13 มีนาคม 2560
ปธ.กรธ.เผย สนช.ประสานขอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรกหลังวันหยุดสงกรานต์
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ กรธ.ได้หยิบยกข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งพรรคการเมืองมาปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 วัน และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาได้ ทั้งนี้ได้รับการประสานเป็นการภายในจาก สนช.ว่า หากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะขอให้ กรธ.ส่งร่างให้หลังช่วงวันหยุดยาว เนื่องจากกังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องการนับเวลาที่จะนับทันทีที่ส่งร่างให้ ซึ่ง สนช.จะมีเวลาเพียง 60 วัน จึงได้ประสานกลับไปว่า ในข้อบังคับของ สนช.ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กรธ.จะขอโอกาสเข้าชี้แจงในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในวาระที่สอง ซึ่งเป็นชั้นกรรมาธิการ เพื่อจะได้มีสิทธิ์ชี้แจงและอธิบายให้เกิดความเข้าใจ แต่อำนาจการลงมติเป็นของ สนช. เชื่อว่าขั้นตอนนี้จะช่วยลดขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ ในภายหลัง กรณีที่มีความเห็นแย้ง ประธาน กรธ. กล่าวยืนยันด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ สองฉบับแรก ที่จะส่งให้ สนช.พิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
14 มีนาคม 2560
ครม.ไฟเขียว ร่าง กม. 2 ฉบับ แผนและขั้นตอนปฏิรูป-การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มีผลใช้บังคับต่อไป
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยถูกมองว่าไม่มีแผนพัฒนาประเทศชัดเจน รัฐบาลใดเข้ามาบริหารมักดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของตนเอง แต่ไม่มีแผนระยะยาวร่วมกัน รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีกฎหมายลูก เพื่อกำหนดแผนระยะยาว ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ…. จึงกำหนดให้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้านต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องมีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด ยึดหลักตามหลักธรรมาภิบาลตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ระยะเวลา 20 ปี จากนั้นกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาและเสนอต่อ ครม.พิจารณา และเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
กอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน ประกอบด้วย ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการรวมแล้วไม่น้อยกว่า 25 คน มีหน้าที่จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านที่รับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาตินั้น ให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้และให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี จะนำมาใช้เป็นหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนด้วย
จากนั้นทุกรัฐบาลต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ แม้ต้องดำเนินนโยบายระยะสั้นตามที่หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง แต่การดำเนินตามแผนระยะยาวต้องดำเนินการด้วย ไม่เช่นนั้น สภาสามารถลงมติและสั่งการให้ ป.ป.ช.มีคำสั่งกับผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่ไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ทั้งโยกย้าย ปลดออก ไล่ออก จากตำแหน่งได้
16 มีนาคม 2560
สนช.มีมติ 206 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมฯ ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 208 คน วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สถาบันการเงิน” และคำว่า “สินเชื่อ” เพื่อให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมสามารถค้ำประกันการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) และขยายขอบเขตการค้ำประกันให้ครอบคลุมถึงการค้ำประกันธุรกรรมที่ลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ
ประธาน กรธ.เดินหน้าปรับแก้ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. เพิ่มการคุ้มครองผู้ตรวจการเลือกตั้ง กรณีถูกผู้มีอิทธิพลฟ้องร้อง
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่า ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนปรับแก้ไขเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนำความเห็นที่ได้จากการรับฟังทั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาปรับแก้เนื้อหาให้สอดคล้องกัน โดยเพิ่มสาระสำคัญตามที่ กกต. เสนอมา อาทิ การให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับ กกต.จังหวัด ส่วนการคุ้มครองผู้ตรวจการเลือกตั้ง กรณีเกิดข้อพิพาทกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่แล้วถูกฟ้องร้อง กฎหมายจะคุ้มครองด้วยการหาทนายความต่อสู้คดีให้
สปท. เตรียมปรับการทำงานให้สอดคล้องกับวาระการปฏิรูปของ ป.ย.ป.
คำนูน สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงข่าวสรุปผลการประชุม วิป สปท. ว่า ร.อ.ทินพันธ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ได้แจ้งให้ประธานกรรมาธิการ สปท.ทุกคณะรับทราบว่า จากนี้ไปการทำงานของ สปท. จะดำเนินการให้สอดคล้องกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยในปี 2560 กำหนดให้มีวาระการปฏิรูปที่สำคัญเร่งด่วน จำนวน 27 วาระ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นย่อยจำนวน 42 เรื่อง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการทำงานของสมาชิก สปท. และการกำหนดวาระการประชุมประจำสัปดาห์ให้มีความสอดคล้องกับวาระการปฏิรูปที่สำคัญเร่งด่วนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ประธาน สปท. เน้นย้ำว่า การทำงานของ สปท.ต้องประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กชป.) ทั้ง 6 คณะ และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
17 มีนาคม 2560
มติ สนช. ให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา กลับไปทบทวน ก่อนกลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง 24 มี.ค. นี้
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นชอบ ให้ถอนร่างร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... ออกจากระเรียบวาระการประชุม ตามที่พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอ หลังจากที่การพิจารณาในวาระสอง มีสมาชิก สนช. ไม่เห็นด้วยในหลายมาตรา เช่น ไม่เห็นด้วยกับการนำอนุญาโตตุลาการออกจากกระบวนการระงับข้อพิพาทสัญญาทางการเกษตร การขอให้ให้คงนิยามความหมายระบบเกษตรพันธสัญญาตามเจตนารมณ์ร่างกฎหมายเดิม เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญญ จะนำร่างกฎหมายดังกล่าว ไปทบทวนใหม่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และจะนำกลับสู่การพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้