วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 13:30 - 16:00 น. ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ซั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 2559 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากประชาชนหลายฝ่าย ทำให้สาธารณชนทั้งผู้ที่ติดตามใกล้ชิดและผู้ที่ยังไม่เข้าใจประเด็นปัญหาและผลกระทบจากร่าง พรบ. นี้ดีนักให้ความสนใจต่อการผ่านร่าง พรบ. นี้อย่างกว้างขวาง ประเด็นคำถามที่สำคัญได้แก่ ผลกระทบต่อสิทธิการแสดงออกของประชาชน ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพส่วนบุคคล ปัญหาเรื่องการประกอบการธุรกิจภายใต้กฎหมายใหม่ ตลอดจนปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเมื่อพิจารณาในภาพกว้างแล้ว สถานะของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในสายตาประชาคมโลกเมื่อ พรบ. นี้มีผลบังคับใช้ เป็นต้น ประเด็นปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องได้รับการพิจารณาจากแง่มุมของนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในหลายมิติ นอกจากด้านนิติศาสตร์แล้ว ยังต้องพิจารณาจากมิติด้านสิทธิมนุษยชน เศรษฐศาสตร์ สื่อสารมวลชน และสังคมวิทยา
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันทางวิชาการของประเทศ มีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ประชาชนฝ่ายต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้ คณะผู้ร่วมจัดจึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องจัดการเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “ประเทศไทย หลังพรบ. คอมพิวเตอร์ฯ 2559” ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากสาขาวิชาและจากสายวิชาชีพต่าง ๆ มาเสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชนที่มาร่วมการเสวนา พร้อมทั้งนำเสนอประเด็นปัญหาสาธารณะต่อสื่อมวลชน
วิทยากร
คุณอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
คุณสฤณี อาชวานันทกุล Thai Netizen
อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw
คุณอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA)
ดำเนินรายการโดย รศ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์