NLA Weekly (25-31 มีนาคม 2560): สนช. โวยหลังโดนตรวจสอบองค์ประชุมก่อนจะผ่่านกฎหมายแบบเงียบๆ

NLA Weekly (25-31 มีนาคม 2560): สนช. โวยหลังโดนตรวจสอบองค์ประชุมก่อนจะผ่่านกฎหมายแบบเงียบๆ

เมื่อ 3 เม.ย. 2560
27 มีนาคม 2560
 
หม่อมอุ๋ย ตั้งโต๊ะแถลง ขอ สนช.หยุดร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ค้านตั้งบรรษัทน้ำมัน 
 
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากในวันที่ 30 มีนาคม 2560 สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ในวาระที่สองและวาระที่สาม โดยปรีดิยาธร กล่าวถึงการเพิ่มประเด็นเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาใหม่ และกระบวนการร่างพ.ร.บ.ที่ไม่ชอบมาพากล
 
โดยประเด็นพุ่งเป้าไปที่ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 10/1 ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ว่า “ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” พร้อมระบุด้วยว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน..”
 
ซึ่ง ปรีดิยาธร กล่าวถึง คณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. … พิจารณา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีทหารอยู่ในกรรมาธิการมากกว่าครึ่ง ได้สอดไส้เรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 10/1 โดยการยิมยอมคล้อยตามของคณะรัฐมนตรี ที่ดูจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย
 
ทั้งนี้ ปรีดิยาธร เห็นว่าการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นการเอากิจการพลังงานทุกอย่างของประเทศไปรวมศูนย์กันอยู่ที่เดียว ทำให้ไม่มีการคานอำนาจ และทำให้บรรษัทฯ ไม่สามารถถูกควบคุมได้ เพราะบรรษัทฯ จะเป็นทั้งผู้ถือสิทธิ และผู้ดำเนินการทุกอย่าง ต่างจากปัจจุบันที่กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าของสิทธิ แต่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการตามสัมปทานที่ได้รับ และการทำเช่นนี้จะทำให้กิจการพลังงานของประเทศย้อนหลังไปเมื่อ 50 ปีก่อน
 
ที่มา: ไอลอว์
 
29 มีนาคม 2560
 
โฆษก กมธ.วิสามัญฯ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม  ยืนยัน  ทหารและกรรมาธิการฯ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยืนยันว่า  ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลตามขั้นตอนแล้ว  ซึ่งการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เคยศึกษาและเสนอเรื่องนี้ ไปยังรัฐบาล สมัยที่ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวากุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว  
 
แต่ร่างที่ ครม. เสนอกลับมา ไม่ได้กำหนดให้ตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ   คณะกรรมาธิการจึงพิจารณาถึงความจำเป็น ที่ต้องกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่าง พ.ร.บ.  เพื่อกำกับดูแลระบบการแบ่งปันผลประโยชน์  จึงได้กำหนดเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ. นอกเหนือจากเดิมที่มีเพียงระบบพลังงาน  พร้อมยืนยันว่า ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้ว    ทหาร และ กรรมาธิการทั้ง 21 คน ที่ร่วมพิจารณา ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ    
 
ส่วนการที่ไม่กำหนดโครงสร้างของบรรษัทน้ำมันที่ชัดเจน ไว้ในมาตรา 10 / 1 มองว่า หากเขียนแบบผูกขาดจนเกินไป  จะยากต่อการปฏิบัติของรัฐบาล  ซึ่ง ไม่มั่นใจว่า ในอนาคต จะมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงโครงสร้าง หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะบริหารจัดการ
 
 
สนช. ประท้วงการนับองค์ประชุม ระหว่างแถลงปิดคดีถอดถอนอดีต รมว.ต่างประเทศฯ 
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 เป็นประธาน มีการดำเนินการกระบวนการถอดถอนสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางแบบธรรมดาให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
 
ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงปิดสำนวนคดี สุรพงษ์ ได้ลุกขึ้น ร้องขอให้ตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อสนช.จะต้องลงมติ ทำหน้าที่เหมือนศาล โดยระบุว่า มาตรา 13 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ระบุว่า การประชุมต้องมีสมาชิกมีไม่น้อยกว่ากึ่ง แต่สมาชิกสนช.เข้ามาฟังแค่ประมาณ 50 คน จึงอยากให้ประธานนับองค์ประชุม
 
แต่สมาชิก สนช. ได้ลุกขึ้นอภิปรายทักท้วงคัดค้านการทำหน้าที่ของนายสุรชัยที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาขอมติให้นับองค์ประชุม และยังปล่อยให้พูดจากล่าวร้ายเสียดสี ทำให้รัฐสภาอันทรงเกียรติเสื่อมเสียเหมือนสภาในอดีต 
 
จน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ต้องพักการประชุมเพื่อหารือข้อประท้วงของสมาชิกสนช. เนื่องจากนายสุรพงษ์ ได้อ้างถึงมาตรา 13 รัฐธรรมนูญชั่วคราว และถ้าจะใช้มาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าด้วยการให้สนช.วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง หรือจะให้ประธานสนช.วินิจฉัยชี้ขาดเอง ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ จึงขอสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องนี้เพื่อให้สภาใช้ต่อไป และในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 149 เสียง ไม่ให้บุคคลภายนอกเสนอให้มีการนับองค์ประชุม
 
เรียบเรียงจาก: ข่าวสด
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิ่มทุน 
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ธนาคารออมสิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ  ด้วยคะแนนเสียง  เห็นด้วย 165  เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และ งดออกเสียง 1 เสียง  
 
โดย วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ได้ชี้แจงเหตุผลที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ว่า เนื่องจาก พ.ร.บ. ธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489  ไม่ได้กำหนดให้ธนาคารออมสินมีอำนาจเพิ่มทุนได้ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจการของธนาคารออมสินไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน   โดยในร่างกฎหมายธนาคารออมสินฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้  กำหนดให้ธนาคารออมสินอาจเพิ่มทุนได้ด้วยการ "ได้รับการจัดสรรจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือจากแหล่งอื่น" โดยรับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี 
 
และกำหนดให้คณะกรรมการธนาคารออมสินมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบงบประมาณของธนาคาร การประกาศงบแสดงฐานะการเงิน รายงานประจำปี รายงานประจำปีว่าด้วยธุรกิจที่ธนาคารได้จัดทำในระหว่างปี  จำนวนผู้ฝาก จำนวนเงินฝาก จำนวนเงินดอกเบี้ยที่จ่าย ผลประโยชน์ที่จากเงินทุนและอื่น ๆ  ตลอดจนฐานะการเงินโดยย่อของธนาคารประจำไตรมาส  
 
 
30 มีนาคม 2560 
 
สนช.ลงมติท่วมท้น ถอดถอนอดีต รมว.ต่างประเทศฯ ตัดสิทธิการเมือง 5 ปี
 
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน มีการลงมติถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้นายทักษิณ ชินวัตร ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งที่ประชุมได้ลงคะแนนลับ โดยเรียกชื่อเป็นรายบุคคล
 
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 แจ้งผลการนับคะแนน ปรากฏว่า สนช.ลงมติให้ถอดถอนนายสุรพงษ์ออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนน 231 ต่อ 4 งดออกเสียง 3 เสียง ส่งผลให้นายสุรพงษ์ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันลงมติถอดถอน
 
 
สนช.ประกาศใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ย้ายเรื่อง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ไปไว้ในข้อสังเกต
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติผ่านวาระ3 ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปิโตรเลียม พ.ศ. ....  ด้วยคะแนน เห็นด้วย  227เสียง  ไม่เห็นด้วย 1และงดออกเสียง 3
 
ทั้งนี้  ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม  สมาชิกสนช. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง  ในประเด็น มาตรา 10/1เกี่ยวกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นมาใหม่  โดยสมาชิก สนช. หลายคน เสนอให้มีการตัดมาตราดังกล่าวออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องสุ่มเสียงให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบบรรษัทผิดเพี้ยนไปและเสนอให้ใส่ไว้ในข้อสังเกต  โดยเห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วันเพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป    ทำให้คณะกรรมาธิการฯ  ได้ขอถอนประเด็นดังกล่าวที่กำหนดไว้ใน มาตรา 10/1ออกไป  โดยจะให้ไปใส่ในข้อสังเกตของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แทน
 
โดยในข้อสังเกตระบุว่า “การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจัดจ้างบริการ มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว ครม.จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป”
 
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดเหลื่อมล้ำ เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ  ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 190 เสียง  ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง   4 เสียง  
 
โดย วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ชี้แจงหลักการและความจำเป็นที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า  เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้อง ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน  การจัดเก็บภาษีตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  จึงสมควรยกเลิกกฎหมายทั้งสองฉบับ พร้อมยืนยันว่า  ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เป็นการจำกัดการถือครองที่ดิน  แต่เป็นในลักษณะที่ว่าใครถือครองใช้ประโยชน์มากก็ต้องจ่ายภาษีมาก และถือแล้วไม่ใช้ประโยชน์ก็จะยิ่งเสียภาษีสูงขึ้นไปอีก เพื่อเกิดการกระตุ้นให้นำที่ดินไปใช้ประโยชน์สร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป    ซึ่งรายละเอียดในร่างกฎหมายยังคงแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปในชั้นกรรมาธิการได้  มีเวลาพอก่อนถึงเวลาบังคับใช้ในปี 2562
 
ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.  กล่าวว่า  ร่าง พ.ร.บ. นี้ มีหลักการใหม่และกระทบกับประชาชนในวงกว้าง  ทางวิป สนช.  จึงให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวนมาก ที่ประกอบด้วย กรรมาธิการทุกคณะและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก มาศึกษาร่าง พ.ร.บ. นี้   ดังนั้น  ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้หรือไม่ในระหว่างนี้  ก็ขอให้กรรมาธิการวิสามัญชุดนี้  รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน  และรับฟังประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย
 
 
สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม และร่าง พ.ร.บ.การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ก่อนมีมติเห็นชอบด้วยเสียง 212 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 งดออกเสียง 1 และไม่ลงคะแนน 1 จากผู้ร่วมประชุม 215 คน รวมถึงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ  และมีมติเห็นชอบ 217 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 งดออกเสียง 1 จากผู้เข้าร่วมประชุม 219 คน 
 
สำหรับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวมีหลักการที่สอดคล้องกัน คือร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการศาลยุติธรรม กำหนดให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 70 ปี บริบูรณ์ในปีงบประมาณ ส่วนร่าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส กำหนดให้ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป อาจขอไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสได้ และให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต).จัดประเมินสรรถภาพการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการเมื่อจะมีอายุครบ 65 ปี ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อ โดยห้ามผู้พิพากษาอาวุโสดังกล่าวเข้าทำหน้าที่บริหาร ทั้งนี้ การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อรองรับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของข้าราชการตุลาการในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น
 
 
31 มีนาคม 2560
 
สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยฯ 
 
สนช.มีมติ 197 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยพ.ศ.2540 ไว้พิจารณา มุ่งปรับปรุงแก้ไขอำนาจการทำกิจการของบรรษัทฯ และองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ รองรับการขยายตัวธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย
 
โดยสาระสำคัญก็คือ แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยบางประการ อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของบรรษัทฯ ในการรับโอนสินเชื่อ โดยกำหนดให้สามารถรับโอนสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อโดยการรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าซื้อ หรือ ให้เช่าแบบลิซซิ่งได้, กำหนดให้บรรษัทฯ มีอำนาจในการรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือที่ปรึกษาการบริหารจัดการเกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย และแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการบรรษัทฯ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
 
 
สนช.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.กสทช  ฉบับใหม่ เปลี่ยนคุณสมบัติกรรมการกสทช.พร้อมแก้ไขคนเป็นกรรมการสรรหาใหม่
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)  (ฉบับที่..) พ.ศ...  ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จ โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553 ในเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการ กสทช.โดยยังคงจำนวนกรรมการกสทช.จำนวน 7 คน แต่เพิ่มคุณสมบัติให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมแก้ไขอายุของกรรมการโดยลดลงจากเดิมกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี เป็น 40 ปี และเป็นไม่เกิน 70 ปีจากเดิมแค่ 65 ปี  
 
ทั้งนี้ เรื่องลักษณะต้องห้ามได้แก้ไขห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายศาล ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเคยถูกวุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้จัดการผู้บริหารที่ปรึกษาพนักงาน ผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือกิจการด้านโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปี ก่อนคัดเลือก
 
นอกจากนี้ การสรรหากสทช.ที่มีกรรมการสรรหาที่มาจากประธานองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น เปลี่ยนเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมของกรรมการองค์กรอิสระนั้นๆ พร้อมทั้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการในการสรรหาและคัดเลือกกรรมการจากร่างเดิมที่ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลและสังคม ร่างพ.ร.บ.ยังได้เพิ่มเติมห้ามไม่ให้ผู้พ้นจากตำแหน่ง กรรมการกสทช.เป็นผู้ถือหุ้นส่วนหรือดำรงตำแหน่งใดในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
 
จากนั้นได้พิจารณาเรียงตามลำดับรายมาตรา ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตามที่กรรมาธิการฯแก้ไข  ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่สามด้วยคะแนนเอกฉันท์ 197 เสียง งดออกเสียง 2 และให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
ที่มา: คมชัดลึก