6 กันยายน 2559
รองประธาน สนช. มั่นใจ พิจารณากฎหมายลูกทันตามกรอบเวลา มีอำนาจแก้ไขกฎหมายลูก
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ( สนช). เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนช. ได้เตรียมความพร้อมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก โดยให้คณะกรรมาธิการสามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและไปศึกษารายละเอียดตามร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ศึกษาจากกฎหมายฉบับเดิมที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ
จากนั้นจะแบ่งหน้าที่ให้กรรมาธิการสามัญทั้ง 16 คณะของสนช. ไปศึกษาพิจารณาก่อนที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเสนอมา เพื่อให้การดำเนินงานเสร็จทันตามกรอบเวลา พร้อมยืนยันสนช. จะไม่เสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างกฎหมายลูกไปยัง กรธ. แต่จะรวบรวมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ไว้ประกอบการพิจารณา เมื่อร่างกฎหมายเข้าสภา ซึ่ง สนช. มีอำนาจในการแก้ไขตามกระบวนการพิจารณากฎหมายปกติ
7 กันยายน 2559
“มีชัย” ยืนยัน รับฟังความเห็นทุกฝ่ายก่อนยกร่างกฎหมายลูก ชี้ กกต. มอบหมายมหาดไทยช่วยจัดเลือกตั้งได้
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า การร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก กรธ. ไม่ปิดกั้นข้อเสนอจากพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงข้อเสนอของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่ให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง ภายใต้การควบคุมดูแลของ กกต. ด้วย ส่วนข้อกังวลเรื่องคำนิยามในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีมีกระแสวิจารณ์ว่าขัดต่อศีลธรรมและยังไม่ชัดเจนนั้น เห็นว่าไม่มีปัญหา เพราะศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย โดยผู้ที่เสียหายสามารถร้องต่อศาลได้
ศาลรัฐธรรมนูญรับร่างแก้ไข รธน. ตามคำถามพ่วงไว้พิจารณาแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณากรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 พ.ศ.2558 มาตรา 37/1
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีคำสั่งรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลเห็นสมควรมีหนังสือขอความเห็น และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม จากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้จัดส่งต่อศาลภายในวันจันทร์ที่ 12 กันยายน นี้
8 กันยายน 2559
สนช. กฎหมายงบประมาณปี 60 วงเงิน 2.7ล้านล้าน ผ่าน 3 วาระรวด ใน 2 ชั่วโมงครึ่ง
ที่ประชุม สนช. ใช้เวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ซึ่งมีวงเงิน 2,733,000 ล้านบาท ประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที และท้ายที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยมติ 183 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 คะแนน และให้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป โดยมีสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นเพียง 2 คน คือ นายสมชาย แสวงการ และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
กกต. เข้าพบ กรธ. ชี้แจง ประเด็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้า พบ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่รัฐสภา เพื่ออธิบาย ที่มาแนวคิด การยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ด้าน มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการ เชิญ กกต. มาพบในวันนี้ เพื่อขอรับทราบ ข้อมูล มาประกอบการพิจารณา ส่วนประเด็น ที่กำหนดในกฎหมายลูก ให้พรรคการเมือง ต้องส่งข้อมูลการวิเคราะห์นโยบายหาเสียง ให้ กกต.ก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด นั้นยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ส่วนตัวเห็นว่า คงจะไม่ถึงขั้นที่จะต้องลงโทษพรรคการเมือง หากดำเนินนโยบายตามที่แถลงไว้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะโดนทั้งหมด
ส่วนแนวทางให้มีการตั้งพรรคการเมือง ยากขึ้นนั้น ส่วนตัวเห็นว่า หากตั้งพรรคการเมืองยากไป ก็อาจจะทำให้ ผู้ที่จะตั้งพรรคทำได้ลำบาก แต่หากตั้งง่ายเกินไป อาจเป็นการเปิดช่องให้ ผู้ที่ไม่คิดทำงานการเมืองอย่างจริงจัง เข้ามาตั้งพรรคเพื่อมุ่งเพียงแต่ต้องการเงินจาก กกต. เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องกำหนดแนวทาง ให้พอดี เป็นกลาง
กกต. แจงกรธ. ถึง 3 หลักการออกแบบกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงผลการหารือกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า
กกต.ได้ออกแบบภายใต้หลักการ 3ข้อ คือ ทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง โดยให้สมาชิกพรรคเสียค่าบำรุงพรรค ส่วนกระบวนการเลือกส.ส.ต้องมีคุณภาพ ปราศจากนายทุนชี้นำ โดยการให้แต่ละสาขาของพรรคประชุมเพื่อหาตัวแทนที่มีคุณภาพโดยที่ประชาชนมีส่วนในการหาผู้สมัคร และทำให้นโยบายของพรรคการเมืองเป็นประโยชน์ ทำได้จริง ไม่มีผลเสียต่อประเทศ ด้วยการแจกแจงแหล่งที่มางบประมาณ ความคุ้มค่า ระยะเวลาดำเนินการ หากแจกแจงเรื่องดังกล่าวไม่ได้ก็ไม่สามารถนำเอานโยบายไปชี้แจงต่อประชาชนได้
ทั้งนี้ สมชัย กล่าวว่า กรธ.ได้แสดงความเป็นห่วงหลักการของกกต.ที่อาจมีความตึงหรือหย่อนเกินไป ทั้งนี้ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อไปจะรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงจากพรรคการเมืองด้วย กกต.อยากเตือนกรธ.ว่าต้องฟังหูไว้หู เพราะพรรคการเมืองมีส่วนได้เสียจากการเลือกตั้งโดยตรง อีกทั้งพรรคการเมืองมักปฏิเสธสิ่งที่เสียประโยชน์ รับแต่สิ่งที่ได้ประโยชน์
ส่วน ร่างกฎหมายลูกที่เหลืออีก 3 ฉบับว่า กกต.จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ กรธ.ในวันที่ 13กันยายนนี้ ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะนำส่งให้ กรธ.ในวันที่ 20 กันยายนนี้ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จะนำส่งให้ กรธ.ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ซึ่งหาก กรธ.จะให้ กกต.เข้ามาชี้แจงก็พร้อมที่จะเข้ามาให้ความเห็น
9 กันยายน 2559
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเห็นด้วย 141 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน โดยเหตุผลในการตรากฎหมายก็คือ การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ทั้งนี้ สมาชิก สนช. ได้ให้ความสนใจอภิปรายต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมฝากข้อสังเกตและข้อเสนอแนะอย่างหลากหลาย อาทิ ต้องการให้ยกเลิกการจ้างบริษัทเอกชนเพื่อติดตามทวงหนี้ ผู้กู้ควรได้รับความคุ้มครองในเรื่องข้อมูลข่าวสารซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมกองทุนให้ครอบคลุม เพื่อให้การวางนโยบายประสบความสำเร็จควรเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการกองทุนในส่วนของผู้แทนจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและภาคเอกชน หลักเกณฑ์การสร้างวินัยการคืนทุนให้แก่ผู้กู้ยืม การโอนเงินต้องมีความคล่องตัวและทันต่อความต้องการของผู้กู้ พร้อมย้ำว่า การบริหารกองทุนจะต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญของ กยศ. และ กรอ. ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โดยการสร้างโอกาสทางการศึกษา
มาตรา 44 ออกใหม่ 2 ฉบับ เรื่องปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการแต่งตั้งข้าราชการ
หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 53/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ 3 โดยมีใจความสำคัญว่า
เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงพาณิชย์ที่ไม่มีทะเบียนเรือ หรือมีทะเบียนเรือ แต่ไม่มีใบอนุญาตทําการประมง ต้องแจ้งจุดจอดเรือ โดยระบุสถานที่จอดเรือให้ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ในเขตที่จะจอดเรือภายใน 15 วัน ให้กรมเจ้าท่ามีอํานาจออกประกาศงดการจดทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมงเป็นการชั่วคราวได้ และห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงขนถ่ายคนประจําเรือระหว่างนําเรือออกไปทําการประมง เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือ หรือมีปัญหาข้อพิพาท
ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคนประจําเรือหนึ่งคน, บรรดาความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10, 24 และ 42/2558 ให้อธิบดีกรมประมงหรืออธิบดีกรมเจ้าท่าแล้วแต่กรณี
มีอํานาจเปรียบเทียบได้
และเรื่อง ฉบับที่ 54/2559 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตํารวจ และการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ มีสาระสำคัญว่า เพื่อการปรับปรุงการบริหารโรงเรียนนายร้อยตำรวจและเนื่องจากกรรมการใกล้ครบวาระสี่ปีแล้ว เพื่อให้การดำเนินการต่อเนื่องจึงมีคำสั่งที่สำคัญ