NLA Weekly (18-24 มิ.ย.59): ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา "61 วรรค 2" พ.ร.บ.ประชามติฯ วันที่ 29 มิ.ย.นี้ ด้านรองนายกฯ ขู่ ระวังใช้ ม.44 คุมประชามติ

NLA Weekly (18-24 มิ.ย.59): ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา "61 วรรค 2" พ.ร.บ.ประชามติฯ วันที่ 29 มิ.ย.นี้ ด้านรองนายกฯ ขู่ ระวังใช้ ม.44 คุมประชามติ

เมื่อ 26 มิ.ย. 2559
18 มิถุนายน 2559
 
รองประธาน สปท. มั่นใจศาลปราบโกง ลงโทษประหาร แก้ปัญหาคอร์รัปชันเฉียบขาด
 
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ว่าเป็นครั้งแรกที่จะมีศาลปราบโกงจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยและถือเป็นเครื่องมือสำคัญในปฏิรูปปัญหาคอร์รัปชั่น โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดโทษทุจริตถึงประหารชีวิตและริบทรัพย์ครอบคลุมทั้งผู้ให้และผู้รับทั้งยังจะทำให้การเอาผิดลงโทษคนโกง 
 
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เกิดขึ้นจากการผลักดันขับเคลื่อนปฏิรูปด้านการปราบปรามทุจริต คอร์รัปชัน ของ สปท. ที่สานต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามความต้องการของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการปราบปรามคนโกง ในทุกภาคส่วน 
 
 
20 มิถุนายน 2559
 
"ปานเทพ" ระบุ จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ  ทำให้การพิจารณารวดเร็ว-มีประสิทธิภาพ
 
ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "อินไซด์ รัฐสภา" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภาว่า
 
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ยกฐานะมาจากแผนกคดีทุจริตและพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาขึ้นมาเป็นศาลชำนัญพิเศษ ที่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีหัวหน้าคณะที่เคยเป็นหัวหน้าคณะศาลอื่นมาแล้ว ผู้พิพากษาจะต้องมีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ และอยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษามาไม่น้อยกว่า 10 ปี การพิจารณาใช้ระบบไต่สวนโดยศาลจะร่วมค้นหาความจริงและหาข้อมูลด้วย จึงจะส่งผลให้กระบวนการอำนวยความยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นรวมถึงจะส่งผลให้การพิจารณาคดีมีความรวดเร็วขึ้นด้วย ทั้งนี้คาดว่า การจัดตั้งศาลทั้งในส่วนกลางและภาคจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2559 
 
ส่วนที่ว่าเหตุใดจึงไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไปพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ปานเทพชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. หากรอเสนอพร้อมกันอาจเกิดความล่าช้า
 
 
22 มิถุนายน 2559
 
กกต. ขอผู้ประสงค์ออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด เร่งลงทะเบียนขอใช้สิทธิ
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กกต.เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนอกเขตจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ มีผู้ลงทะเบียนแล้วจำนวนกว่า 48,000 คน และขณะนี้ใกล้ถึงวันหมดเขตการลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดแล้ว จึงขอเชิญชวนผู้ประสงค์ขอใช้สิทธิดังกล่าว รีบยื่นคำขอลงทะเบียน เพื่อออกมาใช้สิทธิออกเสียงในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 
 
ขณะเดียวกันสมชัยย้ำว่า การลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดในครั้งนี้เป็นการลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เป็นการลงคะแนนออกเสียงในวันเดียวกันทั่วประเทศ โดยไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า จึงขอเน้นย้ำถึงผู้ที่เคยลงทะเบียนเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. นอกเขตจังหวัดในครั้งที่ผ่านมา ว่าจะต้องยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดใหม่เช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นในวันออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จะไม่มีชื่อในหน่วยเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดเดิมที่เคยลงทะเบียนไว้ และจะไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงประชามติได้แต่อย่างใด 
 
