NLA Weekly (18 พ.ย. - 25 พ.ย. 59): กรธ. ย้ำ สนช. แก้กฎหมายลูกได้ เว้นขัด รธน. ต้องตั้งคณะกรรมการร่วม

NLA Weekly (18 พ.ย. - 25 พ.ย. 59): กรธ. ย้ำ สนช. แก้กฎหมายลูกได้ เว้นขัด รธน. ต้องตั้งคณะกรรมการร่วม

เมื่อ 28 พ.ย. 2559
19 พฤศจิกายน 2559
 
สมาชิก สนช. ระบุ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กฯ มุ่งเปิดพื้นที่ให้สภาเด็กแสดงความคิดเห็น
 
คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เปิดเผยหลังวานนี้(18 พ.ย. 59)ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้มีสภาเด็กครอบคลุมในทุกระดับ จากเดิมที่มีในระดับจังหวัดและอำเภอ ไปสู่ระดับตำบลด้วย เนื่องจากมองว่าเด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีศักยภาพและมีความสามารถพร้อมแสดงออก การเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนจะเป็นการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้เด็กมารวมกลุ่มในการแสดงความเห็นจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัวและสังคม และเป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ภายใต้ความดูแลของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ จะได้ร่วมพิจารณาและเสนอความเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการทำให้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เกิดความสมบูรณ์
 
 
21 พฤศจิกายน 2559
 
มีชัย เชื่อ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญชั้น สนช. ไม่เกิดปัญหา
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า สนช. มีอำนาจในการแก้ไขได้ แต่หากองค์กรอิสระและ กรธ. เห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่วม 3ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย กรธ. สนช. และองค์กรอิสระ เพื่อร่วมกันพิจารณา ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช. ลงมติอีกครั้ง 
 
ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหา เพราะ สนช. จะรับฟังความเห็นจาก กรธ. และองค์กรอิสระประกอบการแก้ไข ส่วนการพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณา ซึ่งต้องเชื่อมั่นในการตัดสินใจของคณะกรรมการดังกล่าว เพราะถือเป็นผู้มีตำแหน่งในสังคม มีความรู้ พร้อมยืนยันว่า กรธ. ไม่มีเจตนาต้องการให้บุคคลใดพ้นจากตำแหน่ง เพราะระหว่างที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เคยปิดบังเรื่องคุณสมบัติ และ กรธ. ไม่สามารถเขียนบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ให้คุ้มครองกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบันให้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
ประธาน กรธ. กล่าวถึงบทลงโทษการซื้อขายตำแหน่งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง ที่มีผู้ทักท้วงว่าโทษประหารชีวิตรุนแรงเกินไปว่า กรธ.เตรียมปรับแก้ไขให้โทษสูงสุดคือประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ส่วนตัวเห็นว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้รุนแรงไปกว่ากฎหมายอื่น เช่นโทษคดียาเสพติด คดีข่มขืน
 
 
23 พฤศจิกายน 2559
 
โฆษก กรธ.ระบุ กำลังปรับปรุงร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง
 
นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้กำลังปรับปรุงและแก้ไขถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้มีความชัดเจน ไม่มีข้อผิดพลาด จึงอาจต้องเลื่อนการเผยแพร่เนื้อหาของร่างกฎหมายลูกดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าจะจัดทำเนื้อหาฉบับเบื้องต้นให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์  สำหรับส่วนที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับแก้ไข อาทิ บทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง หรือประเด็นทุนประเดิมพรรคการเมือง ที่จะกำหนดให้ต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด หากพรรคไม่จัดทำจะมีบทลงโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง การกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน หากพรรคไม่ดำเนินการจะมีโทษถึงขั้นไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ซึ่ง กรธ. ยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงตามความเห็นและความเหมาะสมในขั้นตอนดังกล่าว ขณะประเด็นการรื้อระบบพรรคการเมือง หรือ เซ็ทซีโร่นั้น ยืนยันไม่มีเนื้อหาดังกล่าวเขียนไว้ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้น หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ แต่อาจมีส่วนที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด
 
 
24 พฤศจิกายน 2559
 
สนช .มีมติผ่านวาระ 3 ให้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 ให้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 196 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง
 
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ มีหลักการสำคัญกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา และกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการทดสอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้จะทำให้การส่งเสริมการลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้สิทธิและประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันจะเป็นการทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนและการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป
 
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขอัตราโทษปรับในภาค 2 ความผิด) ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน เห็นด้วย 195 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน  ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน   
 
ทั้งนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงหลักการสำคัญ 3 ประเด็นที่ขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ขอแก้ไขเพิ่มเติมให้การอายัตสิทธิเรียกร้อง เพื่อนำมาใช้แทนค่าปรับ มีกำหนดระยะเวลาในการบังคับ 5 ปี 2.ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายต่อกายและจิตใจ เดิมอัตราโทษทีอยู่สถานเดียวคือ ระวางโทษจำคุก จึงขอเสนอแก้ไขให้ต้องระวางโทษจำคุกและปรับ ซึ่งจะทำให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางมากขึ้น และ 3.ขอปรับแก้อัตราโทษปรับที่มีอยู่ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฆ่า ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ศาสนา โดยใช้วิธีพิจารณารวมทั้งหมด คือ ทำเป็นบัญชีและเสนอมาฉบับเดียวครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นการขอแก้ไขครั้งใหญ่ของวงการกฎหมายไทย โดยเฉพาะเรื่องการปรับแก้อัตราโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญา  
 
 
25 พฤศจิกายน 2559
 
สนช. ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ 
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 ประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน เห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง
 
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ มีเหตุผลที่ขอแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจาก พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน สมควรเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศโดยให้ครอบคลุมถึงการลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศที่ได้ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศด้วย เพื่อให้การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมีความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป