NLA Weekly (10-16 ธ.ค.59): สนช.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ แม้ประชาชนยื่นค้าน 300,000 รายชื่อ

NLA Weekly (10-16 ธ.ค.59): สนช.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ แม้ประชาชนยื่นค้าน 300,000 รายชื่อ

เมื่อ 18 ธ.ค. 2559
13 ธันวาคม 2559
 
“ประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 ออก 3 คำสั่งรวด
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยอาศัย ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 71/2559 เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เนื่องจากทั้ง 3 องค์กรนี้ครบวาระการทำงานแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงเห็นว่า ควรให้บุคลากรไปทำงานยังหน่วยงานตัวเองส่วนหนึ่ง และองค์กรที่ยังขาดคนอยู่ส่วนหนึ่ง
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2557 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา โดยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 60 จนกว่าจะมีมติเป็นอย่างอื่น และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 73/2559 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อํานวยการสํานักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (เพิ่มเติม) โดยก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงได้สั่งการให้ไปช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี
 
ที่มา: ประชาไท 
 
“ศรีสุวรรณ” ร้องผู้ตรวจฯ ตรวจสอบ “ศานิตย์” สนช.ใหม่นั่งที่ปรึกษาไทยเบฟฯ
 
ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อไต่สวน ตรวจสอบ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ซึ่งมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 ได้เงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท ว่ามีความผิดต่อจริยธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 (4) และมาตรา103 ด้วยหรือไม่อย่างไร โดยระบุว่า อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจและประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2550 เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย
 
ที่มา: ประชาไท 
 
 
14 ธันวาคม 2559
 
นายกฯ อ้างมาตรา 44 สั่งปลด ผอ.พอช. ด้านเอ็นจีโอ ค้าน ไม่เอาทหารมาแทน
 
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ พลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันองค์การพัฒนาชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 68/2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
 
ด้านสังคม เจริญทรัพย์ ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวชายขอบว่า เครือข่ายชาวบ้านได้ประชุมเร่งด่วนทันทีที่ทราบข่าวการย้ายพร้อมออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำสั่งนายกฯ ซึ่งมีเนื้อหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1 ไม่ยอมรับคำสั่งของนายกฯ 2 เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลิกแทรกแซงกระบวนการของ พอช. และ 3 ต้องไม่เอาคนนอกหรือคนของกองทัพ หรือทหารเข้ามาเป็นรักษาการ หรือเข้ามาเป็นผู้อำนวยการ พอช.
 
ที่มา: ประชาไท
 
 
15 ธันวาคม 2559
 
เครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้ฯ ยื่น 300,000 รายชื่อค้านร่าง พ.ร.บ.คอมฯ
 
เลขาธิการวุฒิสภา เป็นตัวแทนรับหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากเครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมรับรายชื่อประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่คัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ change.org กว่า 300,000 รายชื่อ โดยขอให้ทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ของประชาชน
 
สฤณี อาชวานันทกุล ผู้แทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า จากการศึกษาร่าง พ.ร.บ.ข้างต้น พบว่า สนช.ยังไม่ได้แก้ไขหลายจุด โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) ซึ่งที่ผ่านมาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องหมิ่นประมาทต่อผู้ที่ติดตามตรวจสอบการทำงานบุคคลสาธารณะ และอาจคุกคามต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็น และมาตรา 14 (2) ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลเท็จที่อาจเป็นความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะและประเทศ ที่มีการนิยามไว้ค่อนข้างกว้างและยังเป็นเรื่องใหม่
 
 
สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 ประกาศให้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 173 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียงสำหรับเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ.นี้ เนื่องจาก พ.ร.บ. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน สมควรปรับปรุงเกี่ยวกับองค์ประกอบของสภาทหารผ่านศึก และการปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภาทหารผ่านศึก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจ และกำหนดที่มาของตำแหน่งเลขานุการองค์การส่งเคราะห์ทหารผ่านศึกเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเชื่อมโยงกับการปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาธิการสภาทหารผ่านศึกโดยตำแหน่ง
 
 
สนช. เห็นชอบ ร่างแก้ไขประมวลรัษฎากร (การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 ประกาศให้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 191 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมกันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นด้วยในข้อเสนอเพิ่มเติมของสมาชิกที่ว่า ควรให้กรมสรรพกรไปศึกษาความเป็นไปได้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปีภายหลังกฎหมายบังคับใช้ เพื่อเสนอเข้ามายัง สนช.ได้พิจารณาปรับแก้ไขอีกครั้ง
 
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย การหักลดหย่อน การกำหนดเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ การกำหนดเงินได้พึงประเมินที่ต้องยื่นรายการสำหรับบุคคลธรรมดาและอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
 
 
เผย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจให้ กกต.
 
เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวชี้แจงสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการเพิ่มอำนาจให้ กกต. อาทิ  สามารถสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบการเลือกตั้งให้มีความเรียบร้อยได้ โดยมีอำนาจแจ้งให้ตำรวจดำเนินคดีและผู้อำนวยการเลือกตั้งสามารถส่งสำนวนคดีให้อัยการฟ้องได้ รวมถึงมีอำนาจระงับการเลือกตั้ง รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยประสานกับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ผู้กระทำความผิดซื้อสิทธิ์ขายเสียง ขอให้หน่วยข่าวกรองความมั่นคงให้ข้อมูลการซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้งได้ โดยเก็บเป็นความลับ
 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการตรวจการเลือกตั้ง แทน กกต. จังหวัด โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งแต่ละชุดจะตั้งขึ้นเฉพาะช่วงที่มีการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดเลือกตั้ง การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง และรายงานให้กกต.กลางรับทราบเพื่อวินิจฉัยต่อไป
 
ที่มา: ประชาไท 
 
 
16 ธันวาคม 2559
 
สนช.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ใช้เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาวาระเร่งด่วน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ …) พ.ศ... โดยเป็นการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 โดยผลการลงมติคือ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วยคะแนนเสียง 168 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 5 โดยในที่ประชุมมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ ดังกล่าว คือ ปรับเพิ่มคณะกรรมการกลั่นกรอง จาก 5 คน เป็น 9 คน และคำตัดสินต้องมีคะแนนเกินครึ่งหนึ่ง คือ 5 คน นอกจากนี้ คุณสมบัติของคณะกรรมการที่มาจากภาคเอกชน จำนวน 3 คน ให้มาจากด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
 
ปรับ ครม. โปรดเกล้าฯ ให้ 7 รมต. พ้นตำแหน่ง – แต่งตั้ง 12 รมต. ใหม่ 
 
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี  1. ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
 
2. ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, วีระศักดิ์ ฟูตระกูล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ชุติมา บุณยประภัศร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ พิชิต อัคราทิตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อรรชกา สีบุญเรือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ อุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2559
 
ที่มา: ประชาไท