NLA weekly (25 ก.พ. - 3 มี.ค. 60) มติ สนช. 202 เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. ยาสูบใหม่เป็นกฎหมาย

NLA weekly (25 ก.พ. - 3 มี.ค. 60) มติ สนช. 202 เห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. ยาสูบใหม่เป็นกฎหมาย

เมื่อ 7 มี.ค. 2560
27 กุมภาพันธ์ 2560
 
สปท. เสนอเพิ่มสัดส่วนกรรมการสภาวิชาชีพจากสื่อมวลชนเป็น 7 คน

 
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ว่าได้มีการเสนอให้ปรับจำนวนกรรมการสภาวิชาชีพ จากเดิม 13 คน เป็น 15 คน โดยเป็นตัวแทนจากสื่อมวลชน 7 คน และกำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินงานจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อ เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกคณะกรรมการทั้ง 15 คน นอกจากนี้ในบบทเฉพาะกาล ได้กำหนดให้ผู้ที่ทำงานด้านสื่อมวลชน ก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะได้รับอนุญาตประกอบอาชีพอัตโนมัติตามบทเฉพาะกาล และภายใน 2 ปี ทุกคนจะต้องขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อทั้งหมด โดยมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นผู้ที่ทำงานด้านสื่อ มีองค์กรต้นสังกัด ได้รับค่าตอบแทนชัดเจน และสามารถออกใบรับรองการทำงานให้ได้ ส่วนนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อภายหลังที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ต้องผ่านหลักสูตรการอบรมตามหลักเกณฑ์ของสภาวิชาชีพสื่อก่อน จึงจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ และจะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม 2560 
 
 
28 กุมภาพันธ์ 2560
เตรียมนำรายงานการสร้างความปรองดอง เสนอวิป สปท. 2 มี.ค. 60
 
เสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่าได้อ่านรายงานการศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองว่า มีความครอบคุลมถึงปัญหาความขัดแย้งในอดีต และมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ เชื่อว่าจะมีผลในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังให้ยึดหลักการของกฎหมายและการพิสูจน์ความถูกต้อง โดยผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่มีโอกาสได้รับการอภัย ทั้งนี้อาจจะต้องมีกฎหมายพิเศษมารองรับในกรณีนี้ และมีความเห็นว่าไม่กระทบต่อความเห็นทางการเมือง อย่างไรก็ตาม กมธ. จะพิจารณาปรับแก้เพื่อเสนอต่อที่ประชุม วิป สปท. ในวันที่ 2 มีนาคมนี้ เพื่อจะตัดสินใจว่า จะส่งตรงไปที่ คณะกรรมการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) หรือส่งให้ สปท. ได้พิจารณาในที่ประชุมใหญ่ ก่อนส่งให้รัฐบาลรับไปดำเนินการต่อ
 
 
ประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอร่างกฎหมายเกษตรพันธสัญญาเข้าที่ประชุม สนช. ต้นเดือน มี.ค. นี้
 
พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญํติแหร่งชาติ (สนช.) ได้แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการเกษตร 6 ฉบับ คือ 1) พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... ที่มีสาระสำคัญเพื่อให้การทำเกษตรพันธะสัญญาเกิดความยุติธรรมทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร ต่อที่ประชุม สนช. พิจารณา ซึ่งผ่านวาระรับหลักการไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขเนื้อหาและคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.พิจารณาในขั้นตอนต่อไป ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2) ร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. .... ขณะนี้เข้าสู่ที่ประชุม วิป สนช.แล้ว คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช. เร็วๆ นี้ 3) ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ยังอยู่ในขั้นตอนเชิญตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงต่อที่ประชุม 
 
4)  ร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความชัดเจน ทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมเพิ่มอำนาจให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) สามารถจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปที่ดินได้เพื่อความคล่องตัว ทั้งนี้ กมธ.พบว่ามีการแก้ไข นิยาม คำว่า “สถาบันเกษตรกร” องค์ประกอบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคณะกรรมการปฏิรูปที่ประจำจังหวัด เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ซึ่ง กมธ.จะสรุปประเด็นดังกล่าวส่งกลับไปยัง สปก.และกฤษฎีกา พิจารณาต่อไป 5) ร่าง พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. .... ที่มีสาระสำคัญเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งต้นทุนและคุณภาพปุ๋ย และ 6) ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. ....ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมเคมีภัณฑ์ และลดการผูกขาดของผู้ค้าสารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค อยู่ระหว่างการศึกษาและสรุปร่างกฎหมาย เพื่อส่งกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
 
 
 
1 มีนาคม 2560
 
กรธ. เปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง 
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในการสัมมนารับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับความมุ่งหมายของ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง พ.ศ.... ว่า เป็นการมุ่งสร้างขั้นตอนในการอุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้น จึงต้องมีการปรับให้ศาลสามารถไต่สวนเพื่อความเป็นธรรม นอกจากนี้ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในประเด็นที่จะทำอย่างไรให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว คงความเป็นธรรม ทำให้ผู้ไม่สุจริตเห็นผลและรับรู้ถึงผลร้ายได้ การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยกรณีที่จำเลยไม่มาศาล เพราะหนีคดีได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้คดีค้าง รวมถึงข้อเสนอที่หลายฝ่ายต้องการให้มีการชะลออายุความคดีทุจริต พร้อมยืนยันว่า การจัดสัมมนาของ กรธ.ไม่ใช่ทำเป็นพิธี ข้อมูลที่ได้ทุกครั้งถือเป็นประโยชน์และสามารถเสริมการทำงานของ กรธ.ได้อย่างมาก
 
 
2 มีนาคม 2560
สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ แต่ห่วงละเมิดสิทธิประชาชน
 
ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 222 คะแนน ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา 25 คน ภายใต้กรอบระยะเวลา 60 วัน และกำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน 
 
 
สำหรับเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ  ดังนั้น จึงสมควรมีกฎหมายสำหรับบริหารจัดการน้ำ บำรุงรักษา  ฟื้นฟู และ อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดความเป็นเอกภาพ   และสามารถกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ   ตลอดจนรองรับการจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชาติ  ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ 
 
ข้อกังวลของสมาชิกสนช. ต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ อาจจะเกิดการละเมิดสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำสาธารณะ ดังนั้นรัฐบาลควรทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน เพราะประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กกฎหมายภายหลัง นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกระทบต่อการใช้กฎหมายเดิมอย่างน้อย 37 ฉบับ รวมทั้งหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ จะมีการหารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประเด็นเก็บค่าใช้น้ำ 
 
 
 
3 มีนาคม 2559 
สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ยาสูบ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 202 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี และงดออกเสียง 8 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 210 คน 
 
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้มีการแก้ไขคำนิยามของคำว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อื่นที่ประกอบด้วยสารนิโคติน แต่ไม่รวมถึงยาตามกฎหมายว่าด้วยยา และห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามขายหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งห้ามผู้ใดผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อขายในราชอาณาจักรประเภทบุหรี่ซิการแรตที่บรรจุต่ำกว่า 20 มวน 
 
นอกจากนี้ กมธ. ได้ฝากข้อสังเกตในช่วงเริ่มแรกของการประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ โดยให้ความเห็นว่า ควรกำหนดแนวทางการบังคับกฎหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ค้าปลีกรายย่อยได้รับทราบถึงข้อกฎหมาย ส่วนมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีกองทุนประเดิมและการวิจัยและส่งเสริมเพื่อหาพืชเพาะปลูกเศรษฐกิจประเภทอื่นเพื่อเป็นมาตรการรองรับ 
 
 
 
สนช. เคลียร์ กม. ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ 
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แจ้งต่อสมาชิกสนช. ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ การพิจารณากฎหมายของ สนช.จะต้องมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจาก มาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ การพิจารณากฎหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและศึกษาผลกระทบรอบคอบ และเปิดเผยต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกกล่าวว่า ร่างกฎหมายบางฉบับได้เข้าวาระแล้วถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด ดังนั้นถ้า กมธ.ชุดใดพิจารณากฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ทัน แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญ