ใครออกกฎหมาย? 3: ค้านไม่ต้อง-เห็นชอบครับ! สนช. 90% ไม่แตกแถว

ใครออกกฎหมาย? 3: ค้านไม่ต้อง-เห็นชอบครับ! สนช. 90% ไม่แตกแถว

เมื่อ 5 ก.พ. 2560

รัฐสภามีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชน ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐสภาไทยมีรูปแบบสภาคู่ คือมี สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) ในการพิจารณากฎหมายในสภารูปแบบนี้จะมีฝ่ายค้าน และวุฒิสภาที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นในการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ เราจึงเห็นการโต้เถียงของสมาชิกรัฐสภา แม้บ้างคนอาจจะมองว่าเป็นเพียงสภาน้ำลายที่ดีแต่โต้เถียงกันไปมาก็ตาม ส่วนการโหวตแต่ละครั้งก็มักจะเป็นไปในทิศทางที่กระจัดจายตามพรรค ตามภูมิภาค ตามอาชีพ และตามกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย

หลังการรัฐประหาร รัฐสภาเป็นรูปแบบสภาเดี่ยว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเพียงสภาเดียวในการพิจารณากฎหมาย โดยสมาชิกทุกคนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคสช. จากสมาชิกทั้งหมด 250 คน มีสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภท รวมกันถึง 223 คน หรือ 89% โดยทหารครองสัดส่วนมากที่สุด คือ 145 คน หรือ 58% เป็นที่คาดการณ์กันว่าสัดส่วนทหารจำนวนมากก็เพื่อให้ คสช. มั่นใจว่าจะคุมเสียงในสภาได้ หากกลุ่มอื่นๆ แตกแถว เพราะทหารส่วนใหญ่ก็พวกพ้องน้องพี่กัน ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาส่งซ้ายหันขวาหันยังไงก็ต้องทำ

ตลอดสองปีกว่า สนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.สำเร็จไปแล้วอย่างน้อย 214 ฉบับ ผลการลงมติร่างกฎหมายฉบับต่างๆ จะผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากเกิน 90% ทุกฉบับ เมื่อลงรายละเอียดการลงมติใน ร่างพ.ร.บ. ที่สังคมมีการถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย ก็พบว่าไม่มีร่างพ.ร.บ.ฉบับไหน ที่เสียงข้างมากจะมีมติไม่เห็นชอบเลย หรือแม้แต่จะมีมติเห็นชอบอย่างเฉียดฉิวก็ไม่มี ดังตัวอย่างในตารางที่ยกการลงมติในห้าร่างกฎหมายสำคัญ

 

ชื่อร่าง พ.ร.บ.เห็นชอบ (%)ลงคะแนนทั้งหมดเห็นชอบไม่เห็นชอบงดออกเสียงไม่ลงคะแนน
ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ97%163  158 -1
ร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 91%160  145 10-
ร่างพ.ร.บ.แร่ 98%186 183 --
ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  97% 173168--
ร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 97%188 182 --


เมื่อเห็นว่าคะแนนลงมติร่างกฎหมายออกมาในแต่ละครั้ง สนช. เห็นชอบ 90% ขึ้นไป ก็น่าจะทำให้คสช.สบายใจได้ว่า ไม่มีใครแตกแถว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีฉบับไหนที่สมาชิกเห็นชอบ 100% แม้แต่ฉบับเดียว ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ อย่างน้อย 3 เสียง จะกดปุ่มงดออกเสียง คือ ประธานสนช. และรองประธานอีกสองคน นั่นก็เพื่อแสดงความเป็นกลางในฐานะประธานสภา ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รัฐสภาจากการเลือกตั้งก็ทำเช่นกัน ส่วนสมาชิกทั่วไปก็มีบ้างถ้าไม่ชอบร่างกฎหมายไหนก็จะกดปุ่มงดออกเสียง อย่างประมุท สูตะบุตร ที่กดปุ่มงดออกเสียงเป็นว่าเล่น ขณะที่ปุ่มไม่เห็นชอบก็มีกดกันบ้าง แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลอะไรได้ 

ลองดู 3 ลำดับ ร่างกฎหมายที่สมาชิก สนช. เสียงแตกมากที่สุด

 

1) ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เห็นชอบ 91% จากทั้งหมด 185 เสียง - เห็นชอบ 168 เสียง - งดออกเสียง 17 เสียง
2) ร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก เห็นชอบ 91% จากทั้งหมด 160 เสียง - เห็นชอบ 145 เสียง - ไม่เห็นชอบ 5 - งดออกเสียง 10 เสียง
3) ร่างพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เห็นชอบ 91% จากทั้งหมด 163 เสียง - เห็นชอบ 148 เสียง - ไม่เห็นชอบ 6 เสียง - งดออกเสียง 9 เสียง

 


ย้อนดูการลงมติร่างกฎหมายของรัฐสภาในสมัยที่มีสภาผู้แทนฯ จากการเลือกตั้งที่มีพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ซึ่งมีการลงมติแตกต่างจาก สนช. ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น ตัวอย่าง เดือนกันยายน 2553 สภาผู้แทนฯ ลงมติไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 10 เสียง - ไม่เห็นชอบ 292 เสียง - งดออกเสียง 28 เสียง - ไม่ลงคะแนน 17 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 327 คน ส่งผลให้ร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวต้องตกไปในที่สุด ทั้งนี้ ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ สภาผู้แทนฯ ได้เห็นชอบไปก่อนหน้าแล้ว แต่วุฒิสภาส่งกลับมาให้พิจารณาใหม่ 

เดือนเมษายน 2554 สภาผูู้แทนฯ ผ่าน ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 80% จากทั้งหมด 272 เสียง เห็นชอบ 217 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 41 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกคัดค้านจากภาคประชาชน เมื่อเข้าสู่ขั้นพิจารณาของวุฒิสภา มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งเสนอให้พิจารณาผ่านสามวาระ อย่างไรก็ตามที่ประชุมเพียงแค่รับหลักการเท่านั้น สุดท้าย ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไปเนื่องจากมีการยุบสภาฯ เสียก่อน

ดูจากจำนวนการโหวตเห็นชอบร่างกฎหมายของ สนช. แล้ว คิดถึงรัฐสภาจากการเลือกตั้งที่มักถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” เพราะดูแล้ว สนช. ชุดนี้เทียบกับเผด็จการรัฐสภาจากการเลือกตั้งไม่เห็นฝุ่น