NLA Weekly (28 ม.ค.- 3 ก.พ. 60): 4 อนุฯ สปท. ขอลาออก เหตุร่าง กม.ถูกแก้เพื่อคุมสื่อ

NLA Weekly (28 ม.ค.- 3 ก.พ. 60): 4 อนุฯ สปท. ขอลาออก เหตุร่าง กม.ถูกแก้เพื่อคุมสื่อ

เมื่อ 5 ก.พ. 2560
31 มกราคม 2560
 
ประธาน กรธ. เผย ร่างกฎหมายว่าด้วยแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ใกล้เสร็จแล้ว  
  
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูป และกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ว่า ขณะนี้ใกล้เสร็จแล้ว เตรียมส่งให้รัฐบาลพิจารณา  ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการปฏิรูปและกำหนดยุทธศาสตร์ ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องอะไร กรรมการยุทธศาสตร์จะมาจากส่วนไหนและ รับฟังความเห็นจากใครบ้าง  โดยเบื้องต้น ได้วางหลักคิดเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปกับ วิธีการทำยุทธศาสตร์ไว้ แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดของเนื้อหา เป็นเพียงโครงร่าง  พร้อมกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยกเว้นมีเรื่องใหม่ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ อาจจะต้องข้อเขียนเป้าหมายขึ้นมาใหม่ตามความต้องการของการปฏิรูป   ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะมีการตราขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้    ส่วนคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)  ที่รัฐบาลตั้งขึ้นนั้น ก็เพื่อศึกษาและวางแนวทางล่วงหน้าตามทิศทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด  รองรับก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติจะประกาศใช้    
 
 
สนช.รับเรื่องร้องเรียนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน
 
นวนันทน์ เนติธนากูล ผู้อำนวยการสำนักงานประธานวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้แทน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 รับการยื่นหนังสือจากกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร จากกรณีที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวถูกคำสั่งให้ย้ายออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำอูน มาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพในพื้นที่จำนวน 15 ไร่ อำเภอกุดบาก และอำเภอวาริชภูมิ ตามที่ได้จัดสรรไว้ให้ แต่พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีผู้ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและหาแนวทางให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ
 
 
1 กุมภาพันธ์ 2560
 
4 ตัวแทนสื่อ ขอลาออกจากอนุฯ สปท. เหตุร่างกฎหมายถูกแก้เพื่อคุมสื่อ
 
จักรกฤษณ์ เพิ่มพูล อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท. กล่าวถึงกระแสข่าวตัวแทนสื่อที่เป็นอนุ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ จะยื่นหนังสือลาออกจากอนุ กมธ. เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของ สปท.ว่า เป็นเรื่องจริง ตัวแทนสื่อที่อยู่ในคณะอนุกมธ. 4 คนประกอบด้วยตน ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สุวรรณา สมบัติรักษาสุข และอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ จะยื่นหนังสือลาออกจากอนุ กมธ. เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ เดิมร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ศึกษาไว้ และสปท.มาสานต่อ โดยให้คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอนุกมธ.ได้ศึกษาและรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ใช้เวลาเป็นปี จนตกผลึกเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา มีเนื้อหาในแง่ส่งเสริมสนับสนุนการทำหน้าที่สื่อ และให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ไม่ได้มีเนื้อหาการควบคุมสื่อตามที่เป็นข่าว แต่เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน กลับถูกแก้ไขเนื้อหาไปจากเดิม
 
ที่มา: ประชาไท 
 
2 กุมภาพันธ์ 2560
    
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การสาธารณสุข
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 203 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน  การร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อจัดการปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดและคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่ และกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตลอดจนกำหนดให้ผู้ขออนุญาตในกิจการบางประเภทหรือบางขนาดต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดก่อนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกใบอนุญาต
      
 
สปท.ให้ กมธ.ด้านสื่อ ปรับปรุงรายงานการปฏิรูปสื่อให้สมบูรณ์ขึ้น
 
คำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงภายหลังประชุมว่า ได้พิจารณาเรื่องการปฏิรูปสื่อสารมวลชน ตามที่มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุม วิป สปท. เห็นตรงกันว่าต้องมีการปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเห็นด้วยในหลักการที่จะให้สื่อควบคุมกันเองโดยสมัครใจ แต่ควรยกระดับเป็นการควบคุมกันเองโดยมีสภาพบังคับทางกฎหมาย รวมถึงประเด็นสำคัญเรื่องการตั้งสภาวิชาชีพ จึงตั้งข้อสังเกตให้คณะกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน สปท.กลับไปปรับปรุงรายงานให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนนำกลับมาเสนอต่อ วิป. สปท.
 
 
3 กุมภาพันธ์ 2560
 
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง สนช. เพิ่ม 3 คน
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพิ่มเติมตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 จำนวน 3 คน แทนตำแหน่งที่ว่าง ดังต่อไปนี้ คือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม  พล.อ.สสิน ทองภักดี เสนาธิการทหารบก และสมาชิก สปท. พล.ท.ธนเกียรติ ชอบชื่นชม ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ทำให้ขณะนี้สมาชิก สนช.มีจำนวนทั้งสิ้น 250 คน ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจำนวนไม่เกิน 250 คน
 
 
สนช.เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเห็นด้วย 200 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ กำหนดให้การเปลี่ยนชื่อส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม สามารถกระทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และกำหนดให้บทบัญญัติในกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดที่อ้างถึงส่วนราชการหรือตำแหน่งของข้าราชการกระทรวงกลาโหมเดิม ให้ถือว่าอ้างถึงส่วนราชการหรือตำแหน่งของข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่ได้เปลี่ยนชื่อนั้น