NLA Weekly (14 ม.ค.-20 ม.ค. 2560) : ม.44 ตั้งคณะกรรมการปรองดอง "ป.ย.ป." คุมทั้งการปฏิรูปและปรองดองภายใต้ คสช.

NLA Weekly (14 ม.ค.-20 ม.ค. 2560) : ม.44 ตั้งคณะกรรมการปรองดอง "ป.ย.ป." คุมทั้งการปฏิรูปและปรองดองภายใต้ คสช.

เมื่อ 22 ม.ค. 2560
14 มกราคม 2560
 
กรธ.เล็งส่งร่างก.ม.ลูก กกต.ให้สนช.ศึกษารายละเอียดไปก่อน ยัน 3 อรหันต์ร่วมทีมแก้ รธน.ไม่กระทบทำงาน
 
เธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวทางการทำงานว่า แม้จะมีตัวแทนจาก กรธ. 3 ราย ไปร่วมเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ แต่จะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของ กรธ. โดยองค์ประชุมที่เหลือจะทำหน้าที่กันตามปกติ ขณะนี้พิจารณาร่างกฎหมายลูกถึงในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายลูกแต่ละฉบับ และเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล แล้วนำตัวร่างเสนอให้ที่ประชุม กรธ.พิจารณา นอกจากนี้ กรธ. ยังได้เตรียมร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือตั้ง (กกต.) ฉบับล่าสุด ที่ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย ส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไปพิจารณาศึกษารายละเอียดและเจตนารมณ์ของ กรธ.ไว้ก่อน เมื่อถึงกำหนดที่ กรธ.ต้องส่งร่างสุดท้ายไปให้ สนช.จะได้มีความพร้อมในการพิจารณาต่อไป
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
วิปสนช. รับพิจารณากฎหมายลูกชะงัก เสนอ กรธ.สรุปประเด็นที่เห็นต่างกับองค์กรที่เกี่ยวข้องมาให้ก่อน
 
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวถึงกรณี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ประสานขอ กรธ.เป็นการภายในให้ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาศึกษาก่อนล่วงหน้า ว่า เรื่องกฎหมายลูกขณะนี้ยังชะงัก เพราะมีเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ตามโรดเเม็ปเดิม สนช.มีเวลาพิจารณากฎหมายลูกเเค่ 60 วันหลัง กรธ.ส่งมา ซึ่งทำไม่ทัน จึงต้องการตั้งคณะกรรมการศึกษาล่วงหน้า ไม่มีตัวเเทน กรธ.เเละรัฐบาล โดยที่ผ่านมา กรธ.มีประเด็นใด จะเเถลงผ่านสื่อเป็นประเด็นๆ ไป สนช.จะรู้เเค่ตามหน้าสื่อ เช่น เรื่องการจะยกเลิกกกต.จังหวัด ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่เเทน ซึ่ง กกต.เองยังเเสดงความเห็นต่าง แต่ทาง กรธ.เปิดเผยเท่าที่เปิดเผย เพื่อความรวดเร็ว
 
ที่มา: ไทยรัฐ
 
15 มกราคม 2560
 
รอง ปธ.สนช. ชี้ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองต้องปรับอีกพอสมควร รอดูนโยบาย ป.ย.ป.ก่อน
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการการเมือง สนช. เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เป็นแนวทางสร้างความปรองดองให้คนในชาติ ว่า ยังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุม สนช. คงต้องรอการมอบนโยบายเรื่องการสร้างความปรองดองจากคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตั้งขึ้นมา เพื่อนำมาประกอบเป็นเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. เชื่อว่าเนื้อหาตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจจะต้องปรับแก้อีกพอสมควร
 
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงแนวทางปรองดองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้เรียกคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน และให้ลงนามทำข้อตกลงยุติความขัดแย้งว่า แนวทางเจรจาถือเป็นเรื่องดี ยิ่งหากมีการทำข้อตกลงเอ็มโอยูยิ่งดีใหญ่ เท่ากับมีเครื่องยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม ใครทำผิดข้อตกลงจะได้รู้กัน  ดีกว่าให้พูดปากเปล่า สุดท้ายก็มาบิดพลิ้ว โดยบอกว่าไม่ได้พูด ถือเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การปรองดอง แต่สุดท้ายแล้วจะสามารถลงนามข้อตกลงร่วมกันได้หรือไม่ ถือเป็นอีกเรื่อง
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) แล้ว
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 มีรายละเอียดดังนี้
 
มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560”
 
มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
 
“ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”
 
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 
“เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณีขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป”
 
 
16 มกราคม 2560
 
"ประวิตร" เผยคณะกรรมการปรองดองมี "ทหาร-ตร." ชี้ทำเอ็มโอยูทุกฝ่าย ปัดไม่เกี่ยว "รธน.-นิรโทษฯ-อภัยโทษ"
 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองว่า ในเรื่องความปรองดองนั้นจะพิจารณาตั้งคณะกรรมการฯ ในวันนี้ (16 ม.ค.) ให้แล้วเสร็จ ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้ตนเข้ามาดูแลการสร้างความปรองดอง โดยให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่าจะสร้างความปรองดองในสังคมไทยได้อย่างไร ทั้งนี้การปรองดองไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนที่เข้าไปสังกัดพรรคการเมือง และมีแนวความคิดต่างๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบการสร้างความปรองดองนั้น จะมีตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะ โดยเราจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้ใหญ่ ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟัง พร้อมรวบรวมประเด็นทั้งหมด เพื่อเขียนเป็น กติกา และจะมาชี้แจงให้พรรคการเมือง และทุกๆ ฝ่ายรับทราบ ซึ่งกติกาข้อใดที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถหารือกันได้
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
รมต. สำนักนายกฯ เสนอให้ ครม. สนช. สปท. เป็นคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 
 
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวถึงการเดินสายพูดคุยกับองค์กรต่างๆเกี่ยวกับการตั้ง ป.ย.ป.ว่าช่วงเช้าว่า ได้หารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ถึงการเตรียมการปฏิรูปและได้เสนอให้เพิ่มบทบาทของวิป 3 ฝ่าย ครม. สนช. สปท. จากเดิมที่มีเพียงตัวแทนมาคุยกัน ให้เพิ่มกรรมาธิการของ สนช.และสปท. มาร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปและสร้างความปรองดองด้วย เป็นการแปลงวิป 3 ฝ่ายเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นคณะที่ 2 ของ ป.ย.ป. ส่วนรายชื่อรองนายกฯที่จะนั่งใน 4 คณะย่อยนั้น ยังไม่ชัดเจนในสัปดาห์นี้จะมีรายชื่อปรากฏออกมา นอกจากรองนายกฯแล้วยังจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
 
นอกจากนี้ สุวิทย์ กล่าวอีกว่า การจัดตั้งสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) คาดว่าจะต้องใช้มาตรา 44 โดยวางโครงสร้างองค์กรต้องตั้งขึ้นง่ายยุบง่ายมีความคล่องตัวมีงบประมาณของตัวเอง 2 ปีต้องจบ ถ้ารัฐบาลหน้าจะทำต่อก็สามารถทำได้ โดยจะดึงคนที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาทำงาน เบื้องต้นจะเสนอให้ใช้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งยังเหลือโควตาการแต่งตั้งอยู่ให้มาทำงานปฏิรูประดับบัญชาการ 10 เรื่อง แบ่งเป็น 10 ทีม และจะสรรหาคนที่เก่งและดีมาทำงานตรงนี้ จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานระดับรองลงมาทั้งคณะทำงานและผู้ช่วยคณะทำงาน 
 
"บทบาทของพีเอ็มดียู คือการตรวจสอบติดตามประเมินผลการทำงานของ ป.ย.ปที่สำคัญคือสามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆ ได้ โดยรายงานตรงต่อนายกฯ ละการทำงานจะไม่ล้ำเส้นบทบาทของรองนายกฯ เป็นหน่วยงานที่ปิดทองหลังพระ ผลงานที่ออกมาจะเป็นของรัฐบาลเพราะพีเอ็มดียูเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เกิดผล และป.ย.ป.ไม่ได้ตั้งช้า เรื่องทั้งหมดรัฐบาลได้ทำมาอย่างต่อเนื่องแต่ครั้งนี้เป็นการบูรณาการ"
 
ที่มา: ไทยรัฐ  
 
'บิ๊กเจี๊ยบ-บิ๊กเข้' กุมบังเหียน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วางอนาคตประเทศ
 
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ใน ป.ย.ป.ร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ขณะนี้รอเพียงคำสั่งอย่างเป็นทางการจากนายกฯซึ่งตนได้เดินหน้างานในส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้วว่า จะดำเนินการอย่างไร จากนี้จะเรียกประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานอีกครั้งการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จากนี้จะเรียงร้อยการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้ง 6 คณะ ที่มีรองนายกฯ แต่ละด้านกำกับดูแล โดยนำงานของ สปท.มาผนวกเข้าด้วยเพื่อจัดเรียงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ทันสมัยตามที่นายกฯ มอบหมาย เพื่อให้มองเห็นภาพว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งในอนาคต 15-20 ปีข้างหน้า จะเห็นภาพประเทศไทยได้ไม่ยาก
 
ที่มา: ไทยรัฐ  
 
17 มกราคม 2560
 
สปท. ค้าน ออกกฎหมายล้วงเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
 
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นชอบร่วมกันให้ถอนรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่องการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข และร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข 2.ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 3. ร่างพระราชบัญญัติ ประกันสังคม
 
การถอนรายงานฉบับดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่สมาชิก สปท.จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะการตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ที่นำเงินส่วนหนึ่งมาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องสถานะทางการเงิน ซึ่งจำเป็นต้องนำเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาช่วยอุ้มสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลด้วย
 
อีกทั้งยังมีข้อสงสัยว่า เมื่อนำเงินของกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ไปจ่ายให้กับผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์แล้ว จะมีการฟ้องร้องแพทย์และพยาบาลโดยตรง เพื่อเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่
 
ที่มา: ข่าวช่อง 8
 
นายกฯ ส่งเรื่องทูลเกล้าฯ ขอรับพระราชทาน ร่าง รธน.กลับคืนแก้ไขแล้ว
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ว่า ตนได้ลงนามนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับคืนมาแก้ไข โดยจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติไปปรับปรุงแก้ไข จากนั้นจะส่งให้สำนักอาลักษณ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์เขียนลงในสมุดไทย ซึ่งเป็นการทำตามจารีตประเพณี โดยคาดว่าการดำเนินการทั้งหมด จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
'วิษณุ' อุบข้อสังเกตพระราชทาน ขออย่าพูดถึงแก้ ม.5
 
ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ.พระอาทิตย์ มีการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ จะเป็นไปตามข้อสังเกต ซึ่งตามหลักของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดหลักการว่า ให้นายกรัฐมนตรีไปขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแก้ไข โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ จะต้องมากลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง ก่อนยกร่างฯเพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา ส่วนข้อสังเกตนั้น ขณะนี้สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งลงมาแล้ว โดยส่งมาเป็นประเด็น ไม่ได้เป็นเลขมาตรา ส่วนการกำหนดมาตราเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ที่พิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามเจตนารมณ์ของสำนักราชเลขาธิการ
 
ที่มา: ไทยรัฐ 
 
คสช.ใช้ ม.44 ตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป.-EEC
 
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุม คสช. นัดพิเศษวันนี้ ได้พิจารณาการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องแรก คือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ดังนี้ 1. ขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ ต่อเนื่องจากคณะทำงานขับเคลื่อนเดิม 2. กลุ่มงานปฏิรูป ซึ่งจะมีการนำแผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปรับปรุง ประเด็นไหนที่รัฐบาลทำไปแล้ว และประเด็นไหนที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ หรือต้องทำเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และ 3. คณะกรรมการปรองดองที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ
 
นอกจากเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. แล้ว ที่ประชุม คสช. ใช้ ม.44 จัดตั้งคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ขับเคลื่อนการลงทุนในเรื่องโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนหนทางต่างๆ คณะกรรมการชุดนี้จะมี 2 ระดับ คือ คณะกรรมการนโยบาย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ และคณะกรรมการระดับพื้นที่ เพื่อให้การทำงานรวมเร็วยิ่งขึ้น หากไม่ใช้ ม.44 ก็ต้องยกร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องเวลาในการผลักดันร่างกฎหมายให้ผ่านการพิจารณาของ สนช. 3 วาระ หลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ซ่อมเครื่องบิน ยางรถยนต์ และอีกหลายโครงการ