15 สิงหาคม 2559
‘เรืองไกร’ ยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้ประชามติเป็นโมฆะ เหตุ กกต.ทำหน้าที่มิชอบ
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครอง จากกรณีการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา กกต.ไม่จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 50,000,000 คน ทราบโดยสะดวกและเป็นการทั่วไป
เช่น กกต. จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ... ประมาณ 4,466,666 เล่ม ซึ่งเป็นจำนวนร่างที่น้อยกว่า จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 45,533,334 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 50,000,000 คน การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีผลให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม
โดยท้ายคำฟ้อง มีใจความสำคัญหนึ่งที่ ผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยให้ กกต. ระงับการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องตามประกาศ กกต. เรื่องผลการออกเสียงประชามติ วันที่ 10 สิงหาคม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา อีกทั้ง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผล ออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม เป็นโมฆะ
ทั้งนี้ ศาลปกครองรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลข ฟ.17/2559 เพื่อมีคำสั่งต่อไป
17 สิงหาคม 2559
คณะสงฆ์ยื่นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมนมัสการสังเวชนียสถาน ให้ สนช. พิจารณา
พงษ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้แทนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับยื่นร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมนมัสการสังเวชนียสถาน พ.ศ. .... จาก พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมโม หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ และคณะสงฆ์ ที่ขอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ผลักดันการจัดตั้งหน่วยงานศูนย์กลางประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่มีกฎหมายควบคุมดูแล และการจัดบริการด้านความสะดวกต่อพุทธศาสนิกชน รวมถึงไม่มีการป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในการเดินทางให้กับพุทธศาสนิกชนแต่อย่างใด
18 สิงหาคม 2559
‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ เผย สนช.เสียงแตก ประเด็น จะให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ด้วยหรือไม่
สมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้กล่าวถึง สถานการณ์ภายใน สนช. ที่มีความเห็นไม่ตรงกันสองแนวทาง จากกรณีคำถามพ่วงประชามติ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยความเห็นของ สนช. ส่วนที่หนึ่ง คือ เมื่อ ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นควรให้ ส.ว. เสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีได้เท่ากับ ส.ส.
แต่ขณะที่ ความเห็นของ สนช. อีกส่วนหนึ่ง ให้ความเห็นที่สอง คือ หากตีความตามตัวบทของคำถามพ่วง อาจไปไม่ถึงขั้นที่จะให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้
อย่างไรก็ดี สมคิด ชี้แจงว่า ให้เข้าหารือกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พรุ่งนี้ (19 สิงหาคม 2559) และกล่าวว่า สุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่ที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการปรับแก้นั้น สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติหรือไม่
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันการพยาบาลแห่งสภากาชาดไทย
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันการพยาบาลแห่งสภากาชาดไทย พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเห็นด้วย 171 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน
โดย ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง เหตุผล และความจำเป็นที่ต้องตรา พ.ร.บ. นี้ เพราะเห็นสมควรที่จะยกฐานะวิทยาลัยพยาบาลกาชาดไทยขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านการพยาบาลให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจาก ต้องการผลิตบุคลากรระดับวุฒิบัตรและระดับปริญญาโทขึ้นไป โดยสถาบันดังกล่าว จะมีคณะพยาบาลเพียงคณะเดียวแต่เปิดหลายสาขา เพื่อการรักษาคนไข้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อผลิตบุคลากรด้านการพยาบาลและจัดการศึกษาด้านการพยาบาลและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง
สนช.ขยายเวลารวมความเห็นเพื่อจัดทำร่าง รธน. อีก 90 วัน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2559
โดย สนช. พร้อมเห็นชอบเพิ่มกรอบอำนาจหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ให้พิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งต้องมีการปรับบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ
รวมทั้ง สนช. ยังให้มีการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (กฎหมายลูก) ทั้ง 10 ฉบับ และกฎหมายอื่นที่จำเป็นต้องตราตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนบทบัญญัติอื่นๆ ที่มีผลต่อสมาชิก สนช. ซึ่งที่ประชุม สนช. ได้เห็นชอบ ให้เพิ่มจำนวนกรรมาธิการฯ เข้าทำหน้าที่เพิ่มอีก 1 คน จากเดิมมี 29 คน เป็น 30คน ได้แก่ พรศักดิ์ เจียรณัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับภารกิจในครั้งนี้ด้วย
19 สิงหาคม 2559
มติ สนช. ถอดถอน ‘ประชา ประสพดี’ 182 ต่อ 7 เสียง และ ถูกตัด 'สิทธิ' ทางการเมือง 5 ปี
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน ประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง 182 : 7 เสียง และไม่ออกเสียง 2 เสียง ซึ่งถือเป็นคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือ 131 คะแนน ของจำนวนสมาชิก สนช. ที่มีอยู่ 218 คน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สนช. จะแจ้งมติไปยัง ปปช. และประชา ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ ซึ่งผลจากการถอดถอน ยังส่งผลให้ ประชา ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันลงมติ
ทั้งนี้ มติดังกล่าวถือว่า สนช. เห็นชอบให้ถอดถอน ประชา ออกจากตำแหน่ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีก้าวก่าย แทรกแซง การทำงานของบอร์ดองค์การตลาด (อต.) เพื่อช่วยเหลือคดีทุจริตแก่ ธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้อำนวยการ อต. ในขณะที่ประชา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2555
สนช.รับพิจารณาหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเอกฉันท์รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 185 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด 188 คน
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันประเทศไทยตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556 ใช้บังคับอยู่แล้ว แต่ไม่ครอบคลุมถึงการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering : FATF) กำหนด จึงเห็นว่าควรนำบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงมากำหนดรวมไว้ใน พ.ร.บ.เดียวกัน
ทั้งนี้ปลายเดือนตุลาคม 2559 FATF จะส่งคณะกรรมาการตรวจสอบไปยังประเทศต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่า แต่ละประเทศได้ปฏิบัติตามพันธกรณีหรือไม่ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยจะต้องเร่งตรากฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นให้เป็นเรื่องของ FATF ว่าจะประเมินและประกาศว่าประเทศไทยมีสถานการณ์หรือสถานภาพอยู่ในระดับใด
สนช. แถลงงบประมาณปี 60 ปรับลดเป็น 17,980 ล้านบาท เตรียมเสนอ สนช. ที่ให้ความเห็นชอบ 8 กันยานี้
พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง rพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แถลงผลการพิจารณางบประมาณว่า คณะกรรมาธิการฯ ใช้เวลากว่า 2 เดือน ในการพิจารณางบประมาณจนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ปรับลดงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 17,980 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65 จากวงเงินทั้งหมด 2,733,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณปีที่ผ่านมา ถือว่ามีการปรับลดน้อยลง แสดงให้เห็นว่าหน่วยราชการได้พิจารณาจัดตั้งงบประมาณมาเป็นอย่างดี
โดย พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า กรรมาธิการฯ จะพิจารณาข้อสังเกตของส่วนราชการต่างๆ ก่อนจัดทำร่าง พ.ร.บ. เพื่อเตรียมเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 8 กันยายน 2559 โดยจะพิจารณาเป็นรายมาตรา คาดว่า จะสามารถนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 16 กันยายน 2559