งที่ 24/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้ พล.ต.อ.ชัยยะ ซึ่งดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. โดยไม่ต้องสรรหา แต่ระหว่างนั้นให้รักษาราชการ รอให้ สนช.ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น สนช. จึงดำเนินตามกระบวนการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม แล้วเสนอเป็นรายงานลับให้ที่ประชุม สนช. พิจารณา นำมาสู่การมีมติในครั้งนี้
 
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 161 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3  เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 164 คน
 
ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ปี 2456 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หลังปัจจุบันมีการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มมากขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ เพิ่มเติมการเสียค่าตอบแทนเป็นรายปีสำหรับผู้ได้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำ และกำหนดให้เจ้าท่ามีอำนาจในการตรวจและออกใบสำคัญสำหรับเรือ รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติให้เจ้าท่ามีอำนาจออกหนังสือสำคัญประจำตัวคนประจำเรือได้
 
 
สนช.มีมติให้ ร่าง กม.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ ผ่านวาระ 3 ให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย มีสาระสำคัญให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบกลางมีอำนาจหน้าที่หลัก 6 ประการคือ 
 
1. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ
 
2. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
 
3. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลให้ ความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือ ให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น
 
4. คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 
 
5. คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ 
 
6. คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
 
 
สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 165 เสียง  รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ชี้แจงเหตุผลต่อที่ประชุมว่า การตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้  เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535   หลังพบว่ามีข้อจำกัดบางประการทำให้ไม่สามารถใช้บังคับมาตรการลงโทษทางอาญากับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และรองรับการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  พร้อมกำหนดให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำผิดแทนมาตรการลงโทษทางอาญาได้ในบางกรณีอีกด้วย  
 
 
 
17 มิถุนายน 2559
 
สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)  สถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเห็นด้วย 162 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2  เสียง โดยปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลไม่ใช้บังคับกับสถานพยาบาลซึ่งดำเนินโดยภาครัฐ จึงควรแก้ไขให้สถานพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐ ต้องมีลักษณะและมาตรฐานตามที่กำหนดหรือผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่กำหนด แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสถานพยาบาลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดที่ผู้รับ อนุญาตต้องแสดงในสถานพยาบาลและแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการ โฆษณาสถานพยาบาล บทกำหนดโทษและองค์ประกอบของคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น