สำหรับผู้มีสิทธิออกเสียง สามารถดำเนินการขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดได้ผ่าน 3 ช่องทาง ทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ http://election.dopa.go.th จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เวลา 24 .00 น. ทางไปรษณีย์ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ หรือเข้ายื่นคำขอด้วยตนเอง ที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ในวันและเวลาราชการ ทั้งนี้ เมื่อลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงนอกเขตจังหวัดเรียบร้อยแล้ว สามารถตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดได้ที่ www.khonthai.com/Election/Elecenter/outvote/enq/index.php
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติ ม.61 ขัด รธน.หรือไม่ 29 มิ.ย.นี้
 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว ระบุภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณากรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอความเห็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 หรือไม่ ที่ประชุมได้พิจารณาคำขอของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ขอให้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ และนายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการวิสามัญ มาแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยวาจาต่อศาล ซึ่งศาลเห็นว่า เอกสารหลักฐานในสำนวนมีเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอ และแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบ
       
จากนั้นศาลได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และได้นัดแถลงด้วยวาจาพร้อมลงมติในวันพุธที่ 29 มิถุนายนนี้ เวลา 13.30 น. 
 
 
23 มิถุนายน 2559
 
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เรียกร้อง สนช. ยับยั้ง 2 ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม
 
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พร้อมคณะ คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม  และร่าง พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา โดยปานเทพกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาต่อที่ประชุม สนช. ในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ อาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งทางเศรษฐกิจ พลังงาน และทางการทหาร รวมทั้งไม่ได้ให้อธิปไตยทางพลังงานแก่ประเทศอย่างแท้จริง แต่กลับให้สิทธิกับเอกชนเป็นผู้ขายปิโตรเลียม ซึ่งอาจเป็นเพียงการอำพรางที่ทำให้ดูเหมือนมีทางเลือกเท่านั้น เพราะกรรมสิทธิ์การขายพลังงานยังอยู่ในมือเอกชนเช่นเดิม อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่ง สนช. ได้เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวแล้ว แต่ ครม. กลับมีมติไม่สอดคล้องกับรายงานดังกล่าวจึงขาดความชอบธรรมที่จะนำเสนอ ดังนั้นจึงขอให้ สนช. ยับยั้งและไม่รับร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ด้วย
 
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 60 ด้วยคะแนน 189 เสียง
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 189 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี ไม่ลงคะแนนไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา 50 คน แบ่งเป็นตัวแทน สนช. 40 คน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 10 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติใน 15วัน พิจารณาภายในระยะเวลา 90 วัน
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณสมาชิก สนช.และรัฐมนตรี พร้อมระบุว่า การจัดทำงบประมาณปีนี้แตกต่างจากปี 2557 และ ปี 2558 โดยได้นำปัญหาทุกมิติ และปัญหาในอนาคตมาพิจารณา เพื่อจัดลำดับการแก้ไขให้สอดคล้องกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราชการ การออกกฎหมายบูรณาการและกฎหมายการจัดทำงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
 
 
24 มิถุนายน 2559
 
สนช. ผ่านร่าง  พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 182 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 185 คน 
 
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการแจ้งสิทธิการได้รับค่าตอบแทน หรือค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้เสียหายหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย หรือแก่จำเลยที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หลังปัจจุบันผู้เสียหายจำนวนมากไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา 
 
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ไว้พิจารณา โดยการเสนอขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2541 ก็เพื่อให้การบริหารจัดการปิโตรเลียมมีความรัดกุมและรอบคอบมากขึ้น โดยการบริหารปิโตรเลียมในปัจจุบันดำเนินการในลักษณะของสมดุลแห่งอำนาจ ไม่มีบุคคลใดหรือหน่วยงานใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จ อำนาจสูงสุดอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมงานกับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และการประกาศต่างๆ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในทุกขั้นตอน จึงขอยืนยันว่า การบริหารจัดการในปัจจุบันจึงเป็นการบริหารซึ่งมีความสมดุลแห่งอำนาจ
 
