22 มีนาคม 2560
อธิบดีอัยการปกครองพิษณุโลกยื่นหนังสือค้านร่างแก้ไขกม.อัยการใหม่ ชี้กระทบสิทธิของผู้ปฏิบัติงาน
ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับยื่นหนังสือจาก ชนิญญา ชัยสุวรรณ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลกและคณะ เพื่อขอมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 ตามยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาล โดยกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวันที่ 30 มีนาคม 2560
ทั้งนี้ กลุ่มอัยการมีข้อห่วงใยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการดำเนินการ เนื้อหาและใจความสำคัญที่ขัดหรือแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ขัดต่อยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาล ในเรื่องการมีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตยที่รัฐบาลประกาศอย่างชัดเจน กระทบโครงสร้าง สร้างความแตกแยก ไม่เป็นธรรม ไม่มีการสอบถามความคิดเห็น กระทบสิทธิ์และไม่เคารพสิทธิของพนักงานอัยการที่ได้รับผลกระทบจากร่างดังกล่าว 2 ส่วน คือ พนักงานอัยการที่อยู่ในส่วนของงานด้านบริหาร 519 คน และอัยการอาวุโส 287 คน อาทิ กำหนดให้อัยการอาวุโสไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ดังนั้น เพื่อให้สมาชิก สนช.ได้รับข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณาร่างกฎหมายอย่างรอบด้านและครบถ้วน ตนในฐานะตัวแทนของกลุ่มพนักงานอัยการที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อ สนช.
23 มีนาคม 2560
กลุ่มกุมารแพทย์ ร้อง สนช. แก้ ร่างกม.ควบคุมโฆษณาอาหารเด็ก หวั่นเด็กขาดโภชนาการตามวัย
กลุ่มกุมารแพทย์ นำโดยศาตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานที่ปรึกษากิติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะ ได้ยื่นจดหมายถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแสดงข้อกังวลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กพ.ศ. .... ณ อาคารรัฐสภา ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2
โดยกฎหมายดังกล่าวระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กที่เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเสนอให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้ครอบคลุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 0-3 ปี และเพื่อกระตุ้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น โดยการมีพระราชบัญญัตินี้จะช่วยลดการส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะโฆษณาที่เกี่ยวกับอาหารทารกแรกเกิดที่อายุต่ำกว่า 1 ปี
กลุ่มกุมารแพทย์ จึงได้เสนอให้สนช. ปรับแก้ไขสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยแก้ไขช่วงอายุให้เป็นการควบคุมเฉพาะอาหารทารกแรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้น กฎหมายไม่ควรกำหนดครอบคลุมมาถึง 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่นมแม่ไม่ใช่อาหารหลักและเป็นวัยที่ควรได้รับการส่งเสริมภาวะโภชนาการทั้งจากอาหารหลักและอาหารเสริมที่มีคุณค่า ความรู้ด้านโภชนาการสำหรับเด็กวัยนี้ต้องเข้าถึงครอบครัว แม่และผู้เลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องและทั่วถึง กฎหมายต้องไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของทารกและครอบครัวในการรับความรู้เรื่องโภชนาการที่เหมาะสมกับวัยเพื่อเป็นแนวทางตัดสินใจของพ่อแม่ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรร่วมมือกันให้ข้อมูลความรู้เรื่องโภชนาการของทารกและเด็กเล็กให้ครบถ้วนและถูกต้อง
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวว่า ตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้เข้ามาสู่การพิจารณา สนช. ซึ่งมีความเห็นหลากหลายเข้ามา โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการ แต่ประเด็นที่เห็นต่างคืออายุของทารก อายุของเด็กเล็กที่จะถูกควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาเพื่อเป็นการไปส่งเสริมให้ไปดื่มหรือรับประทานอาหารเสริมทางอ้อมผ่านกระบวนการโฆษณาต่างๆ ในร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนมา 3 ปี แต่ที่เห็นต่างกันคือในส่วนของอายุเท่านั้นเองว่าควรจะเป็น 3 ปี หรือต่ำกว่า 3 ปี
สนช. ผ่าน ร่างกม. แก้ไขเพิ่มเติมวิแพ่งฯ หวังการบังคับคดีตามคำพิพากษา/คำสั่งของศาล รวดเร็ว-มีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 213 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 218 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ
โดย ศาสตราจารย์พิเศษภัทรศักดิ์ วรรณแสง รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ คนที่หนึ่ง ได้กล่าวชี้แจงว่า ภายหลัง กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว มีการแก้ไขบางมาตรา อาทิ กำหนดให้ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน จากเดิม 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่จะขายหรือจำหน่ายมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกิดส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายหรือจำหน่ายได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่บางส่วนไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปโดยล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี และเปิดโอกาสให้มีการประวิงคดี
24 มีนาคม 2560
สนช. ผ่าน ร่าง กม.เกษตรพันธะสัญญา แม้ร่างดังกล่าวยังขาดความชัดเจน
ในที่สุด การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 190 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยร่างดังกล่าวมีทั้งหมด 46 มาตรา
โดยประเด็นที่มีการถกเถียงกันก็คือ มาตรา 4 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในวรรคสามที่ระบุว่า ในกรณีเขตท้องที่ใดมีความจำเป็นต้องกำหนดให้การทำสัญญาการผลิตผลิตผล หรือ บริการทางการเกษตรประเภทใดต้องนำระบบเกษตรพันธสัญญาไปใช้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สองรายขึ้นไป ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสมาชิก สนช. ประกอบด้วย กล้านรงค์ จันทิก, วันชัย ศารทูลทัต และนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ "สองรายขึ้นไป" จะขัดกับร่างเดิมที่กำหนดไว้เป็นสิบรายหรือไม่ และเกรงว่าจะซ้ำซ้อนกันในเรื่องของการตีความ ซึ่งสิ่งที่กรรมาธิการชี้แจงไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างไรในอนาคต
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตในมาตรา 39/1 วรรคสองที่ระบุว่า ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษหรือฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำว่า “ขจัดมลพิษ” ครอบคลุมถึงเรื่องน้ำเสีย อากาศและอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษด้วยหรือไม่
กรรมาธิการ ชี้แจงว่า ถ้าระบุว่าหนึ่งรายจะขัดต่อคำนิยามของกฎหมาย เพราะสิบรายขึ้นไปจะต้องเข้าระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่แล้ว แต่กรณีที่ไม่ถึงสิบรายต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งการทำสัญญาไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันและในท้องที่เดียว แต่เป็นการนับทั่วประเทศโดยไม่นับเรื่องเวลา นอกจากนี้ การที่ระบุไว้เช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามแผนตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่สามารถรองรับเกษตรกรที่ไม่ถึงสิบรายเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาในอนาคต ส่วนคำว่า “ขจัดมลพิษ” นั้น จะรวมถึงมลพิษทั้งหมดตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดทุกประการ
สนช.สายธุรกิจ ขอให้ กมธ. ร่างกม. แข่งขันทางการค้า แก้ เรื่องการรวมธุรกิจที่ส่อผูกขาด ก่อนลงมติเห็นชอบ
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนลงมติ มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จำนวน 7 คน ที่ต้องมีผลงาน ประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 10 ปีในสาขานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน อุตสาหกรรม การบริหารธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า และยังกำหนดคุณสมบัติต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดๆในสถาบันหรือสมาคมซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ร่วมกันทางการค้า โดยคณะกรรมการจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ
ทั้งนี้ สมาชิกในส่วนของ สนช.ที่เป็นสายธุรกิจ อาทิ สุพรรณ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานหอการค้าไทย สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ กรรมการบริหาร บริษัท คอลเกต ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด สาธิต ชาญเชาวน์กุล อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยในมาตรา 51 ที่เป็นเรื่องของการควบรวมธุรกิจ ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเดิมที่กำหนดมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่ง กมธ.ฯ ได้มีการเติมข้อความตอนท้ายว่า ”เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ” ซึ่งหมายความว่า การรวมธุรกิจที่ทำให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันทุกประเภทหากจะรวมธุรกิจจะต้องมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน นอกจากนี้ยังเพิ่มข้อความใหม่อีกหลายวรรคที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธุรกิจ
เมื่อเกิดการทักทวง ทาง กมธ.ได้แก้ไขมาตรา 51 เป็น 2 ส่วนคือ 1. ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ และ 2. ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