ค้านร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช. หวั่นชุมชนล่มสลาย

ค้านร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับ คสช. หวั่นชุมชนล่มสลาย

เมื่อ 30 ก.ค. 2559
   
 
รวมพลังชาวบ้านหลายพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่เมืองเลย ค้านร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช.หวั่น Mining Zone ทำชุมชนล่มสลาย
 
27 กรกฎาคม 2559  เวลาประมาณ 14.00 น.  ชาวบ้านหลายพื้นที่ในจังหวัดเลย  ประกอบด้วย  กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน  ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง  พื้นที่ต่อต้านเหมืองทองคำ  กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้ว  ต.เชียงกลม อ.ปากชม  พื้นที่ต่อต้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินบิทูมินัส  กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ  ต.นาดินดำ อ.เมือง  พื้นที่ต่อต้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองแดงและเหล็ก  และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอุมุง  ต.บุฮม  อ.เชียงคาน  พื้นที่ต่อต้านกรณีการทำเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย  ประมาณ 100 คน  ได้รวมตัวกันในนาม ‘เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย’  ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเพื่อขอคัดค้าน ‘ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....’  ที่กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ในขณะนี้  ที่ศาลากลางจังหวัดเลย 
 
โดยมีข้อเรียกร้องว่า  ตามที่ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....  ฉบับที่ สนช. ตั้ง ‘กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....’  เพื่อพิจารณาอยู่ในขณะนี้  เพื่อต้องการบรรลุเป้าหมายสำคัญอย่างน้อย 4 ประการนั้น  จะก่อให้เกิดความล่มสลายอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั่วประเทศได้
 
โดยเป้าหมายสำคัญอย่างน้อย 4 ประการดังกล่าว  ประกอบด้วย
 
1. การกันเขตทรัพยากรแร่  หรือ Mining Zone  ออกจากพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นให้ชัดเจน  เนื่องจากกฎหมายแร่ที่ผ่านมาและที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีข้ออ่อนอยู่อย่างหนึ่ง  นั่นคือ  ไม่มีสิทธิในพื้นที่/ที่ดินเป็นของตนเอง  เมื่อเทียบกับกฎหมายป่าไม้ฉบับต่าง ๆ จะเห็นสภาพได้ชัดเจนว่ากฎหมายป่าไม้มีสิทธิใน ‘พื้นที่ป่าไม้’  เป็นของตนเอง  แต่กฎหมายแร่ไม่มีสิทธิใน ‘พื้นที่แร่’ เป็นของตนเอง  จึงทำให้การจะอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานในการสำรวจและทำเหมืองแร่ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมายอื่นมาโดยตลอด  ซึ่งยุ่งยาก  เดินเรื่องหลายขั้นตอน  และไม่มีสิทธิโดยชอบธรรมและเด็ดขาดในพื้นที่ที่ขออนุญาต  เป็นเพียงการเช่าหรือยืมใช้พื้นที่ในระหว่างอายุสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่เท่านั้น  เมื่อหมดอายุสัมปทานก็ต้องคืนและฟื้นฟูพื้นที่กลับสู่การใช้และการสงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่นเช่นเดิม
 
ด้วยเหตุนี้เอง  ข้ออ่อนนี้ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยเข้าสู่หนทางตีบตันพอสมควรในการเปิดให้เอกชนมาลงทุนขอสัมปทานในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีแร่ปรากฎอยู่  หากไม่แก้หลักการนี้ที่จะทำให้กฎหมายแร่มีสิทธิใน ‘พื้นที่แร่’ เป็นของตนเอง  ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยเข้าสู่หนทางตีบตันยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ   
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา  ตลอดร้อยกว่าปีของประวัติศาสตร์กฎหมายแร่ไทยก็จะเห็นร่องรอยการต่อสู้ในเรื่องนี้มาโดยตลอด  จนมาสบโอกาสในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ที่มองเห็นโอกาสว่าหลักการ Mining Zone  มีลักษณะใกล้เคียงไม่ต่างจากการผลักดัน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษ’  ดังนั้น จึงน่าจะอาศัยโอกาสนี้ในการผลักดันให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายแร่ทั้งฉบับด้วยการเสนอให้มี Mining Zone ในร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้
 
ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น  คือ  หลักการของ Mining Zone มีลักษณะกดทับและลดสถานะกฎหมายอื่น (Overrule) เสียจนทำให้กฎหมายหลักหลายฉบับกลายเป็นกฎหมายประกอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่มากจนเกินไป  จนทำให้พื้นที่ทุกประเภทที่ไม่เหมาะสมต่อกิจกรรมสำรวจและทำเหมืองแร่ต้องถูกทำลายจนเสื่อมโทรมและเสียสภาพทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาไปจนหมดสิ้นได้  ไม่ว่าพื้นที่เหล่านั้นจะเป็นชุมชน  แหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชน  พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์  แหล่งอาศัยสำคัญของสัตว์ป่าและพรรณพืชหายาก  พื้นที่ชุ่มน้ำ  หรือพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศอื่น ๆ ตั้งแต่พื้นที่บนภูเขาสูงไปจนถึงที่ราบต่ำและชายทะเล  และพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่น  เช่น  พื้นที่ ส.ป.ก.  พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร  พื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทางโบราณวัตถุ  โบราณสถาน  หรือแหล่งฟอสซิลที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ไว้  ฯลฯ  ก็ไม่ถูกละเว้น
 
  
 
2. การลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะสั้นได้  เพื่อความรวดเร็วต่อเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน  โดยเฉพาะขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่สัมปทาน  การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความเห็นเพื่อพิจารณาการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่  เช่น  การทำประชาคมหมู่บ้าน  และมติจาก อบต. หรือเทศบาล  เพื่ออนุญาต/ไม่อนุญาตให้เอกชนดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรต่อไปได้  เพื่อเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบในการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์  พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก.  เพื่อเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบในการขอใช้พื้นที่โบราณวัตถุหรือโบราณสถาน  พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร  พื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชน  ฯลฯ  จะถูกตัดทิ้งหมด  เนื่องจากปัญหาใหญ่ของการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในประเทศไทยที่มีเอกสารยื่นคำขอสัมปทานตกค้างอยู่หลายพันฉบับ  เพราะไม่สามารถดำเนินการอนุมัติ/อนุญาตให้ได้ก็ด้วยเหตุที่การคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ขอสัมปทานต่าง ๆ นั้นเอง
 
3. ทำให้หน่วยงานในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่  คือ  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นหน่วยงานเดียวและใช้กฎหมายฉบับเดียว (คือกฎหมายแร่) ในการบริการเพื่อให้ได้รับอนุมัติ/อนุญาตสัมปทาน  หรือ One Stop Service  เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนไม่ต้องยุ่งยากในการเดินเรื่องประมูลหรือขอสัมปทานกับหลายหน่วยงานและหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เพราะใช้เวลานานและเชื่องช้า  ไม่ตอบสนองการอำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ลงทุน  รวมถึงเป็นหน่วยงานเดียวที่มีสิทธิ  อำนาจและหน้าที่อย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการแร่ในพื้นที่ Mining Zone ที่ถูกตัดแบ่งออกมาจากพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นด้วย
 
   
 
4. จัดทำรายงาน EIA/EHIA สำหรับพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ล่วงหน้าไว้ก่อน  แล้วนำพื้นที่ที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA แล้วเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อเข้ามาทำเหมืองแร่ได้เลย
 
ซึ่งหลักการนี้ในร่างกฎหมายแร่เป็นหลักการที่ขัดและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายสิ่งแวดล้อม  หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕  ที่ออกประกาศตามความพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุให้การทำเหมืองแร่ทุกประเภทและขนาดต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ในขั้นตอนการขอประทานบัตร  นั่นหมายถึงว่าการทำเหมืองแร่ในพื้นที่พิเศษนี้ไม่ต้องมีหรือไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการขอประทานบัตรอีกต่อไป
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด  จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยส่งหนังสือของชาวบ้านยื่นต่อ สนช. เพื่อขอให้ถอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....  ออกทั้งฉบับเสีย  และให้นำร่างกฎหมายแร่ฉบับประชาชนที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ร่างเอาไว้แล้วนำมาพิจารณาแทน  เพื่อเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศที่อาจจะเกิดความล่มสลายได้หากร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ถูกประกาศใช้บังคับ  เพราะจะเปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนนำพื้นที่ป่าและที่ดินทำกินของราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตป่า  พื้นที่ ส.ป.ก.  พื้นที่สาธารณประโยชน์  หรือพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่นใดอีกมาประมูลเพื่อการสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่เต็มไปหมด
 
นอกจากนี้กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้วยังได้ยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งเพื่อขอให้ยกเลิกการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตท้องที่ตำบลเชียงกลมแก่เอกชนรายใด ๆ ก็ตามทั้งหมดโดยเด็ดขาดด้วย  เนื่องจากขณะนี้มี หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง  และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด  ได้เข้ามาบุกรุกที่ดินทำกินชาวบ้านด้วยการปักหมุดเขตคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหิน (ชนิดบิทูมินัส)  โดยไม่แจ้งและขออนุญาตแก่เจ้าของที่ดินแต่อย่างใด  และหวั่นเกรงว่าพื้นที่ทำกินและห้วยน้ำลำธารที่ใช้อาศัยหาอยู่หากินส่วนใหญ่จะได้รับความเสียหายหากเกิดการทำเหมืองแร่ถ่านหินขึ้นจริงจนถึงขั้นก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรง  
  
จากการยื่นหนังสือขอคัดค้านพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ของชาวบ้าน 4 กลุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยออกมารับหนังสือจากชาวบ้านด้วยตัวเอง  โดยได้กล่าวกับชาวบ้านว่า  “เพิ่งได้รับทราบว่ามีร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้ขึ้นมา”  และรับปากกับชาวบ้านว่า  “จะส่งหนังสือตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านทั้งสองฉบับ  ฉบับที่ค้านร่างกฎหมายแร่จะส่งไปยังเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  และอีกฉบับที่ขอให้หยุดการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตท้องที่ตำบลเชียงกลม อ.ปากชม โดยเด็ดขาดจะส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอปัญหาชาวบ้าน” 
 
 
พร้อมกันนี้ยังได้พูดถึงกรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินของ หจก.ไทยเจริญไมนิ่ง  และบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด  ในพื้นที่เขตแหล่งแร่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2534  ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาแก้ว-ดงปากชมว่า  อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยต้องทำประกาศให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตร  ซึ่งชาวบ้านต้องแสดงเจตจำนงในการคัดค้านการขอประทานบัตรดังกล่าว  และขั้นตอนต่อมา หจก.ไทยเจริญไมนิ่งและบริษัท ซี.เอส.เอ็น ไมนิ่ง จำกัด  ผู้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินต้องทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน  และนำเรื่องเข้าสภาเทศบาลพิจารณาให้มีมติ
 
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยยังได้เชิญชวนชาวบ้านให้ไปใช้สิทธิในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559  อีกด้วย  “จะการับหรือไม่รับก็เป็นสิทธิ์ของทุกท่าน  ขอให้พิจารณากันให้ดี”  ผู้ว่าฯกล่าวทิ้งท้าย
 
ต่อจากนั้นชาวบ้านได้รวมตัวกันรณรงค์สั้น ๆ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยการ  ชูมือเป็นกากบาทและตะโกนเสียงดังว่า  “ไม่รับร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับใหม่”  และ  “เหมืองแร่ ออกไป”  เป็นเวลาหลายครั้งโดยพร้อมเพรียงกัน