6 กุมภาพันธ์ 2560
ประธาน สนช. เผย รธน. ฉบับแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอขึ้นโปรดเกล้าฯ
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ กล่าวถึง ความคืบหน้าในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษได้พิจารณาแก้ไขเรียบร้อยแล้วส่วนรายละเอียดและความคืบหน้า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจง ส่วนการเสนอขึ้นโปรดเกล้าฯ นั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเป็นฝ่ายดำเนินการ
กมธ.สื่อฯ สปท. จ่อปรับเนื้อหา กม.ปฏิรูปสื่อ ตามแนวทางวิปฯ นัด 14 ก.พ.นี้ถกใหม่
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงว่า จากกรณีที่คณะ กมธ.วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ให้ความเห็นต่อ กมธ.สื่อฯ เพื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน 6 ประเด็น กมธ.สื่อฯ มีบทสรุป ดังนี้ กรณีชื่อร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพฯ มีความสอดคล้องกับเนื้อหาหรือไม่นั้น กมธ.ยืนยันจะคงชื่อร่างกฎหมายไว้เหมือนเดิม ขณะที่ประเด็นอื่นๆ อาทิ
1.การปรับปรุงกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มาจากปลัดกระทรวง 4 กระทรวง
2.การลดจำนวนกรรมการสภาวิชาชีพฯ ที่มาจากตัวแทนภาครัฐ
3.การปรับปรุงประเด็นการให้สิทธิผู้เสียหายต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนฟ้องร้องต่อศาล หรือกรรมการสภาวิชาชีพ
4.ประเด็นการพิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
5.ประเด็นการเขียนเนื้อหาที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้การบ้านกับ กมธ.แต่ละคนกลับไปทำการบ้านเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และให้นำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กมธ.สื่อฯ อีกครั้ง ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้
7 กุมภาพันธ์ 2560
กรธ.ยังไร้ข้อสรุป ก.ม.อาญานักการเมือง หวั่นคดีไม่มีอายุความจะกระทบต่อการไต่สวน
นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง การเชิญตัวแทนศาลยุติธรรมเข้าให้ความเห็นในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า กรธ.ได้สอบถามว่า ควรมีการปรับแก้รายละเอียดการเขียนเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่อย่างไร รวมถึงสอบถามถึงเจตนารมณ์ที่บัญญัติไว้ในมาตราต่าง ๆ ประเด็นที่มีผู้เสนอให้คดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่มีอายุความ หรือยืดอายุความคดีให้นานที่สุด ซึ่งในประเด็นนี้ ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าการยืดอายุความหรือการทำให้คดีไม่มีอายุความจะกระทบต่อการไต่สวน อาทิ การยืดอายุความอาจกระทบกับความทรงจำหรือการมีชีวิตอยู่ของผู้ที่จะให้ข้อมูลในการไต่สวนได้ หรือกรณีที่ต้องใช้การสืบจากเอกสาร อาจมีข้อจำกัดหากเป็นเอกสารราชการ ที่จัดเก็บไว้ในระยะหนึ่งเท่านั้น
ครม. อนุมัติแก้ไข ร่าง ป.แพ่ง เรื่องการวางหลักทรัพย์ ให้สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลให้หมายความรวมถึงสำนักงานบังคับคดี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (การวางทรัพย์) ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้นำไปรวมกับ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (การจัดตั้งบริษัท การควบรวมบริษัท การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น) ที่อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี ( 24 พฤษภาคม 2559) แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเพิ่มวรรคสี่ ของมาตรา 333 กำหนดให้สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลให้หมายความรวมถึงสำนักงานบังคับคดี
8 กุมภาพันธ์ 2560
กรธ.เตรียมเชิญ ปปช.แจงปมเพิ่มเนื้อหากม.ลูก แนะต้องเขียนให้ทำงานด้านทุจริตมีประสิทธิภาพ
อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า กรธ. เตรียมเชิญตัวแทนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าให้ข้อมูลหลังพบว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) จัดทำ 240 มาตรา มีการเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่เข้ามา เช่น เรื่องอำนาจการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ในองค์การระหว่างประเทศ จึงต้องการทราบเหตุผลที่เพิ่มเติมเข้ามา และ ป.ป.ช. ยังเขียนกฎหมายฟุ่มเฟือย สะท้อนว่าไม่มีประสิทธิภาพในการปราบปรามการทุจริต มีการกำหนดขั้นตอนไว้เยอะเกินไป ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบทุจริตต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ควรปรับเปลี่ยนให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุผลได้
ส่วนการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็น กรรมการ ป.ป.ช. กรธ. เห็นว่าต้องอิงองค์กรอิสระอื่น ๆ ด้วย เช่น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่การดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ในร่างของ ป.ป.ช. กำหนดให้อยู่จนครบวาระ แต่ กรธ. เห็นว่า ตามหลักการควรจะเป็นแบบเดียวกับ กกต.
รมว.คมนาคม เผย กมธ.คมนาคม เสนอแนวคิดแก้จราจรใน กทม.-ขยายท่าเรือ-เร่ง กม.ลูก
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ได้ชี้แจงแผนยุทธศาสตร์คมนาคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ช่วงๆ ละ 5 ปี และแผนปฏิบัติการปี 2558-2560 ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนระบบคมนาคมขนส่งทุกโหมด ทั้งราง บก น้ำ และอากาศ โดยมุ่งปรับการขนส่งจากถนนไปสู่รางให้มากขึ้น ซึ่งจากการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่เพิ่มอีก 9 โครงการในปี 2560 เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มสัดส่วนระบบทางคู่จาก 8% เป็น 75% เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจังหวัดได้สะดวกขึ้น
ทั้งนี้ กมธ.คมนาคมได้เสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพ หลังโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สายสมบูรณ์ เช่น การจัดระบบ Feeder เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับชุมชน หมู่บ้านอย่างทั่วถึง และในระยะยาวจะต้องมุ่งลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเข้าเขต กทม. เช่น การจัดจุดจอดแล้วจร (park & ride) ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาการร่วมทุนเอกชนในการก่อสร้างจุดจอดรถใน กทม.จำนวน 5 แห่ง พร้อมกันนี้ยังเสนอให้พิจารณาเพิ่มท่าเรือชายฝั่งด้านทะเลตะวันออก เพื่อสนับสนุนและเพิ่มบทบาทท่าเรือของไทย เช่น การขยายพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง
รมว.คมนาคม กล่าวว่า กมธ.คมนาคม ยังเร่งรัดให้กระทรวงฯ ออกกฎหมายลูกสำหรับกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สนช.ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น พ.ร.บ.เดินอากาศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ,พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา ก่อนเสนอ สนช., การรวม พ.ร.บ.ขนส่ง และ พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อเพิ่มอำนาจของกรมการขนส่งทางบกในการกำกับดูแล และลงโทษผู้กระทำผิดมากขึ้น และ พ.ร.บ.การเดินอากาศ เพื่อปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัยขึ้น
9 กุมภาพันธ์ 2560
คกก. ปรองดอง ตั้งอนุกรรมการ 4 คณะ เดินหน้ารับฟังความเห็นของประชาชน-นักการเมือง
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า
ครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อวางกรอบแนวทาง ขั้นตอน รวมถึงระยะเวลาของการทำงาน โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง อนุกรรมการพัฒนาบูรณาการข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งจะมีกรอบเวลาการทำงานเพื่อรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน นี้ เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและพิจารณา ส่วนประเด็นคำถามที่จะรับฟังครอบคลุม 10 ประเด็น อาทิ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ ที่ดินทำกินของเกษตรกร การปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ โดยวิธีการรับฟังความคิดเห็นจะมีทั้งการเปิดเวทีเป็นการเฉพาะ และเวทีสาธารณะ โดยประธานย้ำต่อที่ประชุมว่าการสร้างความปรองดองเป็นหน้าที่ของทุกคน ซึ่งต้องเน้นการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมถึงความคิดเห็นของนักการเมืองด้วย ที่สำคัญต้องเน้นให้เกียรติและเปิดกว้างเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการแล้ว น่าจะเริ่มเชิญตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ให้ความเห็นได้ทันที ส่วนตัวเชื่อว่าคณะกรรมการทุกคนมีความมุ่งมั่นให้ประเทศเดินไปข้างหน้าโดยสันติ เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนปัญหาในอดีต ย้ำว่า ทุกคนมีกำลังใจในการร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยความมั่นคง