NLA weekly (1-7 เม.ย.60): เริ่มนับหนึ่งใหม่ หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้

NLA weekly (1-7 เม.ย.60): เริ่มนับหนึ่งใหม่ หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้

เมื่อ 10 เม.ย. 2560
 
3 เมษายน 2560
 
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 วันที่ 6 เมษายน 2560 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จออกจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม เวลา 15.00 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อเริ่มพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช 2560  
 
 
4 เมษายน 2560
 
สนช. ผ่าานวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. ความผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน 
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับร่าง พระราชบัญญัติความผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน พ.ศ.... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 183 เสียง  ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง เหตุผลของการตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ การขนส่งน้ำมันส่วนใหญ่จะขนส่งทางเรือ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น การปล่อยทิ้งน้ำมันลงในทะเล การรั่วไหลของน้ำมันหรือการประสบอุบัติภัยของเรือบรรทุกน้ำมันและอาจขยายไปยังรัฐอื่น ๆ ด้วยองค์กรทะเลระหว่างประเทศได้ทำอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ. 1992 เพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน โดยกำหนดให้เจ้าของเรือต้องรับผิดอย่างเคร่งครัดและต้องเอาประกันภัยหรือจัดหาหลักประกันทางการเงินอื่นใดเพื่อชดใช้ความเสียหายดังกล่าว จึงต้องตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้
 
 
5 เมษายน 2560
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยคะแนนเสียง 175 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 15 คน ภายใต้กรอบดำเนินงาน 60 วัน แปรญัตติ 15 วัน
 
เหตุผลของการตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ พ.ร.บ. ฉบับปี 2541 ใช้มาเป็นเวลานานและมีข้อบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งมีการปรับปรุงเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น และเพิ่มข้อบัญญัติเพื่อคุ้มครองแรงงานเกษียณอายุ รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีพิเศษ 
 
 
6 เมษายน 2560
 
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว
 
หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ณ พระที่นังอนันตสมาคม ต่อมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ (2557) ฉบับชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) 2558 ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดกลไกต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูฐฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ 
 
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในหลักเกณฑ์และเหตุผลของบทญัตติต่างๆ เป็นระยะ และเป็นโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญและความหมายโดยผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอแนะข้อควรแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และคำถามพ่วง 
 
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงผ่านประชามติ จึงได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วง และต่อมาได้มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมบางประเด็นได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้นำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบไปด้วย 277 มาตรา 
 
 
เริ่มนับหนึ่งใหม่ เดินหน้าเลือกตั้ง หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้
 
สนุกดอทคอม รายงานว่า เมื่อเวลา 20.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่องการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีใจความสำคัญดังนี้ 
 
1. รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 เป็นอันสิ้นสุดลง
2. คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติจะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส่วนสภาปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็จะยังคงอยู่ต่อไป ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
3. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องมาควบคู่กับหน้าที่ เช่นเดียวกับรัฐที่มีหน้าที่มาขึ้น 
4.จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และจะต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศควบคู่กันไปกับการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. เพื่อเตรียมการด้านยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง
5. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน แต่ละฉบับส่งให้สภานิติบัญญัติพิจารณาภายใน 2 เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมจะใช้เวลาเพิ่มอีก 1 เดือน และนำขึ้นทูลเกล้าประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน 
6.หลังจากประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับแล้ว จะเข้าสู่ช่วงเวลาการเลือกตั้ง โดยจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือนหลังจากประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ
7.รัฐบาลยังไม่สามารถระบุวันเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน เพราะไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ 
8. ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือ คำสั่งของ คสช. ที่ออกไปก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้นั้นยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ 
9.มาตรา 44 ยังไม่ถูกยกเลิก และจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือใช้เท่าที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศและแก้ปัญหาของประเทศซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทันที หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหาย
 
 
7 เมษายน 2560
 
มีชัย แจงเหตุผลในการแก้ไขมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญ 60
 
บีบีซีไทย รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุผลในการแก้ไขมาตรา 5 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า การแก้ไขมาตรา 5 นั้นเป็นการแก้ไขให้กลับไปเป็นมาตรา 7 เหมือนรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เดิมมาตรา 7 ระบุไว้ว่า ถ้าเกิดปัญหาอะไรที่ไม่มีข้อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ย้อนกลับไปดูประเพณีการปกครอง 
 
สำหรับมาตรา 5 ที่แก้ไขโดยข้อสังเกตพระราชทานนั้น ได้ตัดคณะกรรมการวินิจฉัย ออกในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ทำตามประเพณีปกครอง 
 
 
ที่มา: บีบีซีไทย