แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ จะยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่การร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบร่างกฎหมายเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางให้ กรธ. ปรับปรุงแก้ไข
ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ) เป็นหนึ่งในกฎหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งร่างให้กับกรธ. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ให้คำอธิบายร่างกฎหมายอย่างกระชับๆ ว่า ฉบับ "4 ปฏิรูป" ปฏิรูปการรับสมัคร การหาเสียง การใช้สิทธิ และการประกาศผล
ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ฉบับนี้ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย กรธ. ยังคงต้องแก้ไขพร้อมกับรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบในท้ายที่สุด
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนดังกล่าว เราจะพาไปดูเนื้อหาสำคัญของร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ฉบับกกต. และข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ที่หลายฝ่ายเสนอมาก่อนหน้านี้มีอะไรบ้าง
อำนาจ กกต.ปราบทุจริตเลือกตั้งมาก กระทบการตรวจสอบถ่วงดุล
ในร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ประเด็นอำนาจในการปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งของกกต. เป็นที่ถกเถียงอย่างมาก เพราะกกต.จะมีอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะอำนาจยับยั้งการเลือกตั้ง และตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันการตรวจสอบถ่วงดุลกลับลดลง ในข้อเสนอของกกต.ที่เรียกว่าการปฏิรูปการประกาศผลมีสาระสำคัญประกอบไปด้วย
1. การแจก “ใบเหลือง” คือ ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง หากกกต.พบว่ามีเหตุสงสัยว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง แต่ไม่เชื่อมโยงผู้สมัครรายใด หรือมีการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย กกต.แต่ละคนมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้
2. การแจก “ใบส้ม” คือ ก่อนประกาศผล หากกกต.พบว่ามีหลักฐานการทุจริตการเลือกตั้งโดยเชื่อมโยงกับผู้สมัคร กกต. มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสามารถนำผู้สมัครคนนั้นออกจากการเลือกตั้งหรือสั่งระงับสิทธิรับสมัครได้เป็นเวลาหนึ่งปี โดยมติ กกต. ถือเป็นที่สุด
กรณีนี้ใบส้ม ถูกวิจารณ์ว่า การให้อำนาจกกต.สั่งระงับสิทธิรับสมัครเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้มติ กกต.ถือเป็นที่สุดนั้น ส่งผลให้ กกต.มีอำนาจมากเกินไป ผู้สมัครไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ไม่มีหน่วยงานอื่นมาคอยช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจของกกต.
3. การแจก “ใบแดง” คือ หลังการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ถ้ากกต.มีหลักฐานว่ามีผู้สมัครทุจริตการเลือกตั้ง สามารถเสนอให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบปี
4. การแจก “ใบดำ” คือ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (11) กำหนดว่า ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าทุจริตเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เนื่องจาก
กกต.เห็นว่า ยังมีความไม่ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะให้หมายถึงความผิดลักษณะใดบ้าง จึงยังไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้
การลงโทษให้ใบดำตัดโดยสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการประหารชีวิตในทางการเมือง หมายความว่าบุคคลนั้นจะเสียสิทธิในทางการเมืองไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงเพราะเป็นการกันบุคคลนั้นออกไปจากการมีสิทธิมีเสียงในทางการเมือง
สำหรับข้อเสนอที่น่าสนใจในประเด็นนี้ คือ การตัดสิทธิผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม กกต.ทั้งห้าคน ควรต้องเห็นพ้องต้องกัน และทำหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้เสนอต่อศาลเท่านั้น ส่วนการตัดสินควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่กระทำความผิดได้ชี้แจงแสดงเหตุผลและหลักฐานของตนต่อศาลศาล เพราะว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนด้วย อำนาจการตัดสินใจต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่าง กกต.กับศาล
เพิ่มหน้าที่ กกต. คุมการหาเสียงให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น
ประเด็นการหาเสียง เป็นประเด็นที่มีการเสนอกันหลากหลายฝ่าย สำหรับในร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ของกกต. กำหนดเป็นหลักปฏิบัติกว้างๆ เช่น
1. ห้ามไม่ให้เผยแพร่หรือแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณาหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
2. ให้กกต.กำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมืองรวมถึงจำนวนผู้ช่วยหาเสียง
3. ห้ามไม่ให้ติดป้ายหาเสียงในสถานซึ่งเป็นของรัฐหรือเอกชน โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หรือกระทำกิจการอื่นที่กกต.กำหนดให้รัฐสนับสนุน
4. ห้ามไม่ให้ทำป้ายหาเสียงที่มีขนาดหรือจำนวนไม่เป็นไปตามที่กกต.กำหนด
โดยกรณีเหล่านี้ กกต.บอกถึง
รายละเอียดเบื้องต้นว่า ในการหาเสียงจะกำหนดขนาด จำนวนป้ายหาเสียง สถานที่ติดป้าย โดยเบื้องต้นป้ายหาเสียงกำหนดขนาดไว้ 60×60 ซม.ติดตั้ง 200 จุดต่อหนึ่งเขตเลือกตั้ง รวมทั้งประเทศ 70,000 จุด ซึ่งจะทำให้เป็นการเมืองต้นทุนต่ำ เพราะอาจจะลดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจากหนึ่งล้านห้าแสนบาทเหลือห้าแสนบาท
ในส่วนของการหาเสียง ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ มีส่วนคล้ายกับข้อเสนอของสปท. ที่ให้กำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งในการหาเสียง โดยให้รัฐสนับสนุนหรือช่วยเหลือการหาเสียงของผู้สมัคร เช่น การพิมพ์ป้ายโฆษณาหาเสียง การใช้ยานพาหนะ ขณะเดียวกันให้ กกต.จัดทำรวมเล่มข้อมูลผู้สมัครแจกผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกครัวเรือน
ด้าน ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ก็ได้เสนอไอเดียการหาเสียงเลือกตั้งแบบ
“ญี่ปุ่นโมเดล” โดยการหาเสียงแบบญี่ปุ่นนั้น กกต.จะเป็นคนกำหนดสถานที่กลางในการติดรูปและประวัติผู้สมัคร ส่วนผู้สมัครจะหาเสียงอนุญาตให้มีรถหาเสียงหนึ่งคัน และมีผู้ติดตามได้ห้าคน พร้อมไมค์หนึ่งชุด และต้องไปหาเสียงด้วยตัวเอง ระบบนี้ตอบโจทย์ คือ ไม่มีการหาเสียงให้วุ่นวาย ไม่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เป็นการสร้างความเท่าเทียม ให้ผู้สมัครที่เสียค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งน้อยที่สุด ไม่ต้องมีการแห่หรือจัดเวทีปราศรัย หรือใช้หัวคะแนนเคาะตามประตูบ้าน
อย่างไรก็ตาม โมเดลนี้ถูกมองจากทั้งนักวิชาการและนักการเมืองว่า
1. พรรคการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบนโยบายจะได้เปรียบ
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต เห็นว่าพรรคการเมืองที่อาศัยความภักดีและความคุ้นเคยของประชาชนต่อนโยบายพรรคจะได้เปรียบในการเลือกตั้ง เพราะการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอาจไม่มีความจำเป็นมากนัก ในข้อนี้พรรคเพื่อไทยจึงโอกาสได้เปรียบในการเลือกตั้ง เนื่องจากมีนโยบายที่ประชาชนคุ้นเคยและเป็นที่ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่มาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า
2. นักการเมืองหน้าเก่าจะได้เปรียบ มุมมองนี้มาจาก
อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ
พินิษฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้าไม่มีการรณรงค์หาเสียง นักการเมืองหน้าเก่าก็จะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาประชาชนอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ การที่ไม่มีโอกาสหาเสียงก็จะทำให้ประชาชนไม่รู้จักหน้า ความคิด วิสัยทัศน์ ประวัติ หรือผลงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญมี่จะช่วยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน
3. กกต.ขาคคุณภาพและความเป็นกลาง
อดิศร เนาวนนท์ มองว่า การให้กกต.เป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลการเลือกตั้งไปตามครัวเรือนต่างๆ หรือเป็นผู้จัดเวทีการในการหาเสียง ก็เท่ากับเป็นการกำหนดและจำกัดขอบเขตการเลือกตั้ง พรรคการเมืองไม่มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ สำหรับประสิทธิภาพในการเป็นตัวกลางของ กกต.ถ้าวัดจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา กกต.ก็มีปัญหาเรื่องการให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างไม่ทั่วถึงและเป็นธรรม
ให้แคนดิเดทนายกฯ ดีเบตนโยบายออกทีวี แต่ยังติดขัดถ้าเป็นนายกฯ คนนอก
ข้อกำหนดใหม่ที่ถูกพูดถึงกันมากในร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ คือ การให้อำนาจกกต.กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมดนำเสนอนโยบายต่อสาธารณะในรูปแบบการโต้วาที ในประเด็นนี้
กกต.อธิบาย ว่า จากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้ง ถ้าพรรคการเมืองส่งผู้สมัครประมาณ 175 เขตขึ้นไป ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้นต้องดีเบตนโยบายของพรรค ประมาณ 5-6 ครั้งผ่านสถานีโทรทัศน์
หลังข้อเสนอการจัดดีเบตออกมาก็
ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ควรนำมาบังคับในรูปของกฎหมาย เพราะการจะดีเบตหรือไม่ถือเป็นสิทธิของตัวผู้สมัคร ถ้าเลือกที่จะไม่ไปดีเบตนโยบายต่อสาธารณะก็จะเสียคะแนนไปเอง สิ่งเหล่านี้ควรให้เป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมทางการเมืองมากกว่า ทั้งนี้ไม่มีใครปฏิเสธหลักการดีเบต เพราะมีความสำคัญที่จะช่วยทำให้ประชาชนรับทราบนโยบายและความคิดของแคนดิเดตนายกฯ
เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มี “นายกฯคนนอก” ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งได้ จึงมีข้อสังเกตว่า ถ้ามีการจัดดีเบตแล้วนายกฯ คนนอกจะเอานโยบายที่ไหนไปดีเบต เพราะไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หรือถ้าถึงเวลาเลือกนายกฯ แล้วรัฐสภาไม่ได้เลือกนายกฯ จากพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งมากที่สุดการดีเบตก็จะไม่มีประโยชน์อะไร
ข้อเสนอที่แปลกและน่าสนใจ
สามประเด็นข้างต้นเป็นข้อเสนอที่มีการพูดถึงและวิจารณ์กันมาก นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ถูกนำเสนออีกจำนวนมากในช่วงที่ผ่าน ซึ่งหลายข้อเสนอดูจะพิสดารและแปลกใหม่และยากที่จะเอามาใช้ได้จริง เช่น
๐
เพิ่มค่ารับสมัคร ส.ส. กกต.เสนอในร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งฯ เพิ่มเงินค่าสมัคร ผู้สมัครส.ส.เขต เป็น 10,000 บาท จากเดิม 5,000 บาท กรณีผู้สมัครมีคะแนนเกินร้อยละห้า จะคืนเงินครึ่งหนึ่ง ดังนั้นผู้สมัครจะได้เงินคืนคือต้องได้คะแนน จำนวน 4,000 - 5,000 คะแนนขึ้นไป
๐
เสนอนโยบายพรรคต่อกกต.ก่อน กกต.เสนอว่า ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบาย โดยวิเคราะห์ที่มางบประมาณ ระยะเวลาในการดำเนินการ ประโยชน์ ความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยง ต่อ กกต. เพื่อให้ กกต.นำไปประกาศต่อสาธารณะ
๐
ยุบกกต.จังหวัด สปท.เสนอให้ยกเลิก กกต.จังหวัด เพื่อให้ กกต. มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงข้าราชการอื่นช่วยเหลือกกต. ระหว่างเวลาการเลือกตั้ง โดยมี กกต. เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
๐
ให้คสช.มีบทบาทสำคัญจัดการเลือกตั้ง สปท.เสนอว่า บทเฉพาะกาล ควรกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป ในปี 2560 คสช.ในฐานะผู้ทำรัฐประหารจะต้องมีบทบาทอย่างสำคัญ เพื่อป้องกันคำครหาว่าเป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลว จะต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ กกต.ในการควบคุมและดำเนินการการเลือกตั้ง