26 กันยายน 2559
กกต. ร่างกม.ลูก เลือกส.ว. คัดอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ชี้ป้องกันการบล็อกโหวต และการทุจริตได้
สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยในที่ประชุมว่า กกต.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยเรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยจะมีการคัดเลือก 3 ระดับ โดยการสมัครจะเริ่มที่ระดับอำเภอ โดยลงได้เพียงกลุ่มอาชีพเดียว การเลือกจะทำ 2 ขั้นตอน ขั้นแรกจะให้เลือกกันเองในกลุ่มๆ ละ 5 คนต่ออำเภอ ซึ่งก็จะได้ผู้สมัคร ส.ว.ใน 928 อำเภอ จาก 20 กลุ่ม รวม 92,800 คน จากนั้นจะให้ 5 คนแต่ละกลุ่มไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มให้เหลือกลุ่มละ 3 คน ก็จะเหลือผู้สมัคร ส.ว.ในระดับอำเภอ 55,680 คน
ต่อมา การเลือกในระดับจังหวัดก็จะนำผู้สมัครในระดับอำเภอที่เหลือ 55,680 คน จาก 20 กลุ่ม มาเลือกไขว้เช่นเดิม ให้เหลือกลุ่มอาชีพละ 1 คน เป็นผู้สมัคร ส.ว.ระดับจังหวัด ซึ่ง 77 จังหวัดก็จะได้ผู้สมัคร ส.ว.ระดับจังหวัด รวม 1,540 คน จากนั้นก็จะเข้าสู่การเลือกในระดับประเทศซึ่งจะมีการจัดประชุมผู้สมัคร ส.ว.ทั้ง 1,540 คนจาก 20 กลุ่ม แล้วให้มีการเลือกไขว้ให้เหลือกลุ่มละ 10 คน ก็จะได้ ส.ว.จาก 20 กลุ่ม รวม 200 คน เพื่อที่จะส่งให้ คสช.คัดเลือกตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 เหลือ 50 คน และสำรองรายชื่ออีก 50 คน ทั้งนี้ กกต. จะดำเนินการร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จ และส่งให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 30 ก.ย. และกล่าวว่า วิธีการออกแบบ กกต. ประเมินแล้วว่าสามารถบริหารจัดการได้และสามารถป้องกันการบล็อกโหวต และการทุจริตได้
กรธ. ปัดธง 'เซ็ตซีโร่' กกต. และเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่ายประกอบการยกร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง-เลือกตั้ง ส.ส.
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) นั้น กรธ.ไม่ได้ตั้งธง เซตซีโร่ขององค์กรอิสระ แต่เป็นเพียงแนวคิดจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) และยังไม่มีข้อสรุปว่า จะเซตซีโร่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ทั้งหมดหรือไม่ ต้องรอฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เสนอเข้ามา ด้าน สปท. ระบุว่า ข้อเสนอให้เซ็ตซีโร่ เพราะมีปัญหาการแย่งตำแหน่งประธาน ซึ่งไม่อยากให้กกต.มีความขัดแย้งในการเลือกตั้ง ซึ่งสปท.จะหารือเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต.ในพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โปรดเกล้าฯ พ.ร.ฏ.กําหนดวันเปิดทําการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกากําหนดวันเปิดทําการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อทําการพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ทั้งมีมีหมายเหตุระบุของพระราชกฤษฎีกาฯ กล่าวถึงพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ว่าบัญญัติ ให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยยกฐานะแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
27 กันยายน 2559
งัด ม.44 ตั้ง 'พล.ต.สรรเสริญ' ควบ รก.อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 59/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 และการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ โดยสาระสำคัญ คือหัวหน้าคสช.ใช้อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 แต่ตั้ง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้ชํานาญการกองทัพบก และโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อีกหนึ่งตำแหน่ง ให้พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ โอนตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และระงับการทำงานผู้บริหาร-ข้าราชการท้องถิ่น อีกกว่า 70 ราย
โฆษก กรธ. ระบุข้อเสนอ ให้ กกต. เดิมอยู่ต่อจนครบวาระ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กรธ. หลังฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่ กตต. เสนอไว้ในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ กกต. เดิม 5 คนอยู่ต่อไปจนครบวาระว่า ในส่วนนี้เป็นประเด็นความคิดเห็นของ กกต. ที่ส่งเข้ามาเท่านั้น ซึ่งที่สุดแล้วก็จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กรธ. ว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรต่อไป หลังรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
28 กันยายน 2559
กรธ. เปิดรับฟังความเห็นประกอบการยกร่างกฎหมายลูก ว่าด้วยพรรคการเมือง เลือกตั้งฯ ขณะกกต. ย้ำ มุ่งจัดเลือกตั้งให้สำเร็จ ไม่เป็นโมฆะเหมือนที่ผ่านมา
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดรับฟังความเห็นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย พรรคการเมือง และสื่อมวลชน เข้าร่วม
ภายในงาน ประวิช รัตนเพียร กรรมการ กกต. ได้กล่าวถึง ข้อเสนอสาระสำคัญในร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ ควรยึดหลักตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ โดยกรอบของกฎหมายลูกว่าด้วยเรื่องพรรคการเมือง ยึดหลักพรรคการเมืองเป็นของประชาชน ปราศจากการครอบงำจากระบบทุน ขณะที่กฎหมายลูกว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ดึงประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้ผู้มีทุนน้อยสามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยเน้นให้ทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ไม่ให้ทุนมาเป็นตัวกำหนด
ด้าน ตัวแทนจากพรรคการเมือง ได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์คนทุจริตเลือกตั้งตลอดชีวิต และเห็นด้วยกับการกำหนดว่าใครทำผิดคนนั้นรับโทษไม่เหมารวมยุบทั้งพรรค แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าสมัคร ส.ส.จากเดิม 5,000 บาทเปลี่ยนเป็น 10,000 บาท เพราะมองว่าสูงเกินไปขัดกับหลักการที่ กกต. บอกไว้ว่า ต้องการทำให้การเลือกตั้งต้นทุนต่ำ
ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งกรธ.แก้ร่างรธน.ให้เลือกนายกฯคนนอกไม่จำกัดครั้ง ส.ว.ร่วมตัดสินใจเพื่อเปิดทางนายกฯ คนนอก
สำนักงานศาลรัฐธรรมนญ เผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ กรธ. แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของกรธ. ว่าสอดคล้องกับคำถามพ่วง ตามที่ผ่านประชามติหรือไม่ ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีสามประเด็น คือ
1) "ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น" ศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นนี้สอดคล้องกับผลประชามติแล้ว คือ ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ ทั้งจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และนายกฯ คนนอก โดยส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
2) "ให้ ส.ว.ร่วมกับส.ส. ตัดสินใจเปิดทางนายกฯ คนนอก" จากเดิมร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสภามีอำนาจริเริ่มเสนอให้มีนายกฯ ที่่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขไม่สอดคล้องกับผลประชามติ โดยให้การเริ่มตัดสินใจว่าจะมีนายกฯ คนนอก หรือไม่ เป็นหน้าที่ของส.ว.รวมกับส.ส.ไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมด
3) "เลือกนายกฯ คนนอกไม่จำกัดภายในวาระแรก" จากเดิมร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กำหนดให้การเลือกนายกฯ คนนอกสามารถเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในวาระเริ่มแรกหลังการเลือกตั้งส.ส. ครั้งแรกเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญให้เปลี่ยนเป็น จะเลือกนายกฯ คนนอกกี่คนก็ได้ ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก
ประยุทธ์ งัด ม.44 ออกคำสั่งป้องกันการนําช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 60/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันการนําช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน คำสั่งระบุว่า "โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES)) จึงมีความจําเป็นต้องกําหนดมาตรการในการเร่งรัดดําเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ โดยเฉพาะการป้องกัน ระงับ และปราบปรามการนําช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อมิให้ประเทศไทยถูกระงับการนําเข้าและส่งออกสัตว์ป่าและพืชป่าตามบัญชีอนุสัญญา CITES อันจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและความน่าเชื่อถือของประเทศได้" จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 โดยความเห็นชอบของคสช.ออกคำสั่งนี้
29 กันยายน 2559
สนช.มีมติ 161 เสียง ประกาศให้ร่างพ.ร.บ.สถานพยาบาล ใช้เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน เห็นด้วย 161 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี เจตน์ ศิรธรานนท์ กล่าวต่อที่ประชุมสนช.ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ใช้บังคับครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลของรัฐ เอกชนและทุกๆ คลินิก เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องค่ารักษาแพง คือ มีการเพิ่มค่ายาและเวชภัณฑ์ แยกค่าบริการทางการแพทย์และค่าบริการอื่นๆ ให้มีความชัดเจน การโฆษณาสถานพยาบาลต้องขออนุญาตและมีบทกำหนดโทษทั้งจำและปรับ กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โรคระบาด ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=6407#.V--L8oiLTIU
สนช. ถอดถอน-ไม่อนุญาตเพิ่มเติมพยานหลักฐาน 2 อดีต ส.ส. ออกจากตำแหน่ง กรณีเสียบบัตรแทน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน นริศร ทองธิราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ออกจากตำแหน่ง กรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น และพิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอน อุดมเดช รัตนเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส. ออกจากตำแหน่ง กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอต่อประธานรัฐสภา ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช. ) ชี้มูลความผิด โดยที่ประชุมฯ ได้กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนคดีของนริศร และ อุดมเดช อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ขณะที่ อุดมเดช ได้ขอยื่นพยานหลักฐานเพิ่ม 4 รายการ แต่ที่ประชุม สนช.ไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมพยานหลักฐาน
30 กันยายน 2559
รองประธานสปท. ชี้ชัด 3 ปมสำคัญในร่าง รธน. ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึง การวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ไปปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งตนมองว่าคำวินิจฉัยดังกล่าว ก่อให้เกิดความชัดเจน