NLA Weekly (10-16 ก.ย.59): หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร

NLA Weekly (10-16 ก.ย.59): หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหาร

เมื่อ 19 ก.ย. 2559
12 กันยายน 2559 
 
ยกเลิกการขึ้นศาลทหารโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 

 
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศที่ 55/2559 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เรื่อง เรื่อง การดําเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอํานาจศาลทหาร โดยมีใจความสำคัญคือ ให้การกระทำความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 38/2557 และ 50/2557 กลับไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมคดีที่ยังพิจารณาอยู่ในศาลทหาร 
 
ทั้งนี้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 38/2557 และ 50/2557 ระบุว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 และคดีที่มีความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าวเหล่านี้ต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นทหารหรือไม่ก็ตาม
 
 
คืบหน้า พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เน้นสมาชิกพรรคมีส่วนร่วม  ส่วนการตรวจสอบพรรคยังไม่ชัด
 
โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยหลักการของร่างที่ กกต.เสนอต่อ กรธ.นั้นมีความสอดคล้องกัน เช่น การตั้งพรรคการเมืองนั้นต้องมีความพอดี ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป ประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของพรรคมากขึ้น ส่วนประเด็นการตรวจสอบกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอภิปรายกันในวงกว้างก่อนที่จะกำหนดบทบัญญัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง
 
 
13 กันยายน 2559 
 
หัวหน้า คสช. ใช้ ม. 44 บังคับเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยมีใจความสำคัญให้ กรมบังคับคดี เรียกค่าสินไหมทดแทนคดีจำนำข้าว โดยเน้นโครงการข้าวเปลือกของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 พ่วง “โครงการแทรกแซงมันสําปะหลังของรัฐ” ตั้งแต่ปีการผลิต 51/52 จนถึงปีการผลิต 55/56 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 พร้อมสั่งระบายข้าว-มันสําปะหลัง-ข้าวโพดจากโกดังรัฐ พร้อมกับให้คุ้มครองทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ 
 
 
สนช. ส่งเอกสารให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาประเด็น แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง
 
เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (โฆษกวิป สนช.) กล่าวถึงประเด็นการส่งเอกสารให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ว่าส่งเอกสารเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นเอกสารที่รวบรวมมาตั้งแต่ครั้งที่ทางคณะกรรมาธิการศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้มีการศึกษา รวมทั้งบันทึกการประชุม ซึ่งจากนี้เป็นกระบวนการในการพิจารณาของศาลต่อไป 
 
 
กรธ. ระบุ แม้คดีเลือกตั้งไม่ขึ้นศาลปกครอง ศาลอื่นก็พิจารณาแทนได้
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวถึงกรณีที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเสนอไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า กกต.อาจจะต้องการให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะไม่เข้าสู่กระบวนการของศาลปกครอง แต่ก็ยังมีศาลอื่นที่จะพิจารณาคดี และอาจมีโทษหนักกว่า 
 
 
15 กันยายน 2559 
 
หัวหน้า คสช. ใช้ ม. 44 ออกคำสั่งแก้ปัญหาไฟใต้
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้มีความคล่องตัว โดยให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปฏิบัติหน้าที่โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เป็นฝ่ายบูรณาการแปลงนโยบายไปสู่ขั้นปฏิบัติในพื้นที่ และเปิดทางให้นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้แทนพิเศษ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลและหน่วยราชการในพื้นที่ โดยให้บุคคลดังกล่าวเป็นหนึ่งใน คปต. และได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้แทนหอการค้า หรือผู้ช่วยรัฐมนตรี และให้ตั้งสำนักงาน คปต.ในพื้นที่ด้วย 
 
 
 
หัวหน้า คสช. ใช้ ม. 44 แก้ไขปัญหาผู้ประกันตนพิการ ได้สิทธิบัตรทอง 
 
เว็บไซต์ราชกิจนุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 58/2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม เพื่อให้ผู้พิการตามสิทธิประกันสังคมได้รับบริการสาธารณสุขตามสิทธิบัตรทอง ส่วนค่าใช้จ่ายให้เบิกตามเกณฑ์ของกองทุนประกันสังคม 
 
 
สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตไว้พิจารณา
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่...) พ.ศ.... (การจัดทำแบบจำลองด้านเครดิต) ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแบบจำลองด้านเครดิตของบริษัทที่ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต และการใช้ประโยชน์แบบจำลองด้านเครดิต โดยให้บริษัทสามารถนำข้อมูลของลูกค้า เฉพาะส่วนที่ไม่สามารถระบุตัวของเจ้าของข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแบบจำลองด้านเครดิต เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ การออกบัตรเครดิต และการบริหารความเสี่ยงได้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการสินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพในการชำระคืนหนี้ และมีผลต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน
 
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
 
สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ.... (มาตรการปรับปรุงการยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน) ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 165 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ  7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 30  วัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับ การจัดเก็บภาษีการรับมรดก  โดยแก้ไขมาตรา 42 (26) แห่งประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับจำนวนบุตรสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
 
 
16 กันยายน 2559 
 
มติ สนช. ถอดถอน 'สุกำพล สุวรรณทัต' พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี 
 
การประชุมสภา สนช. มีมติถอดถอน พล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเรื่องการก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมในปี 2555 ขัดโครงสร้างการบริหาร ไม่เป็นไปตามกฎหมายการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ซึ่ง สนช.ได้มีมติถอดถอนด้วยเสียง 159 ต่อ 27 ไม่ออกเสียง 1 เสียง และมีบัตรเสีย 1 ใบ 
 
ทั้งนี้แม้ พล.อ.อ.สุกำพล จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว แต่ยังส่งผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และจากนี้ สนช. จะส่งผลการลงมติดังกล่าวไปยัง พล.อ.อ.สุกำพล ป.ป.ช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง