7 มกราคม 2560
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้แล้ว
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไข มีผลบังคับใช้แล้ว โดยให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่ตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้น เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งต่อมาได้เริ่มมีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา สมควรบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้องเพื่อเป็นการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ซึ่งโบราณราชประเพณีดังกล่าว
โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันร่างกฎหมายเลือกตั้งให้ทันตามโรดแมป
นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณา ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ทางกรธ.ยืนยันพร้อมจะส่งร่าง พ.ร.ป. สองฉบับดังกล่าวให้ สนช.ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และขอยืนยันว่ากรธ.ไม่มีเจตนาดึงเวลาให้เลือกตั้งล่าช้าออกไป ส่วนจะเลือกตั้งเมื่อไรต้องขึ้นอยู่กับ คสช.และรัฐบาลที่จะตัดสินใจ ในส่วนของกรธ.เองยืนยันว่าจะร่างกฎหมายให้ทันตามโรดแมปเดิม
รองประธาน สนช. คนที่ 2 ยืนยัน สนช. ไม่ยื้อเวลาเลือกตั้ง
พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. กล่าวถึงกรณียังมีเสียงวิจารณ์อย่างหนักเรื่องเลื่อนโรดแม็พเลือกตั้งว่า ตนยังยืนยันสนช.ไม่ยื้อเวลาเลือกตั้ง เพราะทุกอย่างอยู่ที่ร่างรัฐธรรมนูญว่าจะประกาศใช้เมื่อไหร่ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งร่างกฎหมายลูกมาวันไหน แต่คิดว่าสนช.คงไม่เห็นต่างอะไรจากร่างของกรธ.มากนัก อีกทั้ง สนช.ได้ศึกษา วางแผนและขั้นตอนร่างกฎหมายลูกเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อกรธ.ส่งร่างมาแล้วคงไม่เกิดกรณีล่าช้า อย่างไรก็ตามเท่าที่พูดคุยและตรวจสอบทางรัฐบาลก็ยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง ทุกอย่างตามกระบวนการขั้นตอนมีไว้อยู่เดิมแล้ว ไม่มียื้อ ไม่มีเตะถ่วง ทุกคนต้องรู้หน้าที่ตัวเอง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่าใครมีหน้าที่อะไร
9 มกราคม 2560
ประธาน กรธ. ไม่ยืนยันได้เลือกตั้ง ทันโรดแมปปี 2560 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมืองและ กกต.
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกเวลาชัดเจนถึงวันเลือกตั้งได้ เพราะต้องรอรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองและกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน จึงจะทำกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับให้สอดคล้องกันได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมืองและกกต.ด้วย จึงตอบไม่ได้ว่าจะเลือกตั้งได้ทันตามโรดแมปปีนี้หรือไม่ หากทันปีนี้ก็เลือกได้ปลายปีหรือต้นปีนี้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวันที่ตามปฏิทิน เพียงแต่กำหนดกรอบเวลาเอาไว้เท่านั้น ซึ่งระหว่างนี้งานของ กรธ. ก็ไม่ได้หยุดชะงัก โดยยังคงเดินหน้ายกร่างกฎหมายลูกอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาควบคู่กันไป เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว พร้อมมั่นใจว่า จะไม่เกิดอุบัติเหตุอะไรที่จะทำให้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งถูกตีตกไปในชั้น สนช. เพราะ กรธ.ยกร่างตามรัฐธรรมนูญอย่างดีที่สุด
ที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. มีมติแก้ รธน. ให้ตรงพระประสงค์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ปัจจุบันทูลเกล้าฯ ถวายแล้วว่า ภายหลังทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ องคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา 3-4 รายการ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจพระองค์ท่าน สำนักราชเลขาธิการจึงทำเรื่องมาที่รัฐบาล รัฐบาลจึงรับสนองพระบรมราชโองการฯ โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เปิดช่องให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน เมื่อแก้เสร็จแล้ว จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ โดยใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ถึงจะทูลเกล้าฯอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน
10 มกราคม 2560
ประยุทธ์แจงตั้ง กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูป-ปรองดอง ขออย่าสนใจแต่เอาคนคุกออก-คนต่างปท.กลับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึง แนวคิดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองว่า วันนี้รัฐบาลทำงานตามแผนงาน บูรณาการ ปฏิรูประบบราชการ และระบบงบประมาณแก้ไขปัญหาครบวงจร เดินหน้าตามนโยบาย การปฏิรูปของรัฐบาลมีความคืบหน้ามาก โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป ปรองดอง โดยนำงานที่ทำแล้วทั้งหมดมาดูเพื่อสร้างให้เกิดความชัดเจน ส่วนที่ยังทำไม่ได้เนื่องจากติดกฎหมายก็ต้องเร่งรัด หากมีความจำเป็นก็ต้องใช้มาตรา 44 ดำเนินการ นี่คือการปฏิรูประยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 เพราะไม่ได้อยู่ถึง 20 ปี แต่จะทำให้เกิดความชัดเจน ให้ทุกอย่างอยู่ในแผนแม่บท นี่คือการส่งต่อให้แก่รัฐบาลใหม่
ส่วนเรื่องการปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขออย่าเข้าใจว่าการปรองดองต้องทำด้วยการพูดคุยกับนักโทษ หรือผู้มีความผิดเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเพื่อไม่ให้คนไทยทะเลาะกันอีก ถามว่าที่ผ่านมาทะเลาะกันเพราะสาเหตุใด ทำไมคนไทยถึงปฏิสัมพันธ์กันไม่ได้ เพราะคนอาศัยอยู่บ้านเดียวกันยังคุย หรือดูโทรทัศน์ช่องเดียวกันไม่ได้ อย่ามัวสนใจแต่ว่าจะเอาคนติดคุกออกมา หรือให้คนที่อยู่ต่างประเทศกลับมาหรือไม่
11 มกราคม 2560
รัฐบาลจัดทีมอรหันต์เร่งยกร่างรธน.ฉบับแก้ไข “มีชัย-บวรศักดิ์-พรเพชร” มาพรึบ
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557ให้เสร็จในวันศุกร์ที่ 13 มกราคมนี้แล้ว นายกฯจะต้องไปรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับลงมาภายใน 30 วัน เมื่อไปรับพระราชทานมาแล้วจะมีการแต่งตั้ง “กรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน” ทันที โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ 2 อย่างคือ 1.ยกร่างเฉพาะมาตรา และ 2.ตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน
คณะกรรมการชุดนี้มีจำนวน 8 – 10 คน คุณสมบัติจะต้องมีความเชื่อมโยงกับเรื่อง และต้องเป็นกรรมการกฤษฎีกา ประกอบด้วยตัววิษณุเอง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. อัชพร จารุจินดา กรธ. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บวรศักด์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อถามว่า มาตราที่จะแก้ไข คือ มาตรา 5, 17 และ 182 ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ในหลักการเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องดูว่าทั้งสามมาตราที่พูดถึงจะเกี่ยวพันกับมาตราใดอีกบ้าง หากมีก็ต้องตามไปแก้ด้วย ยืนยันจะไม่มีส่วนใดไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพ โครงสร้างทางการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และ ณ วันนี้ รัฐบาล ยังคงยืนยันในโรดแมปเดิมอยู่ เพราะในที่ประชุมร่วมเมื่อเช้าได้พูดเรื่องนี้ชัดเจนแล้ว
12 มกราคม 2560
สนช.พร้อมออก กม.รองรับปฏิรูป-ยุทธศาสตร์-ปรองดอง
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. กล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ว่า เป็นการกำหนดนโยบายและกรอบเวลาในการที่รัฐบาลจะเร่งรัดมาตรการเรื่องการปฏิรูปประเทศให้ลงมือปฏิบัติเห็นผลภายใน 1 ปี คือ ปี 2560 และเป็นแผนระยะเวลาที่จะต้องแล้วเสร็จไม่เกินปี 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าถ้าได้ลงมือภายในปี 2560 จะมีการส่งมอบภารกิจไปยังรัฐบาลชุดหน้าเพื่อสานต่อ เพราะมีการเริ่มต้นไว้แล้ว ซึ่งการดำเนินการหลายเรื่องต้องมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จึงเป็นเหตุผลว่า สนช.ทำไมเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เพราะกฎหมายจะทยอยมายัง สนช.ในเดือนมีนาคม ตนได้แจ้งกับที่ประชุมว่า สนช.ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการบัญญัติกฎหมายที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้หรือจำเป็นต้องออกมาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรม
สนช.มีมติรับร่าง พ.ร.บ.การเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. .... ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.การเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมันอันเกิดจากเรือ พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 203 คะแนน ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 ระเวลาการดำเนินงาน 60 วัน
พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เมื่อมีความเสียหายจากมลพิษน้ำมันที่เกิดจากเรือ ผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษอาจจะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือได้รับค่าสินไหมทดแทนไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่ได้รับ ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1992 จะส่งผลดีต่อบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน และเพื่อเป็นการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว
13 มกราคม 2560
สนช. เห็นชอบร่างแก้ไข รธน.ชั่วคราวฯ เปิดช่องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหากมีการพระราชทานข้อสังเกต
13 มกราคม 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิเศษประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ การประชุมครั้งนี้จะใช้การลงมติโดยวิธีการขานชื่อสมาชิกเป็นรายบุคคล โดยการแก้ไขมีสองประเด็น คือ 1) เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้
2) เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้า การพิจารณาครั้งนี้ สนช.พิจารณาผ่านสามวาระรวด โดยวาระที่สาม สนช.เห็นชอบ 228 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง