23 มกราคม 2560
วิษณุ เผยได้รับพระราชทานร่าง รธน.คืนมาแล้ว
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในขณะนี้ได้รับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ (รธน.) คืนมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 โดยมีกรอบเวลาในการแก้ไขทั้งหมด 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560 และขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าคณะกรรมการที่เดินทางไปต่างประเทศกลับมาแล้วหรือยัง เพื่อจะได้กำหนดวาระการประชุม นอกจากนี้ วิษณุยังกล่าวอีกว่า น่าจะสามารถคุยในเรื่องเนื้อหาได้เลย และหลังจาก 30 วันตามกรอบเวลาในการปรับแก้ไข ก็จะนำขึ้นถวายทูลเกล้า ทั้งนี้ ขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้นจะต้องรวมอยู่ในกำหนด 30 วันเช่นกัน
24 มกราคม 2560
สนช. แนะตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาขึ้นตรงกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
การประชุมคณะกรรมมาธิการการศึกษาและการการกีฬา ของ สนช.ที่มี ตวง อันทะไชย เป็นประธานประะชุมพิจารณา เรื่องการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยเห็นควรให้สถาบันดังกล่าวขึ้นตรงต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยตรง เพื่อความเป็นเอกภาพ และสามารถสั่งการหรือบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ถ้าหากให้สถาบันไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยก็จะทำให้การดำเนินงานไม่มีความเป็นเอกภาพ และไม่สามารถสั่งหรือบูรการกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้เต็มที่ ประกอบกับ การบริหารจัดการก็อาจไม่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่
กรธ.จะเร่งสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการประสานงานทั้ง 2 ฝ่าย คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายกับรัฐบาล รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานต่อไป
25 มกราคม 2560
มติ สนช. ผ่านวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยแม้โจ้
ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ.... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียง 199 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
ม.ล.ปนัดดา ดิษฐกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยแม้โจ้เป็นมหาวิทยาลัยในการกำกับของรัฐ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ คล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
สมาชิก สนช. ได้มีการอภิปรายและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือ การเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะทำให้ปรัชญา รากฐานเดิมของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ค่าเทอมจะมีผลกระทบต่อคนยากจนหรือไม่ รวมทั้งความมั่นคงของข้าราชการและสถานภาพลูกจ้างจะได้รับผลกระทบหรือไม่ และมีการทำประชาพิจารณ์ในกรณีนี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา การประเมินคุณภาพและการประเมินส่วนงาน การบังคับเปลี่ยนสถานภาพของบุคลากรภายใน 60 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นการลิดรอนสิทธิของเจ้าหน้าที่หรือไม่
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ใหม่ ประกาศใช้แล้ว
ราชกิจจานุเบกษามีประกาศใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 แล้ว โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เนื่องจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมต่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปแบบการกระทำความผิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและโดยที่มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีภารกิจในการกำหนดมาตรฐานและมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศสมควรปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับผู้รักษาการตามกฎหมาย กำหนดฐานความผิดขึ้นใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดเดิม รวมทั้งบทกำหนดโทษของความผิดดังกล่าว การปรับปรุงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตลอดจนกำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งมีอำนาจเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่มีทั้งหมด 20 มาตรา และจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน
26 มกราคม 2560
มีชัย ยันหลักการปรองดองเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
มีชัยกล่าวถึงการสร้างความปรองดองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญว่า จะพยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยสิ่งที่จะกำหนดนั้นต้องมีความเป็นธรรม กฎหมายทุกฉบับต้องมีความเป็นธรรม และต้องได้รับความเท่าเทียมกันทุกฝ่าย ส่วนในการปรองดองกันในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ตนเองไม่ทราบ เพราะจะมีกฎหมายมารองรับหรือไม่ก็ยังไม่มีใครรู้ ในส่วนกรณีที่จะมีการจัด workshop ของคณะกรรมการการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียด
27 มกราคม 2560
มติ สนช. ผ่าน 3 วาระรวด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2560 1.9 แสนล้านบาท
ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 ทั้ง 3 วาระ โดย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง ฯ นี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและ ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
งบประมาณดังกล่าว ประกอบด้วบ 2 ส่วน คือ 1) เป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จำนวนไม่เกิน 162,921,721,300 บาท แบ่งเป็น เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 22,921,721,300 บาท จัดสรรให้แก่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10,000,000,000 บาท จัดสรรให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 15,000,000,000 บาท จัดสรรตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีการจัดสรรเป็นกลุ่มจังหวัดและรายกระทรวง หน่วยงาน 115,000,000,000 บาท และ 2) ชดเชยเงินคงคลัง จำนวน 27,078,278,700 บาท
การจัดสรรงบเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัด โดยให้ประชาชนและประชาสังคมเข้าร่วมนั้น เป็นการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ผ่านกลุ่มจังหวัด ซ่ึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และงบประมาณจะถูกจัดสรรไปยังพื้นที่ที่ต้องการจริง ๆ
ในขณะที่สมาชิก สนช. ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการติดตามการใช้จ่ายงบสำรองกรณีฉุกเฉิน ควรต้องตั้งหน่วยงานส่วนกลางขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่าเงินดังกล่าวนั้นถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
กฎหมายภาษีฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิลดหย่อน สามี-ภรรยา
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 โดยมีการแก้ไขสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 60,000 บาท 2. ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสที่มีเงินได้ 60,000 บาท 3. ค่าลดหย่อนสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน และ 3. ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดก ให้หักลดหย่อนได้ 600,000 บาท 4. ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลให้หักลดหย่อนได้ สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยแต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท