โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 และทำกิจกรรมทางออนไลน์มากว่า 7 ปี บนหลักการ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน และเสรีภาพการแสดงออก เราจึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ว่าด้วยการอ้างเหตุผลหรือความจำเป็นใด เพราะการรัฐประหารทุกครั้งต่างนำไปสู่การทำลายคุณค่าทั้งสองเสมอ
อย่างไรก็ดี เราไม่เคยทำกิจกรรมเพื่อคัดค้านการบริหารประเทศของ คสช. แต่ตลอดเวลาที่ คสช. บริหารประเทศ เราจับตาการใช้อำนาจของ คสช. อย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกกฎหมาย การปฏิรูปประเทศ และการใช้กระบวนการยุติธรรมปิดกั้นการแสดงความเห็นต่าง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและร่วมพิสูจน์ไปกับทุกคนว่า คสช. จะปฏิรูปประเทศไปสู่การปรองดองตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้หรือไม่
จนถึงวันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นบททดสอบสำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นว่า การบริหารประเทศภายใต้ระบอบ คสช. จะพาประเทศไปสู่ทิศทางใด
ในแง่กระบวนการ: การปิดกั้นได้ทำลายความชอบธรรมของตัวรัฐธรรมนูญเอง
ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อจัดทำขึ้นโดยประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูล ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ไม่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยน แม้จะผ่านการทำประชามติในฐานะพิธีกรรมทางการเมือง ก็ย่อมไม่มีความชอบธรรมในฐานะเป็นกติกาที่สังคมตกลงยินยอมร่วมกัน รังแต่จะกลายเป็นเงื่อนไขสู่ความขัดแย้งในทุกมิติในอนาคต
ในแง่เนื้อหา: "ปราบโกง" เพิ่มความขัดแย้ง ผลักให้ "ประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง"
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่าเป็น "ฉบับปราบโกง" โดยมีหลายมาตราที่เพิ่ม
กลไกการตรวจสอบนักการเมือง และกำหนดคุณสมบัตินักการเมืองให้เข้มงวดขึ้นจริง แต่เราไม่อาจพึงพอใจด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ได้ เพราะเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วพบว่า กลไกการตรวจสอบที่วางไว้ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกตัดทิ้ง และ
เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญและ
องค์กรอิสระซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ในทางตรงกันข้ามร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้พัฒนากลไกตรวจสอบการทุจริตในสถาบันอื่น เช่น ข้าราชการ ตุลาการ และกองทัพ กลไก "ปราบโกง" ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ จึงเป็นเพียงข้ออ้างที่มุ่งกีดกันไม่ให้นักการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเข้ามามีบทบาททางการเมืองต่อไป ไม่ใช่การสร้างระบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน
กลไก "ปราบโกง" ที่วาดฝันไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีแต่จะสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองให้มากขึ้น แต่ "ปราบโกง" ไม่ได้อย่างแท้จริง
ในแง่เนื้อหา: มุ่ง "รวมศูนย์" สวนทางการพัฒนา อ้างปฏิรูปเพื่อสืบทอดอำนาจ
หลังจากเราติดตามและพบว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของคสช. ไม่ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับโยนการปฏิรูปที่ คสช. ทำไม่สำเร็จให้ไปเป็นภาระของรัฐบาลชุดใหม่ โดย
กำหนดในหมวดปฏิรูปไว้อย่างสวยหรู แต่เลื่อนลอยไร้กลไกที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปการศึกษาให้ครูมีจิตวิญญาณความเป็นครู การปฏิรูปเศรษฐกิจปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรม ฯลฯ แล้วร่างรัฐธรรมนูญก็ตีกรอบให้รัฐบาลชุดหน้าให้ต้องทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. ให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. มาร่วมพิจารณากฎหมายเพื่อการปฏิรูปด้วย
การกล่าวอ้าง "การปฏิรูป" ของ คสช. ตั้งแต่วันยึดอำนาจมาจนถึงการกล่าวอ้างไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เดินหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ อย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นข้ออ้างเพื่อวางกลไกให้คสช.มีอำนาจบริหารประเทศต่อได้เท่านั้น
iLaw ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยความหวังเพื่อวันที่ดีกว่า
จากการที่เราได้ศึกษาประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างรอบคอบ ฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย และจัดทำสรุปเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว เราได้พบว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยรัฐบาลที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปิดกั้นการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นของประชาชน ไม่สามารถนำมาซึ่งวิธีแก้ปัญหาทั้งหลายอย่างยั่งยืนเท่าทันความเป็นไปของสังคม และสร้างกลไกที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่การปรองดองได้
หากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ผ่านการทำประชามติและประกาศใช้ จะมีผลกับคนทั้งประเทศรวมไปถึงคนรุ่นหลังที่ไม่มีโอกาสร่วมตัดสินใจในวันนี้ด้วย โดยประเด็นที่ยังเป็นปัญหาจะแทบไม่มีโอกาสแก้ไขได้ กติกาที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าเช่นนี้มีแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองที่อิงความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง กับสถาบันอื่นที่อิงอำนาจจากที่ คสช. วางไว้ การทุจริตและความขัดแย้งทางการเมืองจะยังมีอยู่ต่อไปและมีแต่แนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw จึงขอแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
เราเชื่อว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ ด้วยคะแนนของประชาชนที่ตื่นตัวและตระหนักรู้ในสิทธิเสียงของตัวเองอย่างเต็มที่ จะเกิดแรงผลักให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญหลังจากนี้เดินหน้าไปโดยไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดเดิม เมื่อประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีเสรีภาพการแสดงออกที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเสรี เราก็จะมีโอกาสได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับนี้ พร้อมกับทิศทางการเมืองการปกครองที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางต่อไปในอนาคต
ด้วยความหวังเพื่อวันที่ดีกว่า