19 ธันวาคม 2559
ประธาน สนช. ชี้แจง พ.ร.บ.คอมฯ รักษาดุลยภาพการใช้อำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ในส่วนที่มีองค์กรภาคประชาชนออกมาคัดค้านกฎมายฉบับนี้ โดยระบุว่า มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ตามข้อเท็จจริงแล้ว กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะเป็นกลไกที่จะช่วยดูแลผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ได้รับข้อมูลที่มีความสะอาดปลอดภัยจากข้อมูลขยะ ดังนั้น หากเครือข่ายภาคประชาชนช่วยกันผลักดันกฎหมายนี้ ก็จะทำให้ควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมดูแลระบบคอมพิวเตอร์ไปได้อย่างเหมาะสม พร้อมชี้แจงกรณีที่มีประชาชนเข้าใจผิดว่า เกี่ยวกับการส่งต่อข้อมูลหรือการแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือผิดกฎหมายว่า ไม่ต้องกังวลว่าจะมีความผิด เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดและเป็นหน้าที่ของโจทย์ ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการ ที่จะร่วมกันพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย
20 ธันวาคม 2559
กรธ.ยืนยัน หลักตั้งพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 500 คน และปรับลดเกณฑ์ขั้นต่ำ-ขั้นสูง เงินลงขันผู้ร่วมก่อตั้งพรรค
นรชิต สิงหเสนี และอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของ กรธ. ในการพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองภายหลังเปิดรับความเห็นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า กรธ. ยังคงยืนยันหลักการตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา 9 ว่าต้องมีสมาชิกเริ่มต้นผู้ก่อตั้งจำนวน 500 คน ขณะเดียวกัน ได้ปรับลดเกณฑ์ขั้นต่ำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคต้องจ่ายเงินจากเดิม 2,000 บาทแต่ไม่เกิน 500,000 บาท มาเป็นจ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 300,000 บาทต่อคน พร้อมยืนยันทุนจัดตั้งพรรคที่ 1 ล้านบาทตามเดิม
21 ธันวาคม 2559
มีชัย ยืนยัน บทลงโทษซื้อขายตำแหน่งรัฐมนตรี โทษสูงสุดประหารชีวิต ย้ำสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการปรับแก้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า บทลงโทษสำหรับผู้ที่ซื้อ ขายตำแหน่งในระดับรัฐมนตรี ประธาน กรธ.ระบุว่า ยังคงโทษจำคุก 5- 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ซึ่งการลงโทษเช่นนี้ไม่ได้ร้ายแรงกว่าข้าราชการ ขณะที่พรรคการเมืองใดที่ไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามมาตรา 23 จะให้ กกต.แจ้งเรื่องลดเงินอุดหนุนพรรค และเอาผิดทางคดีอาญากับหัวหน้าพรรค ซึ่งบทลงโทษนี้ เป็นการปรับลดจากโทษยุบพรรคการเมือง เพราะหลายพรรคการเมืองเห็นว่าบทกำหนดกิจกรรมทางเมืองกว้างเกินไป อาจเกิดการกลั่นแกล้ง จึงกำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองเขียนแผนกิจกรรมประจำปีส่งให้ กกต. เพื่อประกาศให้ประชาชนรับทราบ
หัวคสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ปั๊มรวดเดียว 3 ฉบับ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบออกคำสั่ง มาตรา 44 จำนวน 3 ฉบับ คือ
ฉบับที่ 1 คำสั่ง คสช. เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 ว่าด้วยการกำหนดพื้นที่ของการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้เพิ่มจังหวัดนครพนมและจังหวัดกาญจนบุรี หลังลงดูพื้นที่ศึกษาเรียบร้อยแล้วไม่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนที่มีผลกระทบเล็กน้อยก็เตรียมมาตรการช่วยเหลือแล้ว
ฉบับที่ 2 เรื่องระงับการคัดเลือกบุคคลและสรรหาเพื่อเสนอเป็นกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากในปัจจุบันกรรมการ กสทช.ด้านกฎหมายจะพ้นจากการดำรงตำแหน่ง ด้วยอายุครบ 70 ปี ซึ่งหัวหน้า คสช.เห็นว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังสามารถทำงานขับเคลื่อนไปได้ และเพื่อให้สอดคล้องกับการสรรหาคณะกรรมการในส่วนอื่น จึงออกคำสั่งมาตรา 44 ให้คณะกรรมที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน 9 คนทำหน้าที่ต่อไป โดยไม่ต้องคัดเลือกและสรรหาใหม่ จนกระทั่งพ้นสภาพและเหลือไม่ถึง 6 คนจึงจะสรรหาบุคคลเข้ามาเพิ่ม หรือจนกว่ากฎหมายองค์กรจัดสรรความถี่ปี 2553 ที่ขณะนี้ปรับแก้ไขอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วเสร็จ และประกาศใช้
ฉบับที่ 3 เรื่อง ที่เกี่ยวกับ กสทช. ในเรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยในส่วนของวิทยุ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 กำหนดให้คลื่นความถี่วิทยุ ของหน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานรัฐต้องส่งคืน กสทช. ภายในเดือนเม.ย.2560 เพื่อพิจารณาจัดสรรใหม่ ดังนั้น คสช.จึงขอขยายระยะเวลาแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2555 ออกไปอีก 5 ปี แทนการใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ปี 2560
22 ธันวาคม 2559
สนช.แนะกลุ่ม ต้าน พ.ร.บ.คอมฯ รอกฎหมายประกาศใช้ หากพบต้องปรับปรุงพร้อมช่วยประสานแก้
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อปรับปรุงฉบับเดิม ในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ถูกกล่าวหา ถูกพาดพิง หรือถูกเผยแพร่ข้อความที่ไม่เป็นความจริงผ่านโซเชียลมีเดีย จึงอยากให้ศึกษารายละเอียดก่อน ส่วนที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา 44 ระงับการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น เรื่องนี้ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี เพราะกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสนช. ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของนายกรัฐมนตรีที่เตรียมทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ โดยการจะปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งได้นั้น ต้องรอให้กฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาก่อน และหากต้องการให้มีการปรับปรุงก็สามารถเสนอความเห็นผ่านมายังกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) และ สนช. เพื่อนำเรื่องส่งต่อเข้าที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อเห็นควรให้มีการปรับปรุงจะส่งเรื่องต่อไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและเสนอกลับมายัง สนช. ให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไป
23 ธันวาคม 2559
สนช.ไฟเขียวรายงานแก้ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ ห้ามเล่นกอล์ฟ รับของขวัญ นั่งที่ปรึกษาบริษัท
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม” ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 4 ด้าน คือการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ป้องกันการใช้ระบบอุปถัมภ์ ส่งเสริมระบบคุณธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติ การดำเนินการด้านการบริหาร ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง ยกระดับการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดข้อห้ามต่าง ๆ เหมือนบางประเทศ เช่น การห้ามรับของขวัญ รับเลี้ยง รับสินบน หรือเล่นกอล์ฟ กับผู้มีส่วนได้ประโยชน์ หรือการห้ามข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว เข้าไปรับทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคธุรกิจเอกชน ที่ข้าราชการผู้นั้นเคยมีอำนาจอยู่ในหน่วยราชการนั้นๆ ในระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หลังจากเกษียณอายุราชการ และเห็นควรลดขั้นตอนระยะเวลาในกระบวนการด้านตุลาการและกระบวนการให้ความเป็นธรรม มีบทลงโทษที่เด็ดขาด และฝึกอบรมภาคราชการและเอกชน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้จัดตั้งองค์กรกลางการบริหารงานบุคคล เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมและกำกับดูแลให้การบริหารงานบุคคลภาครัฐ เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน มีความเป็นกลาง เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหารหรืออยู่ใต้การบังคับ บัญชาของฝ่ายบริหารโดยตรง
สนช.มีมติประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน เห็นด้วย 179 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการที่ว่า จากการพิจารณาอัตราโทษในกฎหมายตามบัญชีท้ายร่างพ.ร.บ. ปรากฏว่า อัตราโทษตามกฎหมายบางฉบับได้กำหนดไว้เป็นเวลานานแล้วและไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น อัตราโทษตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติองค์การส่งเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่กำหนดโทษปรับเพียงไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งทำให้อัตราโทษปรับไม่ได้สัดส่วนกับอัตราโทษจำคุกที่กฎหมายทั่วไปกำหนด โดยถืออัตราโทษจำคุก 1 ปี ต่ออัตราโทษปรับ 20,000 บาท ดังนั้น สมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ซึ่งรักษาการตามกฎมายจะได้พิจารณาทบทวนและดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษตามกฎหมายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน