NLA Weekly (15-21 เม.ย.60): หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 สั่งงดสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

NLA Weekly (15-21 เม.ย.60): หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 สั่งงดสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อ 23 เม.ย. 2560
18 เมษายน 2560
 
ครม. อนุมัติร่างความตกลงไทย-รัสเซีย สนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางทหาร-แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญฝึกอบรมกำลังพล
 
เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ดังนี้ 1. ให้กระทรวงกลาโหม (กห.) จัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ  ดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) 2. ให้เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ  และ 3. หากมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างความตกลงฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ ให้ กห. พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม 
 
โดย สาระสำคัญของการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงอาวุธและยุทโธปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศ การซ่อมบำรุง การสนับสนุนด้านความร่วมมือในการพัฒนาและการผลิตผลิตภัณฑ์ทางทหาร รวมทั้งการแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความช่วยเหลือโครงการร่วมการฝึกอบรมกำลังพล โดยร่างความตกลงนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะขยายเวลาต่อไปอีก 5 ปี โดยอัตโนมัติ
 
ที่มา: ประชาไท 
 
20 เมษายน 2560
 
หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 สั่งงดสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24 /2560 เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และข้อ 20 ของคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคําสั่งคสช. ที่ 23/2560  ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560 จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งออกตามความใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
 
ข้อ 2 ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พ้นจากตําแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญตามข้อ 1 ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่น
 
ข้อ 3 ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากพ้นจากตําแหน่ง ตามวาระตามข้อ 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ และให้ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ 
 
ข้อ 4 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ที่มา: ประชาไท 
 
ประชุมลับ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ผ่านสามวาระรวด
 
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลได้ชี้แจงว่า ในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. ..... คณะรัฐมนตรีได้ขอให้การประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการประชุมลับ ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
 
ขณะที่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า เมื่อ ครม. เสนอให้เป็นการประชุมลับ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับจึงขอเชิญผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม งดการกระจายเสียงและแพร่ภาพทางโทรทัศน์วงจรปิดทางรัฐสภา
 
โพสต์ทูเดย์และ มติชนออนไลน์ ระบุตรงกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการปรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหลือเพียง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักพระราชวัง ประกอบด้วย สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง 2. หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ประกอบด้วย กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักงานตำรวจราชสำนักประจำ และ 3 สำนักงานองคมนตรี เพื่อให้การบริหารหน่วยงานมีความกระชับมากขึ้น ซึ่งการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาและได้ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระรวด โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงสำหรับรายละเอียดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พรเพชร กล่าว เพียงว่า เป็นการประชุมลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้  
 
ที่มา: ประชาไท  
 
สนช. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คาดยกประเด็นคณะกรรมการเป็นทหาร มาหารือต่อ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ...  ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 196 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 3  เสียง โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงหลักการของร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า เพื่อเป็นกรอบในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติวางเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ   โดยให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการด้านต่าง ๆ   ด้านละไม่เกิน 15 คน  เบื้องต้นมี 6 ด้าน  คือ  ด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ  การสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ  การพัฒนากำลังคน   การสร้างความเสมอภาคลดเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม   การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   และการบริหารของทางราชการ   แต่ทั้งนี้สามารถปรับเพิ่มด้านได้ตามความเหมาะสม  
 
ขณะที่ สมาชิก สนช.  เสนอแนะว่าการวางยุทธศาสตร์ชาติต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตของคนในชาติ   พร้อมได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคง ร่วมเป็นกรรมการ   ซึ่งคาดว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ในการหารืออย่างกว้างขวางในชั้นกรรมาธิการ
 
 
ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ประกาศใช้แล้ว -  โอนงบฯปี 60 หมื่นล้านไปเป็นงบกลาง
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเห็นด้วย 207 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง  โดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า  ร่างที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของส่วน ราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ที่ไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม  2560 จำนวนทั้งสิ้น 11,866,512300 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยหกสิบหกล้าน ห้าแสนหนึ่งหมื่นสองพันสามร้อยบาท) ไม่รวมงบกลาง โดยจะนำไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายสำหรับงบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจัดสรรให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล
 
พร้อมกล่าวย้ำว่า เจตนาสำคัญที่เสนอร่างดังกล่าวเข้ามาสู่การพิจารณาของ สนช. เพราะต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ตระหนักในการเบิกจ่ายหรือใช่งบประมาณให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งหากไม่สามารรถดำเนินการได้ภายในเวลาที่กำหนดก็จะต้องมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นได้ตระหนักรู้ และงบประมาณที่ได้โอนมาครั้งนี้จะนำไปตั้งเป็นงบกลางและนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในช่วงเวลาครึ่งปีหลังของงบประมาณนี้  
 
ประชาชนยื่น 35,000 รายชื่อ เรียกร้องเพิ่มโทษคนขับรถแข่งบนทางสาธารณะแล้วชนคนตาย ให้เทียบเท่ากับเจตนาฆ่าคนตาย
 
พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนให้เพิ่มบทลงโทษคนขับรถแข่งบนทางสาธารณะแล้วชนคนตายให้เทียบเท่ากับเจตนาฆ่าคนตาย จำนวน 35,000 รายชื่อ จากศรัญญา ชำนิ คุณแม่น้องการ์ตูน เด็กหญิงวัย 5 ขวบ ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถยนต์ จากเหตุการณ์ที่มีรถกระบะขับแข่งขันกันบนทางสาธารณะเสียหลักพุ่งเข้าชนร้านสเต็กของศรัญญาย่านบางบอน ทำให้สามีของศรัญญาเสียชีวิตและลูกสาวพิการทางสมอง เนื่องจากเห็นว่าผู้ขับขี่มีเจตนาแข่งขันซึ่งพึงทราบก่อนแล้วว่าไม่ใช่การขับขี่ตามปกติที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่ใช่ความประมาท มีความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดอันตรายอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ดังนั้นจึงไม่ควรมีการหย่อนโทษ และควรเพิ่มบทลงโทษให้เทียบเท่าการก่อคดีฆาตกรรมด้วยการแข่งขัน
 
พล.ท.จเรศักณิ์ ได้กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง กมธ.การคมนาคม สนช. จะรับไว้พิจารณา โดยจะนำไปตรวจสอบกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาในหลายๆ เรื่อง เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ขับขี่รถในปัจจุบัน
 
 
21 เมษายน 2560
 
สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 175 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 31 คน มาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 6 คน สนช.จำนวน 25 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 45 วัน
 
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดเผยถึงข้อสังเกตที่ได้รับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและนักวิชาการใน 4 ประเด็น คือ 1.การจัดตั้งพรรคการเมืองมีความยาก แต่ง่ายต่อการสิ้นสภาพและถูกยุบ 2.การกำหนดทุนประเดิมและการเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรค เป็นกำแพงกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ขัดแย้งกับระบบประชาธิปไตย 3.องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง เหตุใดจึงตัดสัดส่วนของผู้แทนพรรคการเมืองออก และ4.บทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง อาจส่งผลให้ไม่มีคนรุ่นใหม่หรือคนดีเข้าสู่การเมือง จึงควรพิจารณาบทลงโทษให้สอดคล้องกับการกระทำและสมควรกับเหตุ
 
 
ผ่านแล้ว! ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. – สมาชิก สนช.ตั้งข้อสังเกต การยุบ กกต. จังหวัด อาจไม่ช่วยป้องกันทุจริต
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ....  ด้วยเสียง 201 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย จากจำนวนผู้ร่วมประชุม 203 คน ด้าน สมาชิก สนช. อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับหลักการและเนื้อหาส่วนใหญ่ แต่หลายคนยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการยุบ กกต. จังหวัด อาทิ รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และ นิพนธ์ นราพิทักษ์กุล  ยังเห็นว่าการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งระดับพื้นที่ แทน กกต. จังหวัด ไม่เป็นหลักประกันในการป้องกันการทุจริตจากการสร้างความคุ้นเคยกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 
 
ด้านสมชาย แสวงการ เสนอแนะทางออกโดยอาจให้มีทั้ง กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการเลือกตั้งทำงานควบคู่กัน รวมทั้งค้านเรื่องการเซตซีโร่ กกต. ที่ทำหน้าที่อยู่เดิม
 
 
เห็นชอบสนธิสัญญามาร์ราเคช ช่วยให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นลิขสิทธิ์ง่ายขึ้น
 
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบสนธิสัญญามาร์ราเคช เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงงานที่มีการโฆษณาแล้ว สำหรับคนตาบอด คนพิการทางการเห็น หรือคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 198 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง
 
โดย พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงประโยชน์ของการเป็นภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคชว่า ประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ที่ดีในการสนับสนุนให้คนพิการทุกประเภท ได้รับรู้ เรียนรู้ เป็นช่องทางให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากงานที่เป็นลิขสิทธิ์ สามารถนำเอกสารอันเป็นลิขสิทธิ์ มาทำซ้ำ ดัดแปลง เช่น นำมาทำเป็นอักษรเบล หรือ หนังสือเสียง เพื่อให้คนพิการทางการเห็น ได้รับรู้และเข้าใจเท่าเทียมกับคนอื่น ประกอบกับที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อยกเว้น ลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการ