NLA Weekly (1-7 ต.ค.59): ประธาน กรธ.เตรียมส่งร่าง รธน.ให้นายกฯ 11 ต.ค.นี้

NLA Weekly (1-7 ต.ค.59): ประธาน กรธ.เตรียมส่งร่าง รธน.ให้นายกฯ 11 ต.ค.นี้

เมื่อ 9 ต.ค. 2559
2 ตุลาคม 2559
 
สนช.ใหม่ บิ๊กทหารเกษียณตบเท้า “บิ๊กตู่” เลือกเอง ช่วยสางงานกฎหมาย
 
รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ได้กำหนดให้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเดิม 220 เป็น 250 คน โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กันยายน 2559 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกสมาชิก สนช.ที่เพิ่ม 30 คน และที่ว่างอีก 3 คน รวม 33 คน ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ที่เพิ่มมาใหม่ นอกจากจะเป็นนายทหารที่คุมกำลังแล้ว คาดว่าจะมีนายทหารที่เกษียณอายุราชการและนายทหารที่ได้รับการปรับตำแหน่งใหม่
 
 
3 ตุลาคม 2559
 
มีชัย ยืนยันรัฐบาลมีอำนาจยุบสภา หลังเลือกตั้ง กรณีไม่สามารถเลือกนายกฯ เช่นเดียวกับ ม.44
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้ออก พ.ร.ฎ.ยุบสภา หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีอำนาจยุบสภา หลังการเลือกตั้ง ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยการตรา พ.ร.ฎ.ยุบสภา โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้อำนาจเต็มแก่รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะแตกต่างจากรัฐบาลรักษาการทั่วไป แต่จะเหมาะสมหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกัน การใช้มาตรา 44 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
 
สปท. พิจารณาข้อเสนอจัดทำกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.
 
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณารายงานเรื่องข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.) โดยมีสาระสำคัญคือ มุ่งเน้นให้ กกต. เป็นหน่วยงานปลอดทุจริต พร้อมทำงานเชิงรุก ช่วยให้การเลือกตั้งที่จะมีปลายปี 2560 และในครั้งต่อๆ ไป มีความสุจริต เที่ยงธรรม 
 
ทั้งนี้ สปท. มีข้อเสนอหลักๆ  คือให้กระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้ง โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กกต. เพื่อลดภาระงานของ กกต. ขณะที่คำวินิจฉัยของ กกต. เกี่ยวกับความผิดว่าในการเลือกตั้งต้องได้รับการตรวจสอบจากสาธารณะ ส่วน กกต. ประจำจังหวัดให้สรรหาและแต่งตั้งจากผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่ดำรงตำแหน่ง และห้ามข้าราชการประจำ เป็นกกต. จังหวัด พร้อมเสนอตั้งกองทุนปราบปรามทุจริตเลือกตั้ง  เพื่อขจัดนักการเมืองที่ซื้อเสียง และประชาชนที่ขายเสียง
 
 
6 ตุลาคม 2559
 
ประธาน กรธ.เตรียมส่งร่าง รธน.ให้นายกฯ 11 ต.ค.นี้
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า จะส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเสร็จเรียบร้อยไปยังนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ หากมีผู้เห็นแย้งกับร่างที่แก้ไข ไม่สามารถยื่นคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผ่านกระบวนการทำประชามติมาแล้ว ทั้งนี้ก่อนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะเร่งทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง ให้แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจะเห็นร่างฉบับสมบูรณ์ทั้ง 2 ฉบับ และให้พรรคการเมืองและ กกต.เตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้ง
 
 
สนช.มีมติ รับร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไว้พิจารณา
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน เห็นด้วย 187 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างดังกล่าวเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและอยู่ในกำหนดที่จะต้องยกร่างใหม่หรือปรับปรุงทั้งฉบับ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยู่แล้ว แต่ด้วยการจัดทำจะต้องใช้เวลา จึงเห็นว่า ควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ที่มีอยู่
 
การแก้ไขครั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาและการพิจารณาคดีที่ค้างอยู่ใน ปปช. จำนวน 13,000 เรื่องเบาบางลง โดยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการเพื่อ ให้มีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่พนักงานไต่สวนที่มีบทบาทในการออกหนังสือและแสวงหาข้อเท็จจริงในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้แต่งจากบุคคลที่เป็นข้าราชการของสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ในสายงานกระบวนการยุติธรรม มีพื้นความรู้ขั้นต่ำตามที่กำหนด มีความรู้และประสบการณ์ในการทำคดี และ ผ่านการอบรมตามที่ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่งจะทำให้มีจำนวนพนักงานไต่สวนเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1,000 คน จากปัจจุบันมีเพียง 185 คน โดยบุคคลเหล่านี้จะทำงานภายใต้การกำกับควบคุมของหัวหน้าพนักงานไต่สวนและเลือกให้ไปทำคดีที่เหมาะสม
 
 
บิ๊กตู่ ใช้ ม.44 แก้ปัญหาบุคลากรการบินขาดแคลน
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 61/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาบุคลากรด้านการบิน ระบุว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินของไทยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จําเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพื่อรองรับการแข่งขันด้านการบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนและยังประสบปัญหาในการผลิตบุคลากรด้านการบินไม่ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตนักบิน พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ และครูการบิน จําเป็นจะต้องจัดหาบุคลากรทดแทนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านการบิน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการทํางานของรัฐวิสาหกิจบางแห่งให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในภาพรวม
 
 
ประยุทธ์งัด ม.44 ตั้ง 'สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ' พร้อมนั่งประธานเอง
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. )ฉบับที่ 62/2559 เรื่อง การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 โดยกําหนดให้มีสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อทําหน้าที่ในการกําหนดทิศทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งปรับปรุงระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนกํากับและติดตามการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และประเมินผลการดําเนินการ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีเอกภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการวิจัยของประเทศ และปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งสภาฯ นี้มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน
 
ที่มา: ประชาไท
 
7 ตุลาคม 2559
 
สนช.รับหลักการแก้ไขกฎหมายแพ่งให้มีประสิทธิภาพในการยึดทรัพย์
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการวาระหนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ด้วยคะแนน 168 ต่อ 2 เสียง โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากบทบัญญัตินี้ตามกฎหมายเดิมได้ใช้บังคับมานาน ทำให้ไม่เหมาะสมต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ใช้เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน การยึดทรัพย์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 
 
สนช.รับหลักการร่างกม.ยาเสพติด เปิดช่องให้ผู้ต้องหาพิสูจน์ความจริง
 
การประชุมสภานิติบัญญัติญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ยาเสพติตให้โทษ(ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสนช.กับคณะเป็นผู้เสนอ วาระแรกด้วยคะแนน 175 งดออกเสียง 4 โดยพล.ร.อ.ศิษฐวัชร ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันมีบทบัญญัติบางส่วนกำหนดว่าผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเกินปริมาณที่กำหนดให้ถือว่าเป็นเด็ดขาดว่ากระทำเพื่อจำหน่ายโดยไม่เปิดโอกาสให้พิสูจน์ความจริงในคดี ดังนั้นจึงควรแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติให้มีลักษณะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงได้ นอกจากนี้ยังปรับปรุงอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการผลิต
 
 
มีชัย เตือน สนช.เร่งกระบวนการถอดถอนให้เสร็จก่อน รธน.มีผลบังคับใช้
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งไม่มีเรื่องของกระบวนการถอดถอน ดังนั้นในช่วงนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควรต้องเร่งกระบวนการถอดถอนต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ ให้แล้วเสร็จ ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถดำเนินการได้ และต้องปรับเปลี่ยนคำร้องไปดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ และในส่วนของคนที่ถูกถอดถอน ก็จะถูกห้ามใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามระยะเวลาที่กำหนดคือ 5 ปี ถึง 10 ปี ไม่สามารถเป็นอื่นได้