NLA Weekly (20-26 ส.ค.59): 'ประยุทธ์' งัด ม.44 ป้องกันพวกบิด เบือนสร้างขัดแย้ง บ่อนทำลายศาสนา

NLA Weekly (20-26 ส.ค.59): 'ประยุทธ์' งัด ม.44 ป้องกันพวกบิด เบือนสร้างขัดแย้ง บ่อนทำลายศาสนา

เมื่อ 27 ส.ค. 2559
22 สิงหาคม 2559
 
'ประยุทธ์' งัด ม.44 ป้องกันพวกบิดเบือนสร้างขัดแย้ง บ่อนทำลายศาสนา
 
ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ มาตรา 44 มีคำสั่งให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนาเป็นหน้าที่ทุกหน่วยงานของรัฐ ให้ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา และการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน ที่ถูกต้องตามแนวทางในแต่ละศาสนา รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีของศาสนิกชนของทุกศาสนา และกำหนดมาตราการกลไกในการป้องกันไม่ให้มีบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น หลังจากที่มีบางฝ่ายนำความแตกต่าง ซึ่งเป็นปกติของสังคมที่มีความหลากหลายนั้น ไปบิดเบือนเป็นความขัดแย้งในหมู่ศาสนิกชน เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป และสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
กรธ. นัด สนช. 24 ส.ค. นี้ หารือความชัดเจนประเด็นคำถามพ่วง ส.ว. ชุดใหม่ เสนอชื่อนายกฯ 
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  ยืนยัน การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมีความสอดคล้องกับประเด็นคำถามพ่วงที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน จากการทำประชามติ  ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้ ประธาน กรธ. ไม่สามารถให้ความชัดเจนถึงภารกิจของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ หากเกิดกรณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่สามารถเลือกนายกจากบัญชีได้   เพราะต้องรอความชัดเจนที่จะหารือกับ สนช. อีกครั้งในวันที่ 24 สิงหาคม นี้ โดย กรธ. จะเปิดร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้ว  พร้อมคำชี้แจงเหตุผลซึ่งจะเขียนไว้ชัดเจน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปกังวล ซึ่ง กรธ. พร้อมรับฟังคำวิจารณ์ แต่ส่วนจะเขียนอย่างไรนั้นเป็นความรับผิดชอบของกรธ.
 
 
ประธาน สนช. ระบุ ส.ว. มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กรธ. พิจารณา
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวชี้แจงว่า การตีความคำถามพ่วงประชามติไม่ได้เกินเลยจากที่ถามประชาชน ไม่ได้หลอกลวง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง ซึ่งในคำถามนั้น ระบุถึง การให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น หมายถึง การมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการแรก ไม่ใช่แค่ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบเท่านั้น ซึ่งต้องไม่ให้กระทบกับบทหลักของร่างรัฐธรรมนูญ ที่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ต้องมาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
 
 
23 สิงหาคม 2559 
 
เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ยื่น สนช. – กรธ. แก้-ยกเลิก ม.178 ร่างรธน. ชี้ ทำประเทศสุ่มเสี่ยงเสียดินแดน
 
เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ยื่นหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขอให้พิจารณา เรื่อง การผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ มีเจตนาละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะ มาตรา 178 ที่ระบุว่า การพิจารณาเกี่ยวกับสัญญาที่เกี่ยวกับอาณาเขตไทย หรือสัญญาระหว่างประเทศ หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบนั้น ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน อาณาเขตประเทศไทย และความมั่นคงของรัฐ จึงขอเรียกร้อง สนช และ กรธ. พิจารณาหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง หรือแจ้งไปยังรัฐบาลให้ใช้มาตรา 44 เพื่อยกเลิก หรือแก้ไขโดยด่วน เพื่อให้บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม และรักษาอธิปไตยของประเทศได้อย่างแท้จริง
 
 
24 สิงหาคม 2559
 
สปท. เสนอ จัดระบบสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ชี้ ส.ส. และพรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชน 
 
เสรี สุวรรณภานนท์ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ข้อเสนอร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และพรรคการเมือง  ต้องเน้นการปฏิรูปการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม ป้องกันการซื้อสิทธิ ขายเสียง และให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน นอกจากนี้ เสรียังเสนอให้จัดระบบสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาจัดเก็บข้อมูลของสมาชิกพรรคการเมือง โดยให้ผู้ที่ประสงค์ยังคงความเป็นสมาชิกให้ยืนยันด้วยการสมัครใหม่ โดยที่หัวพรรคการเมืองยังอยู่ (set zero) เฉพาะสมาชิกพรรคการเมือง และระบบนี้จะแก้ปัญหาการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำ เพราะจะสามารถตรวจสอบได้ และยังเสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมสมาชิกไม่เกินคนละ 200 บาท 
 
ทั้งนี้ 30 สิงหาคม 2559 จะมีการเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกฎหมาย 4 ฉบับ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ข้อเสนอกฎหมายฉบับใดเสร็จสมบูรณ์ก่อน จะส่งให้ กรธ.พิจารณาก่อนทันที
 
 
มีชัย ได้ข้อสรุปแก้ร่าง รธน. ให้สอดคล้องคำถามพ่วง 
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ โดยได้ข้อสรุปเป็นหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และหลังจากนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไม่เข้ามาชี้แจงเพิ่มเติม ส่วนกรณีมีกระแสข่าวนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สามารถเสนอชื่อและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ได้หมายความเช่นนั้น  เพียงแต่พูดว่า ให้ ส.ว. มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีได้ตามหลักการของคำถามพ่วงประชามติ ส่วนกรณีที่ สนช. เตรียมพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อขยายสัดส่วนสมาชิก สนช. จาก 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คน โดยยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติเพราะตามร่างได้กำหนดให้ สนช. ที่ได้รับแต่งตั้งก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ส.ว. ชุดใหม่
 
 
กรธ. มีมติ แก้ ม. 272 ให้ ส.ส. เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น 
 
นรชิต สิงหเสนี และ อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยผลการพิจารณาปรับแก้บทเฉพาะกาล ให้ ที่ประชุม กรธ. มีมติไม่ให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี อีกทั้งปรับแก้ มาตรา 272 ให้ระหว่าง 5 ปีแรก นับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีพรรคการเมือง มาตรา 88 ตลอดจน ให้ที่ประชุมร่วมกับรัฐสภาลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
 
 
25 สิงหาคม 2559
 
สมาพันธ์ดิจิทัลไทย แสดงจุดยืน ค้าน ม. 20(4) ร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ขัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
 
ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รับยื่นหนังสือจากชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาพันธ์ดิจทัลไทย พร้อมด้วยผู้แทนสมาคม และชมรมด้านดิจิทัล 9 องค์กร ที่ยื่นหนังสือ เพราะไม่เห็นด้วยกับ มาตรา 20 วรรค 4 ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ที่ให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ สามารถยื่นคำร้อง พร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล ให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบ หากเห็นว่ามีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าข้อมูลนั้นจะไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่น โดยด้าน สมาพันธ์ดิจิทัลไทย มีความเห็นว่า บทบัญญัติ ดังกล่าว มีหลักการขัดต่อสิทธิเสรีภาพ สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
 
 
สปท. ยืนยัน การปรับปรุงเทศบาลและอบต.รูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ  ไม่ได้ยุบ อบต.
 
วัลลภ พริ้งพงษ์ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวยืนยันว่า การปรับปรุงเทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยยกฐานะ อบต.เป็นเทศบาลและจัดลำดับชั้นออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร มีหน้าที่จัดทำบริการและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น มีความเป็นอิสระ มีหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะของตนเอง จึงไม่ได้ยุบ อบต. แต่เป็นการยกฐานะ อบต. และปรับปรุงองค์กรท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานและการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเนื้อหาของร่างกฎหมายยังสามารถปรับปรุงได้ โดยภาคประชาชนสามารถเสนอความเห็นได้ด้วย
 
 
สนช. ยืนยัน เคารพมติของ กรธ. หลังแก้บทเฉพาะกาล ส.ว. ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายก
 
สมชาย  แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันว่า สนช. เคารพมติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ปรับแก้บทเฉพาะกาล มาตรา 272 โดยไม่ให้สิทธิ์สมาชิกวุฒิสภาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีทุกกรณี เพราะจะแก้ไขอย่างไรนั้น เป็นอำนาจของ กรธ. จะพิจารณา และสุดท้ายการวินิจฉัยจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องมุมมองที่แตกต่าง และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันแต่อย่างใด และส่วนตัวเห็นว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็สอดคล้องกับคำถามพ่วงแล้ว สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า สนช. จะไม่นำเสนอความเห็นไปยัง กรธ. แล้ว แต่จะดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวกับการตั้งคำถามพ่วงทั้งหมด ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญส่งหนังสือให้เข้าชี้แจง ทางสนช. ก็พร้อมดำเนินการทันที
 
ที่มา: ประชาไท
 
26 สิงหาคม 2559
 
คณะรัฐบุคคล ขอ คสช. ใช้ ม. 44 จี้ กรธ. บัญญัติชัด ใน ม.8 ร่าง รธน. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศไทย
 
ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับยื่นหนังสือจาก เกรียงศักดิ์ เหล็กกล้า ผู้ประสานงานคณะรัฐบุคคล (ครบ.) และผู้แทน พล.อ.สายหยุด  เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและประธานคณะรัฐบุคคล เรื่อง ขอให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งคณะรัฐบุคคลขอให้หัวหน้า
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งการแก้ไข ด้วยการบัญญัติไว้ให้ชัดเจน ในมาตรา 8 ว่า “พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศและทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย รัฐและหน่วยงานของรัฐ มีชื่อและปฏิบัติภายใต้พระปรมาภิไธย” เพื่อให้เกิดความมั่นคงของประเทศอย่างถาวร หลังพบว่า ยังไม่มีมาตราใดกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศไทย 
 
 
ประธาน สนช. ยืนยันเพิ่มจำนวนสมาชิก สนช. จาก 220 เป็น 250 ไม่เกี่ยวเปิดทางนายกทหารเกษียณอายุราชการ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ปรับเพิ่มสัดส่วนของ สมาชิก สนช. อีก 30 คน จาก 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คนนั้น เป็นไปด้วยความเหมาะสม แบ่งเบาภารกิจ  อีกทั้ง การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ ที่ค้างอยู่อีกจำนวนมาก  รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับที่ต้องพิจารณาในเงื่อนเวลาที่จำกัด พร้อมปฏิเสธว่า การแต่งตั้ง สนช. ครั้งนี้ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อรองรับนายทหารอีกหลายคนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม พรเพชร  ยอมรับว่า ในจำนวน 30 คนนี้ จะมีทหารเข้ามาทำหน้าที่จำนวนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา ใน สนช.ทหาร มีบทบาทสำคัญ ทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์  แต่ทั้งนี้ การจะแต่งตั้งผู้เข้ามาทำหน้าที่เป็นอำนาจของ คสช. ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะพิจารณาด้วยความเหมาะสม