NLA Weekly (25 มิ.ย.-1 ก.ค.59): ศาลรัฐธรรมนูญชี้ มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

NLA Weekly (25 มิ.ย.-1 ก.ค.59): ศาลรัฐธรรมนูญชี้ มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อ 2 ก.ค. 2559
25 มิถุนายน 2559
 
โพลเผย ประชาชนร้อยละ 69 ยังไม่เข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
 
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,169 คน เรื่อง "การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ" ระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ต่อข้อถามว่าวันนี้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นหรือไม่ พบว่าประชาชนร้อยละ 69.38 ระบุว่าเหมือนเดิม เพราะเป็นเรื่องเข้าใจยาก เนื้อหามาก ไม่ค่อยมีใครออกมาให้ความรู้ อยากให้มีการนำเสนอที่เข้าใจง่าย  ร้อยละ 30.62 คิดว่าเพิ่มขึ้น เพราะสนใจติดตามข่าวเป็นประจำ มีช่องทางให้ติดตามที่หลากหลาย ต้องการทำความเข้าใจมากขึ้น
 
ที่มา: เดลินิวส์ 
 
“วิษณุ” บอก ถ้า ม.61วรรคสองใช้ไม่ได้ อาจใช้ ม.44 ออกกฎหมายเพิ่ม
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า หากวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ต้องดูว่าคำถามพ่วงผ่านหรือไม่ โดยจะมี 3 กรณี คือ1.ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแต่คำถามพ่วงผ่านก็เตรียมนับนิ้วหาเสียงเลือกตั้งได้ 2.ร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่านจะใช้เวลาไม่กี่วันสำหรับแก้บางมาตราในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง 3.ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ทำใหม่ แต่จะใช้เวลารวดเร็ว โดยจะไม่มีการลงประชามติอีก ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปี 2560
 
นอกจากนั้นยังมีคำถามเรื่องปัญหามาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559  ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่เสี้ยวเดียวของพ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้นการทำประชามติยังเดินหน้าเหมือนเดิม แต่ก็ยังห่วงว่าหากศาลบอกว่าคำเหล่านี้ใช้ไม่ได้ แล้วจะมีคนย่ามใจออกมาแสดงความคิดเห็นตามชอบใจ ซึ่งก็กลัวว่าจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ เพราะยังมีกฎหมาย คสช.อีกที่ควบคุมอยู่ หรือหากกฎหมายไม่พอก็ออกใหม่ได้ โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.มาตรา 44 ออกกฎหมายใหม่ได้ทุกวัน
 
ที่มา: เดลินิวส์ 
 
28 มิถุนายน 2559
 
ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด
 
พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า  กระทรวงแรงงานเสนอครม.ขออนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง กำหนดงานที่มีลักษณะเป็นอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 
 
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด สาระสำคัญของพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด  โดยมีรมว.ยุติธรรม เป็นประธาน เจ้าหน้าที่พนักงานกรมพินิจห้ามใช้เครื่องพันธนาการใดๆ กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานควบคุม เว้นแต่มีความจำเป็น เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีกลับสู่สังคม
 
 
29 มิถุนายน 2559
 
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าว มติองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
สำหรับคำวินิจฉัยดังกล่าวมีขึ้นจากกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกินความจำเป็น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557มาตรา 4 หรือไม่  ซึ่งผลการวินิจฉัยของศาลที่เห็นว่ามาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปตามเดิม และไม่ส่งผลต่อกระบวนการทำประชามติ
 
อย่างไรก็ตาม เอกสารข่าวดังกล่าวไม่ได้ลงรายละเอียดถึงเหตุผล แต่ให้ติดตามได้จากคำวินิจฉัยกลาง ที่จะออกมาหลังจากนี้ 7วัน
 
 
30 มิถุนายน 2559
 
สนช.นัดแถลงเปิดสำนวนถอดถอน “ประชา ประสพดี” 28 ก.ค.นี้
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ดำเนินกระบวนการถอดถอนประชา ประสพดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ภายหลังจากที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีก้าวก่าย แทรกแซง การทำงานของบอร์ดองค์การตลาด (อต.) เพื่อช่วยเหลือคดีทุจริตแก่ธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้อำนวยการ อต. ในขณะที่ประชา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2555 โดย สนช.กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 น.    
 
 
สนช.รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ลดกรรมการฯ จาก 11 เหลือ 7 คน พร้อมให้ สตง.ตรวจสอบการใช้งบประมาณ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มติเอกฉันท์รับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ  ด้วยคะแนน 162 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง 
 
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม  พ.ศ.2535  มีสาระสำคัญคือ เปลี่ยนแปลงจำนวนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จาก 11 คนเหลือเพียง 7 คน โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ หรือการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติทั่วไปของ กสทช.เพิ่มเติมจากเดิม เช่น ต้องมีอายุระหว่าง 45-65 ปี เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป
 
นอกจากนั้นได้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุและแผนเลขหมายโทรคมนาคม แต่แผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม
      
ขณะเดียวกัน ได้วางหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของ กสทช. ให้เกิดความโปร่งใส โดยจัดตั้ง "กองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ" จากเงินรายได้ที่จากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่น  รวมทั้งมอบอำนาจให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ กสทช. โดยหากพบว่าเป็นการใช้จ่ายเสียเปล่า สตง.ก็มีหน้าที่แจ้งให้กสทช.ทราบ เพื่อให้ดำเนินการ ปรับปรุงแก้ไขหรือระงับการดำเนินการตามควร
 
ที่มา: ประชาไท 
 
 
สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ยื่นหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายฯ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับยื่นหนังสือจาก วีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เพื่อขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. .... เนื่องจากกังวลว่าหาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะสร้างปัญหาและส่งผลกระทบตามมา โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อไก่ เป็ด ห่าน ที่กำหนดไว้สูงถึงอัตราละ 2 บาท/ตัว พร้อมมองว่า จะเป็นการสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานที่ถูกสุขอนามัย รวมทั้งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ที่ต้องรับภาระราคาเนื้อสัตว์ปีกสูงขึ้น เสี่ยงต่อการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่ถูกสุขอนามัยเพราะอาจมีการลักลอบฆ่าสัตว์มากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวใหม่อย่างรอบคอบ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งเพื่อไม่เป็นการเปิดโอกาสให้มีการแสดงหาผลประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้