NLA Weekly (29 ต.ค.- 4 พ.ย.59): สนช.ไม่เห็นชอบ 2 มาตรา ในกม.ดิจิทัล

NLA Weekly (29 ต.ค.- 4 พ.ย.59): สนช.ไม่เห็นชอบ 2 มาตรา ในกม.ดิจิทัล

เมื่อ 5 พ.ย. 2559
31 ตุลาคม 2559 
 
กรธ. ห้ามคนโกงเป็นกรรมการบริหารพรรค – ก่อนส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต ต้องให้ คกก. 2 ชุด เห็นชอบก่อน
 
มีชัย  ฤชุพันธุ์  ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งได้ข้อยุติแล้วหลายเรื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนเรื่องคุณสมบัติของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่กำหนดคุณสมบัติเหมือนกับ ส.ส. ห้ามผู้กระทำการทุจริตเป็นกรรมการบริหารพรรค ดังนั้นหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะมีผลให้กรรมการบริหารพรรคที่ขาดคุณสมบัติจะต้องพ้นจากตำแหน่ง
 
ประธานกรธ. กล่าวว่า  กรธ.ยังมีแนวคิดเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต จะต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้งกรรมการบริหารพรรคและกรรมการสรรหาที่พรรคตั้งขึ้น หากมีความเห็นไม่ตรงกัน ต้องงดส่งผู้สมัครในเขตดังกล่าว หรือต้องเรียกประชุมใหญ่เพื่อมีมติร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบที่เกิดขึ้นใหม่ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรค กรธ.จึงต้องประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ก่อน และ คสช.จะต้องแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งของ คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมด้วย
 
ที่มา: ประชาไท 
 
1 พฤศจิกายน 2559
 
กรธ. ห้ามพรรคการเมืองซื้อขายตำแหน่งกัน โทษสูงถึงขั้นประหารชีวิต
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้มุ่งทำให้การเมืองเป็นที่พึ่งของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ขจัดผู้ที่ทุจริตและมีประวัติทุจริตการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังกำหนดคุณสมบัติกรรมการบริหารพรรคแตกต่างไปจากเดิม เช่น กรณีพรรคเรียกเงินกับสมาชิกเพื่อซื้อขายตำแหน่ง จะมีการเขียนห้ามไว้และกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หากเกี่ยวข้องกับกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ 
 
 
2 พฤศจิกายน 2559
 
กรธ.ส่งร่าง รธน.ที่แก้คำปรารภให้รัฐบาลแล้ว ยันเป็นไปตามโรดแมป
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขคำปรารภ 2 จุด กลับไปให้รัฐบาลแล้ว ซึ่งจากนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาล ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในกำหนดเวลา 30 วัน โดยจะครบในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ พร้อมยืนยันว่า ทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้
 
ที่มา: ประชาไท 
 
3 พฤศจิกายน 2559
 
สนช.มีมติให้ ‘ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ’ และ ‘ปรีชา ชวลิตธำรง’ เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณารายงานลับของคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วใช้วิธีลงคะแนนลับ ปรากฏผลให้ ผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด จำนวน 171 เสียง และปรีชา ชวลิตดำรง ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นลำดับสอง จำนวน 136 เสียง ได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ
 
สำหรับ ผานิต ปัจจุบัน อายุ 73 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญนอกจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว เคยดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกฯ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขณะที่ปรีชา ปัจจุบัน อายุ 75 ปี นอกจากเคยดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รองปลัดกระทรวงการคลัง และกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
 
 
สปท. นัดแถลงผลงาน 1 ปี เรื่องการปฏิรูป 30 พ.ย.นี้
 
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  (วิป สปท.) แถลงข่าวผลการประชุม วิป สปท.ว่า ที่ประชุมมีมติให้จัดงานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงาน สปท. ครบรอบ 1 ปี ภายใต้ชื่อเรื่อง "1 ปี สปท. 108 เรื่องการปฏิรูป" ในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559 โดยจะเชิญสมาชิกทุกคนและ Mr. Reform  จำนวน 28 คน รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมการแถลงข่าวด้วย 
 
 
สนช.ไม่เห็นชอบ 2 มาตราใน กม.เศรษฐกิจดิจิทัล หวั่นเอื้อประโยชน์นายทุน จึงต้องถอนไปแก้ใหม่
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ... ในวาระ 2 เรียงลำดับรายมาตรา โดยมาตรา 8 เขียนถึง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีการตัดข้อความใน (6) “ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ และ (7) และไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใด หรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือลูกจ้างขององค์กรเอกชนใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ”  ออกไป
    
โดยสมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยกับการตัดข้อความดังกล่าวออก โดยเห็นว่าการตัดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนี้ออก ถือเป็นเรื่องใหญ่ เปิดช่องให้บุคคลที่มีผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจดิจิทัลเข้ามาเป็นกรรมการ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอย่างแท้จริง ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติ ซึ่งผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่มีมติใน (6) ไม่เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการตัดออกด้วยคะแนน 38 ต่อ 146 งดออกเสียง 10 และลงมติไม่เห็นชอบกับการตัด (7) ด้วยคะแนน 26 ต่อ 158 งดออกเสียง 10 จึงต้องคงมาตรา 8 ตามร่างเดิม ส่งผลให้ทางกรรมาธิการได้ขอถอนออกไปเพื่อพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับที่สมาชิกอภิปรายและขอแปรญัตติ ก่อนนำมาให้ที่ประชุมได้พิจารณาต่อไป
 
ที่มา: ประชาไท 
 
4 พฤศจิกายน 2559
 
‘มีชัย’ ระบุ ร่าง รธน.ใหม่ ไม่บัญญัติเรื่องถอดถอน แต่ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
 
 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับการถอดถอนไว้แล้ว  เพราะกระบวนการถอดถอนในอดีตไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การโหวตเพื่อลงคะแนนเสียง อาจขาดความเป็นธรรมและกลายเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า กรธ.จึงได้กำหนดให้การกระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะมองว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่ารวมถึงคู่กรณีจะได้มี โอกาสต่อสู้กันด้วยหลักฐานด้วย ส่วนบุคคลที่ถูกถอดถอนและถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี จะยังคงมีผลไปจนครบการรับโทษตามที่กำหนดไว้
 
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ มีชัยระบุว่า ขณะนี้ได้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการปรับถ้อยคำให้เหมาะสม โดยสาระสำคัญจะเน้นให้ตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น อำนวยความสะดวกให้พรรคสามารถดูแลกันเอง และประชาชนจะต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารพรรคการเมือง ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง โดยกำหนดหลักการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จังหวัด) แต่งตั้งเป็นครั้งคราวที่มีการเลือกตั้งขึ้น ไม่ได้เป็นแบบประจำ 
 
 
สนช.มีมติถอดถอน 2 อดีต ส.ส.เพื่อไทย ตัดสิทธิการเมือง 5 ปี
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาวาระเรื่องด่วน ลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน นริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจากกรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น และลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน อุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กรณีสลับสับเปลี่ยนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ที่เสนอต่อประธานรัฐสภา โดยที่ประชุมใช้วิธีลงคะแนนลับในคูหา ก่อนมีมติให้ นริศร ถูกถอดถอนด้วยเสียง 220 เสียง ไม่ถอดถอน 1 เสียง ไม่ออกเสียง 2 เสียง และมีมติให้ อุดมเดช ถูกถอดถอน ด้วยเสียง 206 เสียง ไม่ถอดถอน 15 เสียง และมีบัตรเสีย 3  ใบ สำหรับมติถอดถอนในครั้งนี้แม้ นริศรและอุดมเดช จะไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. แล้ว แต่ยังส่งผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี