NLA Weekly (12-18 พ.ย. 59) : กรธ. ยืนยัน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มุ่งแก้ไขปัญหานายทุนพรรค

NLA Weekly (12-18 พ.ย. 59) : กรธ. ยืนยัน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มุ่งแก้ไขปัญหานายทุนพรรค

เมื่อ 20 พ.ย. 2559
14 พฤศจิกายน 2559
 
สปท. เห็นชอบ ผลักดันแผน ตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานระดับชาติ
 
ที่ประชุม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นด้วยกับรายงานเรื่อง การจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Sports Science : TISS) 
 
ชาญวิทย์ ผลชีวิน สมาชิกสปท.ชี้แจงรายงานดังกล่าวว่า กรอบแนวคิดการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทยอยู่บนความสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชาลงประชามติและนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมด้านสุภาพและการพัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ จึงควรจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของประเทศ ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในการวางแผนกลยุทธ์การบริหารงานในฐานะองค์กรระดับนานาชาติ และจัดการความรู้ทั้งระบบให้มีมาตรฐาน   
 
ตลอดจนเป็นการบริการประชาชนทุกภาคส่วนและประชาชนกลุ่มคนพิเศษให้ได้รับบริการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างทั่วถึง เพื่อพัฒนานักกีฬามุ่งสู่ความเป็นเลิศและอาชีพอย่างยั่งยืน  รวมถึงรองรับการขึ้นทะเบียนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ  และกำกับดูแลเรื่องวิทยาศาสตร์ให้ทันสมัย  และให้ความรู้แก่นักกีฬาเกี่ยวกับสารต้องห้าม  
 
 
โฆษก กรธ. ยืนยัน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มุ่งแก้ไขปัญหานายทุนพรรค
 
นรชิต  สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวยืนยันเจตนารมณ์ในการจัดทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ว่า ต้องการแก้ไขปัญหานายทุนพรรค เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างแท้จริง โดยพรรคการเมืองที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังคงเป็นพรรคการเมืองตามร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ แต่ต้องแก้ไขข้อบังคับของพรรคให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.ป.นี้ บังคับใช้  ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้ 
 
 
 
15 พฤศจิกายน 2559
 
สปท. เห็นชอบแนวทางติดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ตามตัวผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
 
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ส่วนใหญ่ เห็นชอบต่อ รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring:EM) ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 151 เสียง ต่อ 3 เสียง และงดออกเสียง 15 คน
 
โดยรายงานดังกล่าวมีเนื้อหาว่า ต้องการแก้ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ผู้ถูกดำเนินคดีหรือจำเลยหนีการปล่อยตัวชั่วคราว ปัญหาความยากจนไม่มีเงินประกันตัวขาดโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหลบหนี รวมไปถึงปัญหาผู้ต้องโทษมีจำนวนมาก เรือนจำเกิดความแออัด  ดังนั้น การใช้เครื่อง EM เข้ามาเป็นระบบในการติดตามตัว ควบคุม ตรวจสอบ จำกัดการเดินทาง กับผู้ถูกคุมประพฤติ ที่จะส่งสัญญาณมายังระบบกลาง จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ รวมทั้งได้เสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้งานและกระบวนการ รวมถึงเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ลดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นทั้งหมด
 
 
16 พฤศจิกายน 2559
 
กกต.สมชัย แนะ ยึดหลัก 3 ประการ ร่างกฎหมายลูกให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
 
หลังจาก มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... และ  ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... เสร็จแล้ว สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง กล่าวต่อว่า อยากให้การสัมมนาครั้งนี้ไม่ใช่พิธีกรรม กรธ .ควรเอาข้อเสนอแนะที่ได้ ไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมระบุว่า การออกแบบร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.ต้องอยู่บนหลัก 3 ประการ คือ
 
1.ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเลือกตั้ง เข้าใช้สิทธิ์ได้สะดวกมากที่สุด กลไกของ กกต.ที่ออกแบบจะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งให้ได้มากสุด ขยายเวลา เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในและนอกประเทศได้ใช้สิทธิ์อย่างเต็มที่
 
2.การใช้สิทธิ์ของประชาชนต้องเป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ รู้จักพรรคและนักการเมืองอย่างแท้จริง ว่ามีคุณภาพมีนโยบายอย่างไร
 
3.ทำให้ กกต.มีกลไกในการจัดการทุจริตการเลือกตั้ง การซื้อเสียงน้อยลง อยู่บนกฎเกณฑ์กติกาเหมือนกัน ไม่แบ่งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก
 
 
17 พฤศจิกายน 2559
 
มีชัย ไม่ขัด สนช.จะปรับบทลงโทษประหารชีวิต/จำคุกตลอดชีวิต หากมีการซื้อขายตำแหน่ง รมต.
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ความเห็นกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะปรับบทลงโทษการประหารชีวิต กรณีการซื้อขายตำแหน่งรัฐมนตรีในร่าง  พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะเห็นว่าโทษดังกล่าวแรงเกินไป  ว่าไม่ขัดข้อง หาก สนช.จะพิจารณาปรับ แต่ กรธ.ยืนยันว่า  การซื้อขายตำแหน่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรง มีชัย กล่าวต่อว่า หาก สนช.มีมติด้วยเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ให้ถือว่า เห็นชอบตามร่างที่กรรมาธิการเสนอ และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หาก สนช. มีมติไม่เห็นชอบด้วยเสียงเกินกว่า 2 ใน 3 ให้ ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวเป็นอันตกไป แล้วต้องร่างกันใหม่
 
“หาก สนช.เห็นว่า โทษประหารชีวิตแรงไป และคิดว่าจะปรับ 5 บาท10 บาท ก็แล้วแต่จะมอง และถ้าจะคิดว่าการเอาตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่สังคมรับได้ ก็ว่ากันไป แต่เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรง” มีชัย กล่าว  
 
 
18 พฤศจิกายน 2559
 
รองประธาน สนช. ยืนยันกรรมการองค์กรอิสระสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ จนกว่าจะประกาศใช้ร่าง พ.ร.ป.ฉบับใหม่
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของ สนช. ว่า ขณะนี้ กรธ. ยังไม่มีการเผยแพร่ ร่าง พ.ร.ป.อย่างเป็นทางการ เนื่องจากหลากประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน และยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็น ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวถึงว่าจะมีการเซตซีโร่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) องค์กรอิสระ หรือไม่ นั้นยืนยันว่า กรรมการองค์กรอิสระสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ตามบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ จนกว่าจะมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.ป.ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระหรือไม่ขึ้นอยู่กับร่าง พ.ร.ป.
 
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 10 ฉบับ ของ กรธ.เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. และหากมีความเห็นต่าง ก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง สนช. กรธ. และตัวแทนจากองค์กรอิสระหรือศาล ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนั้น จำนวน 11 คน จากนั้นกรรมาธิการร่วมกันก็ต้องจัดทำรายงานเสนอกลับไปยัง สนช. อีกครั้ง หากที่ประชุมสนช.มีความเห็นต่างจากความเห็นของกรรมาธิการร่วมกัน ก็ต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 ซึ่งกระบวนการพิจารณาพ.ร.ป. ถูกออกแบบไว้อย่างรัดกุมและถ่วงดุลกันในตัวอยู่แล้ว โดยกรธ. และ สนช. ต้องจัดทำร่าง พ.ร.ป.ให้ดีที่สุด และทุกฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากติกาใหม่