4 มีนาคม 2560
รองปธ.สปท.ระบุ การปฏิรูปคืบหน้ากว่า 100 เรื่อง ตั้งเป้าปีนี้ปฏิรูปเสร็จอีก 42 เรื่อง
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปประเทศของ อ.ธีรยุทธ บุญมี ว่า การปฏิรูปและการปรองดองที่ อ.ธีรยุทธ สรุปว่าเริ่มวนในอ่างไม่มีผลงานชัดเจนนั้น ขอชี้แจงว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้มีถึง 37 วาระ 11ด้าน ไม่ได้มีเฉพาะด้านการเมืองเท่านั้น ขณะนี้การขับเคลื่อนการปฏิรูปกว่า 100 เรื่องคืบหน้าไปมากแล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของปัญหาที่สะสมมานาน เช่น การปฏิรูปคอรัปชั่น การปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสาธารณสุข และการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เข้าใจว่า อ.ธีรยุทธ มองแต่มิติการเมืองเลยด่วนสรุปแบบเหมารวม ซึ่งจะได้ส่งรายงานความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านให้กับ อ.ธีรยุทธ ในสัปดาห์หน้า
อลงกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้การปฏิรูปเข้าสู่โรดแม็ปที่ 2 ภายใต้ "ป.ย.ป.โมเดล" ตั้งเป้าเฉพาะปี2560 จะปฏิรูปให้เสร็จอีก 27 วาระ 42 เรื่องและกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอีกกว่า 20 ฉบับ ส่วนการปรองดองกำลังเดินหน้ารับฟังความเห็น เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด คงไม่ได้วนในอ่างอย่างที่ อ.ธีรยุทธ เข้าใจ
7 มีนาคม 2560
กรธ.เตรียมหาทางยกร่าง กม.ลูก องค์กรอิสระ ห้ามจัดหลักสูตรพิเศษเดินทางไปดูงานต่างประเทศ
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ. เตรียมหาแนวทางการยกร่างกฎหมายลูกองค์กรอิสระ ห้ามองศ์กรอิสระจัดหลักสูตรพิเศษ หรือการเรียนต่างๆ เพราะไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรอิสระ โดยเบื้องต้นยังหาวิธีในการร่างอยู่รวมถึงการเดินทางไปดูงานต่างประเทศด้วย พร้อมยกตัวอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจัดตั้งมา 10 กว่าปี มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศทุกปีหรือไม่ และเดินทางไปดูงานในประเทศที่ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงแล้ว จะนำกลับมาแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างไร
9 มีนาคม 2560
สนช. นัดแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน “สุรพงษ์” อดีต รมว.ต่างประเทศ 16 มี.ค. นี้
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินกระบวนการถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) โดยมิชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 149
ที่ประชุม สนช. ได้นัดวันแถลงเปิดคดีสุรพงษ์ ในวันที่ 16 มีนาคม 2560 เวลา 10.00 น. พร้อมมีมติไม่ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานอันจำเป็นของคู่กรณี เนื่องจากเป็นกรณีบุคคลเดียวและไม่ซับซ้อน และไม่อนุญาตให้ยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม 5 รายการ ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ห้ามออกใบอนุญาตแก่บุคคลไม่มีสัญชาติไทย และผู้เคยต้องรับโทษจำคุกตามป.อาญา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 218 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 222 คน ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเป็นการปรับปรุงจากฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2490 โดยร่างฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ การห้ามออกใบอนุญาตแก่บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และบุคคลซึ่งเป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง ขณะที่อาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนท้องที่มีอำนาจเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตให้นำอาวุธปืนมาเพื่อจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืนให้แล้วเสร็จภายใน 6 ปี นับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ
ประธาน กรธ.เผยพบนักการเมืองทุจริตจนร่ำรวยและหลบหนี มีแนวโน้มบรรจุการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ในร่าง พ.ร.บ.พิจารณาคดีนักการเมือง
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำความผิดว่า มีแนวโน้มจะบรรจุในร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้การดำเนินคดีกับนักการเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากใช้การพิจารณาคดีความตามกระบวนการปกติจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทำได้ยาก และที่ผ่านมาพบปัญหานักการเมืองทุจริตจนร่ำรวยหลบหนีคดี ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้ศาลกลับมาฟ้องผู้อื่นได้ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับบุคคลทั่วไปเช่นกัน ทั้งนี้ กรธ.ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการนับอายุความคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะถ้าศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้จึงไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน
10 มีนาคม 2560
สนช.ลงมติให้ “อุดม-วีรวิทย์” เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาโดยการประชุมลับ เลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ทั้งนี้ ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับแรกและลำดับที่สองถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือก ซึ่งผลคะนนปรากฏว่า ศ.อุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและอดีตกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิได้ 195 คะแนน วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช อดีตกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ 159 คะแนน พล.ท. ดิเรกพล วัฒนะโชติ อดีตกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิได้ 50 คะแนน พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นักวิชาการอิสระและสื่อมวลชนอิสระได้ 11 คะแนน ดังนั้น จึงถือว่า ศ.อุดม รัฐอมฤต และ วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ
สนช. เห็นชอบอนุสัญญาฯ การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ด้วยคะแนน 205 เสียง มีสาระสำคัญ ในการสะท้อนความตั้งใจของรัฐบาลที่จะป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ ด้วยการป้องกันและอำนวยความยุติธรรม รวมถึงเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังให้สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายที่ถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองบุคคลของไทยให้ตรงตามมาตรฐานสากล
เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรฯ เข้าสู่ สนช.วาระ 2 และ 3 วันที่ 16 มี.ค.นี้
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ภายหลัง สนช.รับร่างไว้พิจารณาและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ขณะนี้ กมธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้วโดยได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและผู้แทนเกษตรกรทุกสาขา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายลำดับรอง คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2560เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
พล.อ.สิงห์ศึก กล่าวว่า ร่างฉบับนี้จะทำให้เกษตรกร ให้ได้รับรู้ข้อมูล เตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจก่อนทำสัญญา ภาครัฐจะได้รู้รายละเอียดสัญญาของคู่สัญญา เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร จะมีความมั่นใจในปริมาณ คุณภาพของผลผลิต และที่สำคัญสามารถควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