จัดงานเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “จะพิทักษ์เสรีภาพสื่ออย่างไรในสังคมที่แตกแยก” (The Challenges of Protecting Press Freedom in a Divided World)

 
กฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพสื่อฉบับที่เก่าแก่ที่สุดในโลก หรือ The Freedom of the Press Act of 1766 ซึ่งถือกำเนิดขึ้นที่สวีเดนและฟินแลนด์ ได้มีอายุครบ 250 ปีไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้รัฐต้องยกเลิกการเซ็นเซอร์ข่าวสารก่อนเผยแพร่ เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการและเอกสารที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของศาลได้โดยง่าย อันเท่ากับเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐได้อย่างกว้างขวางและเปิดเผย 
 
อย่างไรก็ดี สิทธิและเสรีภาพพื้นฐานซึ่งกฎหมายฉบับนี้คุ้มครองและปกป้องกำลังอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่าเสื่อมถอยในหลายประเทศทั่วโลก การปฏิบัติของสื่อมวลชนเป็นไปอย่างยากลำบาก ในขณะที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในภาครัฐก็ทำได้ยากขึ้น
 
ด้วยเหตุนี้ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนและสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย โดยความร่วมมือกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Alliance – SEAPA) และสถาบัน Swedish Institute จึงได้ร่วมกันจัดงานเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “จะพิทักษ์เสรีภาพสื่ออย่างไรในสังคมที่แตกแยก” (The Challenges of Protecting Press Freedom in a Divided World) ในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ชั้น P อาคารมณียา ชิดลม เวลา 9:00 – 11:30 น. เพื่อนำเอาประสบการณ์ของสวีเดนและฟินแลนด์ในด้านที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมาแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาค โดยมีดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวอาเซียน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้เข้าร่วมเสวนา
 
Mr. Olle Wästberg – อดีตบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ Expresssen และอดีตผู้อำนวยการสถาบัน Swedish Institute
Ms. Elina Grundström – ประธานสภาการสื่อสารมวลชนแห่งฟินแลนด์ 
คุณเทพชัย หย่อง – ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
Mr. U Thiha Saw – กรรมการบริหารสถาบันฝึกอบรมผู้สื่อข่าวเมียนมาร์ และผู้แทนจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมียนมาร์ 
Mr. Nezar Patria – บรรณาธิการข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Jakarta Post และผู้แทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอินโดนีเซีย
 
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย นาย Staffan Herrström เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย นาง Satu Suikkari-Kleven และผู้อำนวยการสำนักงานประเทศไทยขององค์การยูเนสโก นาย Gwang-Jo Kim จะร่วมกล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับผู้เข้าร่วมงานด้วย
 
การเสวนาในครั้งนี้จะเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีล่ามแปลเป็นภาษาไทยตลอดงาน ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่คุณจงจิตต์ อัธยาตมวิทยา โทร. (02) 263-7227 หรืออีเมล [email protected]