3 กรกฎาคม 2559
ผุด 'ศูนย์รักษาความสงบ' หนุนประชามติราบรื่น
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความร่วมมือและสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม โดยการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ขึ้นในทุกจังหวัดและอำเภอ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 โดยในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.ศูนย์ฯ ส่วนระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็น ผอ.ศูนย์ฯ และมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ 3 ภารกิจหลัก คือ ด้านการบริหารจัดการ เช่น จัดทำแผนเผชิญเหตุ ติดตามสถานการณ์ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด ด้านการข่าว เสาะหาข่าวที่บิดเบือนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย และด้านการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
4 กรกฎาคม 2559
'มีชัย' กังวล ร่างรธน.ยังไม่ถึงมือประชาชน
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งศูนย์มาเพื่อจับผิด แต่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ที่ทำให้ประชาชนเกิดการเข้าใจผิด และเป็นการช่วยเผยแพร่ร่าง ซึ่งถือเป็นผลดีต่อ กรธ. และมองว่าโครงสร้างของศูนย์ดังกล่าว ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและอำเภอ จะไม่ซ้ำซ้อนกับโครงสร้างการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญของวิทยากร ที่ กรธ. จัดขึ้น เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่คนละอย่าง มีชัย ยอมรับว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้ยังไม่ถึงมือประชาชน ส่วนใหญ่ตกค้างอยู่ที่ว่าการอำเภอและตำบล ขณะที่ การจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเล่มใหญ่ ของ กกต. ยังมีความล่าช้า กรธ. จะต้องหารือร่วมกันกับ กกต. อีกครั้งเพื่อเร่งรัด เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกกว่า 30 วัน เบื้องต้นต้องอาศัยสื่อท้องถิ่นและกรมประชาสัมพันธ์ โดยส่วนตัวคาดหวังให้ถึงประชาชนให้มากที่สุด
กกต.จับมือ กศน.ให้ความรู้สร้างความเข้าใจประชาชน
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ประวิช รัตนเพียร ร่วมเป็นประธานประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนกิจกรรมเเละประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติให้ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ เเละการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.ประจำจังหวัดเเละอำเภอ 1,200 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เเนะนำการเตรียมเอกสารให้ความรู้คณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบลที่มีกว่า 7,000 ศูนย์ กระจายในทุกตำบลของประเทศ เดินไปเคาะประตูบ้านสร้างความเข้าใจเเละรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติ มั่นใจจะมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าร้อยละ 57 และบัตรเสียลดลง
5 กรกฎาคม 2559
หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 4 ฉบับ รวด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง 4 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 34/2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง มีสาระสำคัญคือ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 35/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ในท้องที่ตําบลวังบาลและตําบลบ้านเนิน อําเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากป่าภูทับเบิกถูกบุกรุก ถือครอง โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และนำไปก่อสร้างโรงแรม สถานที่พักตากอากาศ จึงมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างออกจากป่าภูทับเบิกภายในเวลาที่กำหนด พร้อมรื้อถอน ทำลาย หรือกระทำอื่นใดแก่สิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ป่าภูทับเบิกกลับคืนสภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองชดใช้หรืออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรื้อถอน ทั้งนี้การปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง
คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย โดยให้บุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือส่งมอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งยึดคืนที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เมื่อได้ครอบครองพื้นที่เป้าหมายแล้ว ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำที่ดินมาจัดให้แก่เกษตรกรดังนี้ 1)เกษตรกรตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของรัฐบาล 2)เกษตรกรที่ถือครองที่ดินเดิมที่ได้รับคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรฯ
คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 37/2559 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาระสำคัญเช่น ให้หน่วยบริการ เครือข่ายหน่วยบริการ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้รับบริการ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินการแสวงหาผลกําไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทํากิจการในอํานาจหน้าที่ของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
6 กรกฎาคม 2559
ร้องศาลปกครองยกเลิกประกาศ กกต.-ระงับรายการพีอาร์ร่าง รธน.
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตัวแทนภาคประชาชน ฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 โดยต่อมาในช่วงเย็น ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องบรรเทาทุกข์เร่งด่วนวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคมนี้ โดยสาเหตุการฟ้องร้องครั้งนี้ ผู้ฟ้องเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย หลักกฎหมายภายใน และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว และกระทบสาระสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน กกต.ยังผลิตรายการ "7 สิงหาประชารวมใจ" เพื่อนำเสนอความคิดเห็นต่อฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ว่ารายการให้โอกาสกับ กรธ.และส่วนราชการมากกว่าภาควิชาการและภาคประชาสังคม และไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญร่วมรายการอย่างเท่าเทียม ดังนั้นจึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยระเบียบของ กกต. และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สนช.เตรียมพิจารณาถอดถอน “พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต” ออกจากตำแหน่ง
เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงข่าวถึงการประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) ในสัปดาห์นี้ว่า ในวันที่ 7 กรกฎาคม จะพิจารณากระบวนการถอดถอนพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และกำหนดวันแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้กล่าวหา และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและพยานหลักฐานอันจำเป็นของคู่กรณี และการพิจารณา ร่างระเบียบว่าด้วยการยื่นคำร้อง การรับคำร้อง การนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา และวิธีพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ....
7 กรกฎาคม 2559
ยื่น 40,000 ชื่อผู้ใช้เน็ต เรียกร้องชะลอแก้ พ.ร.บ.คอมฯ ย้ำหยุดสอดแนม
ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตยื่น 40,000 รายชื่อ (ตัวเลข ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2559) ที่ร่วมกันรณรงค์ออนไลน์ผ่าน change.org “หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” ต่อ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง เพื่อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีปัญหาในแง่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งจะรบกวนการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเรียกร้องให้ สนช.ทบทวนและแก้ไขร่างกฎหมายในมาตราที่จะกระขทบกับสิทธิ เสรีภาพองประชาชน โดยพิจาณาแก้ไขร่างมาตรา 14 ให้มีความรัดกุมชัดเจน แก้ไขร่างมาตรา 15 และ 20 ให้การออกมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น และพิจารณาตัดมาตรา 20 (4) ออกจากร่างฯ
'มีชัย' โวยมีคนพิมพ์เอกสารบิดเบือนร่าง รธน.แจกจำนวนมาก เตรียมคุย กกต. - คสช. เอาผิด
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีพบการบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งการแจกเอกสารและนำเสนอข้อมูลไปยังประชาชนว่า จากการตรวจเบื้องต้นพบว่าเป็นเอกสารที่เคยนำมาแจกที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จึงเชื่อว่าน่าจะมีการจัดพิมพ์เป็นจำนวนมากและทำเป็นกระบวนการ พร้อมระบุว่าเอกสารดังกล่าวมีเจตนาบิดเบือนเนื้อหาหรือจัดทำ เพื่อแสดงความเห็นต่าง หากตรวจพบมีข้อบิดเบือนจริง ต้องส่งให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป
8 กรกฎาคม 2559
สนช.ผ่านวาระแรกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบรับหลักการวาระแรก ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ ฉบับแก้ไข ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยมติเอกฉันท์ 158 เสียง โดยมีการแก้ไขสำคัญ อาทิ การเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการฮัจญ์แห่งประเทศไทย การกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจการฮัจญ์ จำนวน 10 คน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน พร้อมกำหนดให้อธิบดีกรมการปกครอง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการฮัจญ์จากกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นภารกิจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และปรับปรุงคุณสมบัติของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
กรธ.ประสานมหาดไทย ให้ทุกอำเภอและส่วนท้องถิ่นแจกสาระร่างรธน. ถึงประชาชน
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า พอใจกับการทำหน้าที่ของครู ค. ชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้ กับประชาชนระดับหมู่บ้าน ที่มีการเผยแพร่ ทั้งเสียงตามสาย เดินพูดคุย ชี้แจงตามงานประเพณี การจัดประชุม และแจกเอกสาร แต่ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 30 ล้านคน ซึ่งอุปสรรคปัญหาสำหรับครู ค. คือ เอกสาร ของ กกต. และเอกสารที่ กรธ. จัดทำ ที่ยังไม่ถึงมือประชาชน ซึ่งคาดว่าจะจัดส่งได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่ง กรธ. ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้แจ้งไปยังทุกอำเภอให้ดาวน์โหลดเอกสารที่ กรธ. จัดทำขึ้นใหม่เป็นสรุปสาระสำคัญ 9 เรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ แจกให้ครู ค. เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน และขอความร่วมมือองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ดาวน์โหลดเพื่อแจกจ่ายอีกช่องทาง รวมถึงกระทรวงมหาดไทยจะดาวน์โหลดเพื่อวางไว้ที่เคาเตอร์ให้ประชาชนสามารถหยิบอ่านได้ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่หน้าเวปเพจของรัฐสภา
ปม 'มีชัย' โวยร่างรธน.ปลอมว่อน 'ประชาธิปไตยใหม่' แจงเป็นเพียง 'ความเห็นแย้ง'
ปกรณ์ อารีกุล สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ในฐานะที่เคยแจกเอกสารดังกล่าวกับมีมีชัยเอง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ประเด็นแรกเรื่องเอกสารดังกล่าวบิดเบือนหรือไม่ เอกสารนี้มีการแจกกันมา 2 เดือนแล้ว และมีการส่งตามที่ต่างๆ ทั้งรถทัวร์และไปรษณีย์ ซึ่งพิมพ์มาจริงๆ นั้น ไม่เกิน 10,000 เล่ม หากเอกสารนี้บิดเบือน การที่ตนได้เคยนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้ อ.มีชัย เมื่อเดือนที่แล้ว อ.มีชัย น่าจะตรวจสอบและมีความเห็นมาตั้งนานแล้ว การที่ อ.มีชัย เพิ่งมามีความเห็นว่าเอกสารนี้มีการบิดเบือนในช่วงที่มีการจับกุมนักโทษประชามตินั้น จึงคิดว่าอาจารย์น่าจะออกมาเพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า เพราะการกล่าวหามาเป็นประเด็นทางการเมือง และมีการบอกว่านี่เป็นของปลอม เป็นเท็จแบบนี้ เมื่อดูเอกสารจริงๆ แล้ว เป็นเอกสารที่เราให้ความเห็นเหตุผลว่าถ้าจะโหวตโนเรามีเหตุผลอย่างไร อีกส่วนหนึ่งเป็นความเห็นแย้งกับที่ กรธ. บอกถึงข้อดีของ ร่าง รธน. นี้
กกต. พอใจยอดขอใช้สิทธินอกเขตพุ่ง ยันไม่มี รธน.ปลอม แค่เอกสารเห็นแย้ง
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงจำนวนผู้ขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดว่า กกต.ได้ปิดการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปรากฏว่า มียอดผู้ขอใช้สิทธิจำนวน 325,229 คน แบ่งเป็นยื่นผ่านสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น จำนวน 167,252 คน ยื่นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จำนวน 157,977 คน โดยตัวเลขดังกล่าวนับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาจากการออกเสียงประชามติเมื่อปี 2550 จำนวน 82,767 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 โดยผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ทางเว็บไซต์ khonthai.com ของกระทรวงมหาดไทย หรือตรวจสอบจากแอพพลิเคชั่นดาวเหนือ รวมทั้งตรวจสอบได้จากประกาศบัญชีรายชื่อหน้าหน่วยออกเสียงตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคมเป็นต้นไป
สมชัย กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารความเห็นแย้งสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 2 ว่า ตนเห็นว่าเป็นเพียงเอกสารความเห็นแย้งที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งทำขึ้นมา ไม่ถือว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญปลอมหากใช้คำนี้อาจทำให้เข้าใจผิดเพราะไม่ได้มีรัฐธรรมนูญปลอมแต่อย่างใด เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานกกต. เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบของฝ่ายสืบสวน แต่เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น เห็นว่า ไม่มีคำหยาบคายหรือปลุกระดม ส่วนจะมีข้อความใดที่เป็นเท็จหรือไม่ ต้องให้ทางกรธ.พิจารณาชี้ประเด็นว่าหน้าไหน บรรทัดใดเป็นเท็จ หากกรธ.ทำหนังสือมายังกกต.ก็จะดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ตนอ่านแล้วก็มีความวิตกเหมือนกันเพราะเห็นว่ามีบางข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐบางหน่วย ก็เป็นเรื่องของบุคคลหรือหน่วยงานนั้นหากเห็นว่าหมิ่นประมาทก็ไปแจ้งความดำเนินคดีเอง