NLA Weekly (18 - 24 กุมภาพันธ์ 2560): หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 สี่ครั้งรวด แก้ปมแต่งตั้งตํารวจ-ปลดบอร์ด รฟท.-เด้ง ผอ.สำนักพุทธฯ-ตั้งซุปเปอร์บอร์ดคุมจัดซื้อจัดจ้าง

NLA Weekly (18 - 24 กุมภาพันธ์ 2560): หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 สี่ครั้งรวด แก้ปมแต่งตั้งตํารวจ-ปลดบอร์ด รฟท.-เด้ง ผอ.สำนักพุทธฯ-ตั้งซุปเปอร์บอร์ดคุมจัดซื้อจัดจ้าง

เมื่อ 26 ก.พ. 2560
20 กุมภาพันธ์ 2560
 
ปธ.สนช. ยืนยัน อนุมัติการลาให้สมาชิกตามหลักการและข้อบังคับ
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยกรณีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีคำสั่งให้คณะกรรมการจริยธรรมตรวจสอบกรณี 7 สมาชิก สนช.ขาดการลงมติว่าคงต้องรอผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวอีกครั้ง ส่วนกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมรวบรวมข้อมูลยื่นให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบตน ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากการอนุมัติใบลาให้กับสมาชิก สนช. โดยไม่ถูกต้องนั้น ขอยืนยันว่า ได้อนุมัติการลาไปตามหลักการและยึดข้อบังคับการประชุม ไม่ได้ละเลยหรืออนุมัติให้โดยง่าย
 
 
 
ประยุทธ์งัด ม.44 ปรับระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา  เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพื่อทำให้การแต่งตั้งโปร่งใส ปราศจาก วิ่งเต้น เรียกรับ
 
 
21 กุมภาพันธ์ 2560 
 
สปท. ด้านสื่อ ได้ข้อสรุปโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อ เพิ่มตัวแทนสื่อมวลชน ลดผู้แทนจากภาครัฐ
 
คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) แถลงว่าคณะกรรมาธิการหารือและได้ข้อสรุปที่จะปรับปรุงรายงานและร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ในการปรับโครงสร้างของสภาวิชาชีพ 
 
โดยคงจำนวนสภาวิชาชีพจำนวน 13 คน แต่แก้ไขที่มาจากเดิมตัวแทนสื่อมวลชน 4 คน เพิ่มเป็น 5 คน ขณะที่ 4 คน ที่มาจากส่วนราชการได้ปรับลดเหลือ 2 คน โดยคงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ส่วนอีก 2 คน เป็นตัวแทนองค์กรอิสระ 2 คน มาจากตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างละ 1 คน และสำหรับสัดส่วน 4 คนสุดท้าย ยังคงเป็นตัวแทนจากวิชาชีพต่าง ๆ 
 
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการเห็นว่า ใบประกอบวิชาชีพสื่อยังมีความจำเป็นเพื่อกำหนดมาตรฐานของสื่อ ซึ่งจะต้องผ่านการอบรม ก่อนออกใบประกอบวิชาชีพ และมีการจดทะเบียนประวัติไว้เป็นข้อมูล รวมไปถึงการได้รับสวัสดิการด้วย  
 
 
โฆษก สนช. เผย  ม.77 ของร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาร่างกฎหมาย
 
เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)  .กล่าวถึงกรณีมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนด้วยว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. และร่างกฎหมายใหม่ที่จะเสนอเข้ามา อาทิ ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเข้ามา ได้มีการรับฟังความเห็นแล้ว 5 ครั้ง ยังขาดรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ดังนั้น วิป สนช. จึงมีมติขอให้กระทรวงนำผลการวิเคราะห์เสนอเข้ามาด้วย จากนั้นจะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลต่อวิป สนช. อีกครั้งก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุม สนช. ต่อไป
 
 
22 กุมภาพันธ์ 2560
 
มีชัย ระบุ ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ช่วยลดทุจริตคอรัปชั่น
 
มีชัย  ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังปาฐกถาพิเศษเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ในงานสัมมนาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. .... ว่า การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สอดรับกับบทบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะแก่ประชาชน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากทำได้ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าว สังคมจะเปลี่ยนไปมาก เพราะจะทำให้ประชาชนรับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการได้เหมือนกับตัวของหน่วยงานราชการเอง 
 
ขณะที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลบางอย่างให้ประชาชนรับทราบ ตนเห็นว่าหากประชาชนรับทราบข้อมูลเท่าเทียมกับหน่วยงานราชการ ย่อมจะลดความขัดแย้งลงได้ อีกทั้งเป็นการให้ประชาชนได้มีบทบาทติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานราชการได้มากขึ้น ช่วยลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้
 
 
23 กุมภาพันธ์ 2560
 
สนช.มีมติ 212 เสียง เห็นชอบกฎหมายให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ออกนอกระบบ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 212 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 216 คน
 
ด้าน สมคิด เลิศไพฑรูย์ ประธาน กมธ. วิสามัญฯ พร้อมคณะ ได้กล่าวว่า ภายหลัง กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว มีการแก้ไขบางมาตรา อาทิ แก้ไขคำนิยามจาก “สภาคณาจารย์และพนักงาน” เป็น “สภาพนักงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้” และการแก้ไขและเพิ่มความในมาตรา 7 เกี่ยวกับการให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงและมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน วิจัย บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างองค์ความรู้อันจะนำไปใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมกำหนดให้มหาวิทยาลัยมีปณิธานมุ่งสู่ความเป็นเลิศในวิทยาการหลากหลายสาขาโดยมีศาสตร์ทางการเกษตรเป็นรากฐาน พัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้อุดมด้วยปัญญา เป็นนักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญมีคุณธรรมและจริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
 
 
ภาคประชาชนยื่นเรื่องขอให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
 
ผู้จัดการสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จังหวัดสุโขทัย ที่เป็นตัวแทนเครือข่ายชาวไร่ยาสูบภาคอีสาน 5 จังหวัด ขอให้ สนช.ทบทวน ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งผ่านวาระรับหลักการของ สนช. แล้ว และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เนื่องจากกระทบกับอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวไร่และร้านค้าปลีก ไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงไม่เป็นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ตามที่มีการระบุถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ กลุ่มผู้ร้อง ขอให้การพิจารณาร่างกฎหมายเป็นไปตามมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์อย่างรอบด้าน
 
 
ม.44 ตั้งซูเปอร์บอร์ดคุมจัดซื้อจัดจ้าง
 
ราชกิจจานุเบิกษาได้เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2560 เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ โดยมีสาระสำคัญคือ หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจมาตรา44ตั้ง "คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ โดยมีสาระสำคัญคือ หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจมาตรา44ตั้ง "คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง" โดยมีหน้าที่และอำนาจดังนี้
 
(1) กํากับ เร่งรัด ติดตาม และตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทําแผนการจัดซื้อจัดจ้างจนสิ้นสุดสัญญาทั้งนี้ ในกรณีที่การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ หรือไม่มีความซับซ้อน หรืออยู่ภายใต้ข้อจํากัดตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการอาจตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเพียงบางส่วนหรือบางขั้นตอนก็ได้
 
(2) สั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่มีการจัดซื้อจัดจ้างกระทําการหรือไม่กระทําการใด ๆ หรือดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการใด เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสและเป็นธรรมตามหลัก ธรรมาภิบาล
 
(3) รับและพิจารณาข้อร้องเรียนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งจาก ผู้สังเกตการณตามข้อตกลงคุณธรรม เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย
 
 
งัด ม.44 ปลด 'บอร์ดรฟท.' ยกชุด ตั้งรองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการฯ
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2560 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสาระสำคัญคือ การปลดคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด พร้อมตั้งใหม่ และให้รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการฯ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ระบุเพื่อมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ 
 
ที่มา: ประชาไท
 
24 กุมภาพันธ์ 2560
 
เลขา ป.ย.ป. เผยเตรียมประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อมอบภารกิจ พร้อมเตรียมเชิญ NGO คนรุ่นใหม่ร่วมงาน
 
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวว่า วันที่ 6 มีนาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเรียกประชุมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการแต่ละคณะคณะภายใต้ คณะกรรมการ ป.ย.ป. ที่นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวานนี้จำนวน 39 คน เพื่อมอบนโยบายและขอบคุณที่มาช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจะมีความหลากหลายแต่ละสาขา โดยจะมีจำนวนมากในส่วนของคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศและเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองมีจำนวนน้อย เพราะมีการแต่งตั้งไปแล้ว โดยรูปแบบการทำงานของที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจะมีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเน้นในเรื่องของการสร้างความรับรู้และสร้างความเข้าใจ เพื่อประชาชนมีส่วนร่วม โดยจะให้กลุ่ม NGO คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศและพูดคุยกับทุกกลุ่มในภูมิภาค
 
ที่มา: ประชาไท 
 
เลขาฯ สนช. เผยแพร่สถิติประชุม 7 สมาชิก เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่พ้นสมาชิกภาพ 
 
เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐภา รายงานว่า วรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. นำสถิติการประชุม สนช. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 59 มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ซึ่งพบว่า สนช. มีการประชุมจำนวนทั้งสิ้น 84 ครั้ง มีการลงมติทั้งหมด 1,264 ครั้ง และตามข้อบังคับการประชุมแล้ว สมาชิกจะต้องลงมติจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 421 ครั้ง ส่วนสมาชิก สนช. 7 คน ที่ถูกตั้งข้อสังเกตขาดการประชุมบ่อยครั้ง พบว่ามี 3 คน ที่เข้าลงมติตามเกณฑ์ ประกอบด้วย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม จำนวนการลงมติ 428 ครั้ง สุพันธ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงมติ 656 ครั้ง และ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ ลงมติ 646 ครั้ง ส่วนสมาชิก สนช. อีก 4 คน แม้ลงมติไม่ครบตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 421 ครั้ง แต่มีการลาประชุมถูกต้องตามหลักเกณฑ์ จึงไม่ขาดสมาชิกภาพ
 
ทั้งนี้ สนช. 4 คนดังกล่าว ประกอบด้วย พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ลงมติ 398 ครั้ง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงมติ 214 ครั้ง พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ลงมติ 230 ครั้ง และสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ลงมติ 387 ครั้ง
 
ด้าน ไอลอว์ ชี้แจง เพิ่มเติมวานนี้ (23 ก.พ.60) ว่า ข้อมูลที่ประธาน สนช. ชี้แจงต่อสื่อมวลชนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ไอลอว์ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.60 ไม่มีส่วนใดของบทความที่กล่าวว่า “สมาชิกขาดประชุม 400 วัน และมีการอนุญาตให้ลาประชุม 394 วัน” เลย และไม่ได้กล่าวถึง "จำนวนวันเข้าประชุม" แต่กล่าวถึง "จำนวนการลงมติ" ของสมาชิก สนช. 8 คน ในรอบ 90 วัน ซึ่งไอลอว์เลือกมา 2 รอบ นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2559 และพบว่า มีสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่มาลงมติไม่ถึง 1 ใน 3 ของการลงมติในแต่ละรอบ
 
ทั้งนี้ ไอลอว์เรียกร้องให้ ประธาน สนช. ตรวจสอบและเปิดเผยการลงมติย้อนหลังและก่อนหน้าของสมาชิกทุกคน เพิ่มเติมจากรอบที่ไอลอว์ตรวจสอบไปเบื้องต้น รวมทั้งเปิดเผยจำนวนการลาและใบลา เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนร่วมตรวจสอบ ซึ่งหากทำได้จริง เชื่อว่าจะมีสมาชิก สนช.มากกว่า 7 คน ที่เข้าข่ายขาดการลงมติจำนวนมากจนอาจขาดสมาชิกภาพ
 
ที่มา: ประชาไท
 
25 กุมภาพันธ์ 2560
 
‘คสช.’ ใช้ ม.44 เด้ง ผอ.สำนักพุทธฯ
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 12/2560 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตําแหน่ง มีใจความระบุ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่การปฏิรูปและไม่อาจดำเนินการโดยวิธีการปกติได้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1.ให้ นายพนม ศรศิลป์ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
 
ข้อ 2.ให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ้นจากตําแหน่ง และให้ดํารงตําแหน่ง ผอ.พศ.
 
ข้อ 3.ให้ข้าราชการผู้มีรายชื่อตามข้อ 1. และข้อ 2. พ้นจากตำแหน่งเดิมและไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งภายหลังวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีพิจารณา
 
ข้อ 4.ให้สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สํานักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าว และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตําแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งนี้ตามมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
 
ข้อ 5. คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ที่มา: มติชน