14 กุมภาพันธ์ 2560
ปธ. กรธ. ยืนยัน 'มาตรา 77' ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เป็นปัญหากับกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กังวลในการพิจารณากฎหมาย เนื่องจาก มาตรา 77 วรรคสองของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้การบัญญัติกฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน
มีชัย มองว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นปัญหากับกฎหมายที่ค้างการพิจารณา และหากรับฟังความคิดเห็นได้ควรรับฟัง แต่หากเลยขั้นตอนดังกล่าวไปแล้วย่อมไม่เป็นปัญหา เพราะร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าหากร่างรัฐธรรมนูญมีผลการบังคับใช้แล้ว ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่จำเป็นต้องนำกลับไปรับฟังความคิดเห็นใหม่ เพราะคิดว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชนจำนวนมาก การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นเรื่องดี
มีชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กฤษฎีกาได้เริ่มนำร่างกฎหมายขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น รวมทั้งประกาศรับลงทะเบียนองค์กรและชุมชนที่มีความสนใจแสดงความคิดเห็นและเพื่อส่งร่างให้กับกลุ่มที่ได้ลงทะเบียนไว้ เชื่อว่าจะสามารถทำให้การร่างกฎหมายมีความรอบคอบมากขึ้น
สนช.เตรียมปรับการพิจารณากฎหมายตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องผ่านการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ และมาตรา 77 กำหนดให้การเสนอกฎหมายต้องรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงวิเคราะห์อย่างรอบด้านว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช.จะต้องปรับเปลี่ยนตาม โดยต้องตรวจว่ากฎหมายที่เสนอเข้ามาจากส่วนราชการหรือผู้เสนอ ได้ผ่านการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนอย่างครบถ้วนแล้วหรือไม่ตามมาตรา 77 ซึ่งหากพบว่ากระบวนการไม่ครบผู้เสนอจะต้องนำกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อป้องกันการยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และระหว่างนี้พยายามให้ สนช.เร่งรัดพิจารณาร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือร่างกฎหมายที่ต้องเร่งดำเนินการอีกประมาณ 10 ฉบับ ในระยะเวลา 1 เดือนนี้ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จอย่างแน่นอน
15 กุมภาพันธ์ 2560
กรธ.เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมายประกอบ รธน.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะ ปธ.กรธ.ย้ำ มุ่งให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อนกันในองค์กรอิสระ
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า กรธ.ร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความแตกต่างจากฉบับที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องการให้การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินซ้ำซ้อนกับองค์กรอิสระหรือหน่วยงานอื่น มุ่งให้เป็นองค์กรระดับประเทศที่แก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นส่วนรวม แต่ไม่ทิ้งปัญหาของบุคคลเป็นรายกรณีหากการแก้ปัญหานั้นสามารถเป็นตัวอย่างให้กับกรณีอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมถึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ในการเข้าไปจัดการปัญหาโดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอเข้ามา การมุ่งให้ลดขั้นตอนการทำงานเพื่อความรวดเร็วยิ่งขึ้น
ขณะที่ ผู้เข้าร่วมสัมมนา มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยมองว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐมีการดำเนินงานหลายขั้นตอนเกินความจำเป็น กรธ.ควรกำหนดให้สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน กำหนดให้มีการตรวจสอบและถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดินได้ การไม่ตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในต่างจังหวัดเพื่อป้องกันการยึดโยงกับการเมืองท้องถิ่น และควรสร้างความเข้าใจในการทำหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินให้ประชาชนรับทราบ
16 กุมภาพันธ์ 2560
คำสั่งหัวหน้า คสช. 5/2560 กำหนดพื้นที่วัดธรรมกายและข้างเคียงเป็นพื้นที่ควบคุม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. 5/2560 กำหนดพื้นที่ควบคุมรอบวัดพระธรรมกายและข้างเคียง เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ สั่งให้บุคคลออกหรือเข้าพื้นที่ เรียกรายงานตัว หรือให้ถ้อยคำ-ส่งหลักฐาน จับกุมบุคคลกระทำผิดซึ่งหน้า ควบคุมสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร ใช้โดรนบินคุมพื้นที่ ตรวจค้นสถานที่ บุคคล ยานพาหนะ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือดำเนินการอื่นๆ ตามสมควร เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง-อาญา ตามมาตรา 17 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ประยุทธ์ งัด ม.44 ตั้ง พล.ต.ต.อนันต์ นั่งนายกเมืองพัทยา
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 6/2560 เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ตั้ง พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี เป็นนายกเมืองพัทยา และให้มีรองนายกเมืองพัทยาไม่เกินสี่คน มีรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยา ตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2551 - 16 มิถุนายน.2559 ต่อมาเมื่อหมดวาระ ชนัฐพงศ์ ศรีวิเศษ ปลัดเมืองพัทยา ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยาแทน 17 มิถุนายน 2559 จนกระทั่ง มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2560 ตั้ง พล.ต.ต.อนันต์ เป็นนายกเมืองพัทยา
‘บัณฑูร ล่ำซำ-กานต์ ตระกูลฮุน-ชาติศิริ โสภณพนิช’ มีรายชื่อนั่ง ป.ย.ป. ด้านบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการ ป.ย.ป. ว่า ขณะนี้ได้รายชื่อครบ 39 คน เตรียมส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งใน 1-2 วันนี้ โดยบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ แบ่งเป็น 4 ด้าน เช่น คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์มี บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) กานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
ด้านปรองดองมี อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ด้านปฏิรูปมี เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้านยุทธศาสตร์ชาติมี ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ได้ข้อสรุปแก้ไขหลักการสัญญาจ้างสำรวจและผลิต เป็น สัญญาจ้างบริการ คาดเสนอต่อ สนช. ภายในวันที่ 20 มี.ค. นี้
พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ว่าการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยแก้ไขหลักการจากเดิมที่ว่าการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องได้รับสัมปทาน ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือได้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ได้ขอแก้ไขคำว่า สัญญาจ้างสำรวจและผลิต เป็น สัญญาจ้างบริการ (service contract) เพื่อให้สอดคล้องกับสัญญาจ้างบริการในทางสากล และครอบคลุมลักษณะที่ผู้รับสัญญาจ้างบริการ เป็นผู้รับความเสี่ยง สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม มีการแก้ไขหลักการสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ทันวันที่ 20 มีนาคม นี้ เพื่อให้มีมติเห็นชอบก่อนมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป