NAL Weekly (27 ส.ค.-2 ก.ย.59): กกต. ร่างกฎหมายลูกเสร็จแล้ว เน้นตั้งพรรคการเมืองยาก ด้าน สนช. พร้อมแจง ศาลรธน.คำถามพ่วง

NAL Weekly (27 ส.ค.-2 ก.ย.59): กกต. ร่างกฎหมายลูกเสร็จแล้ว เน้นตั้งพรรคการเมืองยาก ด้าน สนช. พร้อมแจง ศาลรธน.คำถามพ่วง

เมื่อ 4 ก.ย. 2559
27 สิงหาคม 2559
 
กกต. เผยร่างกฎหมายลูกเสร็จแล้ว 2 ฉบับ เน้นจัดตั้งพรรคการเมืองยาก
 
บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ กกต.และการเลือกตั้ง โดยล่าสุดเสร็จแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะทำให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ยากขึ้น และมีแนวทางป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง จากเดิมสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองก่อนแล้วค่อยหาสมาชิก ในครั้งนี้ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกให้ครบ 5,000 คน จากทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ จึงจะจัดตั้งพรรคการเมืองได้
 
 
29 สิงหาคม 2559
 
ประธาน สนช. ระบุ เตรียมพร้อมชี้แจง หากศาลรัฐธรรมนูญต้องการข้อมูลคำถามพ่วง
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า สนช. ได้จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคำถามพ่วงประชามติ อาทิ การอภิปราย การเสนอความเห็น รวมทั้งคำชี้แจงเจตนารมณ์ของการตั้งคำถามพ่วงประชามติ ไว้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สนช. ก็พร้อมชี้แจง ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เคยทำงานเกี่ยวกับศาลมาก่อน เห็นว่ากระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก่อนวินิจฉัย ส่วนการพิจารณาว่าจะให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่า หากศาลเรียกไปชี้แจง สนช. เพียงแต่แสดงเอกสารหลักฐานเท่านั้นไม่ได้เป็นการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ
 
 
30 สิงหาคม 2559
 
สนช. พร้อมสู้ หาก ศาลรธน. เรียกแจง ยืนยัน ส.ว. เลือกนายกฯ ได้!
 
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ขณะนี้ทางสนช.ได้เตรียมความพร้อมหากศาลรัฐธรรมนูญเรียกให้สนช.เข้าชี้แจงถึงเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เบื้องต้นคาดว่าจะมีสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่ 1 เป็นผู้นำในการชี้แจง โดยได้เตรียมเอกสารบันทึกการประชุมต่างๆที่ได้รวบรวม อาทิ ข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 16 คณะของสนช. รวมทั้งความเห็นของสภาขับเคลี่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่ส่งมาให้สนช.พิจารณา ทั้งนี้ยืนยันว่าคำถามพ่วงที่เสนอนั้นส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯได้ในก๊อกที่สอง หากส.ส.ไม่สามารถเลือกนายกฯกันเองได้ในรอบแรก เพราะสนช.กลัวว่าส.ส.จะเลือกกันเองไม่ได้ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ปรับแก้ จึงเสนอให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ในก๊อกสอง
 
 
ครม.เห็นชอบกฎหมายกลาง กำหนดมาตรฐานจ่ายเยียวยาเหยื่อชุมนุมการเมือง
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556-2557 ว่า วันนี้เป็นการติดตามการจ่ายเงินเยียวยาในส่วนที่สามารถจ่ายได้ ส่วนที่จ่ายไม่ได้เพราะคดีความยังติดอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เสนอให้ทำกฎหมายกลางกำหนดมาตรฐานการจ่ายเงินเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ทั้งในส่วนของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ต้นเหตุ ซึ่งดีกว่าการออกระเบียบเพราะเป็นกฎหมายถาวร และสามารถกำหนดวงเงินได้ชัดเจน แต่ระเบียบจะกำหนดเงินเยียวยาสำหรับบุคคลเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่สามารถหาที่มาของเงินเยียวยาที่จะมาใช้จ่ายได้ 
 
ดังนั้นการจัดทำเป็น พ.ร.บ. จึงเป็นเรื่องง่ายกว่า โดยซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการที่ กสม.เสนอเรียบร้อยแล้ว และมอบหมายกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจผนวกรวมเข้ากับกองทุนยุติธรรมหรือขยายขอบเขตกฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือทำขึ้นใหม่ก็ได้ แต่ในระหว่างที่ พ.ร.บ.ยังไม่เสร็จจะออกเป็นระเบียบใช้แทนไปก่อน
 
 
31 สิงหาคม 2559
 
ประธาน กสม. แจงร่างกฎหมายลูกต่อ กรธ. เน้นปรับคณะกรรมสรรหาใหม่
 
วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยภายหลังชี้แจงร่างเบื้องต้นของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ว่า ข้อเสนอของกสม. ผ่านร่างตุ๊กตาที่เสนอให้กรธ.เป็นเรื่องของโครงสร้าง อำนาจหน้าที่  วิธีการทำงานขององค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่เกี่ยวข้องกับกสม. มาตรการเร่งด่วนกรณีผู้ถูกควบคุมตัวหากมีปัญหากระทบสิทธิมนุษยชน เช่น เจ็บป่วย ต้องให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น  เป็นต้น  ซึ่งมีตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้  แต่ข้อเสนอเหล่านี้ขึ้นกับว่ากรธ. จะเห็นด้วยหรือไม่ กรณีของการลดสถานะของกสม.ประเทศไทยจาก A เป็น B ซึ่งได้ปรับเงื่อนไขเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์แล้ว เช่น กำหนดรายละเอียดการสรรหากสม. ที่ชัดเจน โดยประกาศล่วงหน้าและมีตัวแทนเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามีส่วนร่วมสรรหาด้วย  ซึ่งเราจดทะเบียนเอ็นจีโอโอเหล่านี้ที่ขึ้นกับ กสม.พร้อมรองรับอยู่แล้ว โดยกำหนดวิธีการคัดเลือกสรรหากันเองให้ได้ตัวแทนมาทำหน้าที่ร่วมสรรหา
 
 
1 กันยายน 2559
 
สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ป้องกันผู้มีอิทธิพล
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นควรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 169 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง 
 
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องปรับปรุง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้มา 84 ปี ยังไม่เคยมีการปรับปรุง ทำให้ตัวบทกฎหมายและมาตรการทางอาญาไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนไป รวมถึงปัจจุบันมีการแสวงหาผลประโยชน์จากการให้กู้ยืมโดยเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูง กระทำเป็นเครือข่าย ปกปิดวิธีการดำเนินการโดยผู้มีอิทธิพล องค์กรอาชญากรรม อาศัยธุรกิจบังหน้าในรูปแบบต่างๆ ที่มีพฤติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
 
โดยสาระสำคัญคือ กำหนดความผิดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราให้ชัดเจน กำหนดความผิดที่มีลักษณะฉกรรจ์ กำหนดอัตราโทษให้สูงขึ้น กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดมีโทษสูงขึ้น นำมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาบังคับใช้ กำหนดความผิดผู้ที่ถือเอาหรือใช้ประโยชน์จากสิทธิเรียกร้องที่ได้มาจากการกระทำผิด และกำหนดให้ รมต.ยุติธรรมเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้
 
 
กรธ.มีอุปสรรคต้องส่งร่าง รธน. ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถึง 3 ครั้ง ยืนยัน ทำทุกอย่างถูกต้อง
 
นรชิต สิงหเสนี  และ อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) แถลงข่าวชี้แจงสื่อมวลชนกรณีส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถึง 3 ครั้ง โดยที่ล่าสุดร่างรัฐธรรมนูญถูกตีกลับ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือถึง กรธ. ให้ดำเนินการทำใบมอบฉันทะเพื่อมอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแทนด้วยนั้น โฆษก กรธ.  ได้ยืนยันเช่นเดียวกับมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. ว่า ไม่ใช่ความผิดพลาดของ กรธ. และย้ำว่า ไม่ใช่การยื่นคำร้องจึงไม่ต้องจัดทำเป็นคำร้อง  แต่เป็นการส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนด 
 
 
กกต.ระบุ กฎหมายลูก 4 ฉบับเสร็จแล้ว
 
ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้อง ความเชื่อมโยงแต่ละมาตรา ความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และจะทยอยให้กกต.พิจารณา ส่วนจะส่งกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้เมื่อใด ไม่สามารถตอบได้ แต่พยายามเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้
 
 
2 กันยายน 2559
 
กรธ.เริ่มพิจารณากฎหมายคณะกรรมการสิทธิฯ ก่อน
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ.กล่าวว่า ในการประชุม กรธ. 2 กันยายนนี้ กรธ.จะเริ่มดูร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แล้ว ซึ่งองค์กรไหนส่งมาก่อนก็ดูก่อน ทางเราคงไม่ไปกำหนดเดตไลน์ในการส่ง เพราะแต่ละคนก็รู้ว่า กรธ.มีเวลาเท่าไหร่ ถ้าใครส่งมาช้าทาง กรธ.ก็จะทำเอง และถ้าหน่วยงานใดส่งมาเราก็จะนำมาดูเพิ่มเติม ซึ่ง กรธ.จะทยอยทำร่าง พ.ร.บ.เพื่อส่งต่อให้กับ สนช.ที่ต้องทำให้เสร็จตามกฎหมายกำหนดภายใน 60 วัน
 
 
สปท.แจงชงทหารคุมเลือกตั้งจับซื้อเสียง สู่ยุคมหาดไทยจัดเลือกตั้งแทนกกต.
 
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ข้อเสนอของ สปท.เรื่องการให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดำเนินการจัดการเลือกตั้งนั้น หมายถึงการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติในการจัดการเลือกตั้ง เช่น การใช้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยมาประจำหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศแทน กกต. รวมถึงเรื่องอื่นที่ กกต.จะมอบหมายให้ปฏิบัติ ส่วนการวินิจฉัยให้ใบเหลือง ใบแดง ยังเป็นของ กกต.เช่นเดิม เพื่อบริหารจัดการอำนาจให้มีประสิทธิภาพ ส่วนข้อเสนอบทเฉพาะกาลที่ให้ คสช.ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ กกต.ในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น หมายถึงการให้ คสช.มีหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง คอยสอดส่องดูแลไม่ให้มีการทุจริตซื้อเสียง โดยใช้กำลังทหารเข้ามาช่วยตรวจจับการซื้อเสียง เพื่อไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งให้เข้าไปช่วยงานตามที่ กกต.ร้องขอมา แต่ไม่ถึงขั้นที่ คสช.จะมีอำนาจเหนือ กกต.ในการจัดเลือกตั้ง หรือจะเข้ามามีส่วนร่วมวินิจฉัยคดีทุจริตเลือกตั้งร่วมกับ กกต.
 
 
ศาลรธน.แย้ม อาจใช้เวลาพิจารณาคำถามพ่วงไม่ถึง30วัน
 
ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า การพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติประเด็นเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย จึงเป็นไปได้ว่าการประชุมในวันที่ 7 กันยายนนี้ หากที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับคำร้องไว้พิจารณา ทางตุลาการก็สามารถเริ่มอภิปรายได้ทันที และอาจมีการประชุมเพื่ออภิปรายอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เชื่อว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่ถึง 30 วัน