ด้านสมาชิก สนช.ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ อาทิ ต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจนโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ทุกภาคส่วน สร้างศรัทธาต่อกัน การชี้แจงข้อมูลต่างๆ ต้องเข้าใจง่าย ต้องทำกฎหมายฉบับนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ พร้อมแนะให้ภาครัฐอธิบายและชี้แจงให้ภาคประชาชนได้เข้าใจว่าเหตุใดจึงยังไม่มีบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (Noc) 
 
 
25 มิถุนายน 2559
 
รองประธาน สนช. ยืนยัน มีเลือกตั้งแน่ ปี 2560 ย้ำ ร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ตัวถ่วง
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง การทำงานของแม่น้ำห้าสายและร่างรัฐธรรมนูญ ในกิจกรรมพบผู้ชมและผู้ฟังรายการของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐภา จ.พิษณุโลก โดยระบุว่า แม่น้ำทั้งห้าสาย (คสช. ครม. สนช. สปท. และ กรธ.) ต่างทำงานสอดรับกัน  ขณะนี้อยู่ระหว่างโรดแมประยะที่สาม คือกระบวนการที่นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญถาวร ที่จะมีการทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ พร้อมกับคำถามพ่วงประชามติถามความเห็นของประชาชนเป็นครั้งแรกกับคำถามที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้ในระยะ 5 ปีแรกช่วงเปลี่ยนผ่าน นายกรัฐมนตรีจะมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนไปร่วมกันออกเสียง เพราะทุกอย่างจะได้ข้อยุติตามมติเสียงข้างมากของประชาชน
 
สุรชัย ย้ำว่า หลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และแก้ปัญหาในอดีต พร้อมยืนยันว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2560 อย่างแน่นอน ไม่ว่าผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร และร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ตัวถ่วงการเลือกตั้ง ตามกระแสข่าวลือ แต่อย่างใด
 
 
“วิษณุ” ขู่ใช้ ม.44 คุมออกเสียงประชามติ หาก ม.61 วรรค 2 ขัด รธน
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีการประชุมชี้แจงเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญประชามติ และประชาชน” เป็นครั้งที่ 4 ว่า คำถามยอดฮิตที่ 2 มาตรา 61 วรรคสอง เป็นปัญหาของเสี้ยวหนึ่งของวรรคหนึ่งของมาตรานี้เท่านั้น เกิดโต้เถียงกัน มีคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คนวิตกจริตว่าถ้าขัดรัฐธรรมนูญ จะไม่มีประชามติ ยืนยันว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม วันที่ 7 ส.ค. ยังมีอยู่ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค แต่มีคนบอกว่าถ้าไม่มีมาตรานี้จะแสดงความคิดเห็นก้าวร้าว รุนแรง หยาบคายได้ อยากขอให้ระมัดระวัง ตนห่วงคนเหล่านี้จะกลายเป็นการกรีธาทัพออกมา ต้องระวังให้มาก เพราะจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้
       
“มีกฎหมายที่ใช้ควบคุมอีกเป็นกุรุส โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ถ้าไม่เพียงพอก็ยังมี มาตรา 44 ที่ออกใหม่ได้ทุกวัน ยังมีเครื่องมืออยู่ ดังนั้น การจะทำอะไรควรให้อยู่บนพื้นฐานความสุจริต จะเป็นเกราะกำบัง เราไปห่วงกันมากเกินกับคำว่าก้าวร้าวรุนแรง แต่ลืมมาตรา 11 ที่ให้ กกต. ดูแลการแสดงความเห็นอย่างสุจริต ถ้าไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงก็ไม่มีใครมาตอแย ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เท็จ บิดเบือน คำว่ารับ ไม่รับไม่ผิด ถ้าไม่เท็จไม่บิดเบือนไม่มีปัญหา”