NLA Weekly (22-28 เม.ย.60): สปท.นัด 1 พ.ค.นี้ เดินหน้าดันกม.คุมสื่อฯ ด้าน กมธ.ยันหลักการเดิมไม่ยอมเปลี่ยน

NLA Weekly (22-28 เม.ย.60): สปท.นัด 1 พ.ค.นี้ เดินหน้าดันกม.คุมสื่อฯ ด้าน กมธ.ยันหลักการเดิมไม่ยอมเปลี่ยน

เมื่อ 29 เม.ย. 2560

 

25 เมษายน 2560
กมธ.วิสามัญฯ แขวน 3 มาตราจาก 15 มาตราในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองยังไม่พิจารณา
 
 
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่า ล่าสุดคณะกรรมาธิการได้พิจารณาไปแล้ว 15 มาตรา โดยแขวนไว้ 3 มาตรา คือ 
 
มาตรา 4 เกี่ยวกับคำนิยาม เนื่องจากกรรมาธิการหลายคนเห็นควรให้เติมคำนิยามของพรรคการเมืองลงไปด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการบัญญัติไว้
 
มาตรา 9 เกี่ยวกับทุนประเดิมพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งล้านบาท ในการก่อตั้งพรรค ยังมีสมาชิกไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีทุนประเดิมพรรค
     
มาตรา 15 เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม เพราะกรรมาธิการบางส่วนมองว่า ควรแยกมาตรฐานระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับสมาชิกพรรคการเมือง โดยเห็นว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคควรมีความเข้มงวดมากกว่าสมาชิกและไม่ควรปล่อยให้พรรคการเมืองไปกำหนดขึ้นเอง โดยบางคนเสนอให้กำหนดเช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ คือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วย คณะกรรมาธิการฯ จึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้แขวนประเด็นการจ่ายค่าบำรุงพรรค 100 บาท ที่เสียงของกรรมาธิการมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกำหนดในเรื่องนี้
 
 
26 เมษายน 2560
กมธ.ยืดเวลาแก้ไขข้อบังคับพรรคการเมือง 90 วัน
 
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงผลการประชุมว่า คณะ กมธ.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองในมาตรา 16-22 โดยที่ประชุมยังติดใจในมาตรา 17 ว่าด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเดิมกำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดทำข้อบังคับพรรคการเมืองส่งให้คณะกรรมการการการการเลือกตั้ง (กกต.) หากมีข้อไม่สมบูรณ์กกต.จะส่งต้องให้พรรคการเมืองแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน และหากทำไม่ทันจะต้องมีโทษถึงยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมกมธ.เห็นว่าการกำหนดดังกล่าวไม่มีความเหมาะสม เพราะจะทำให้พรรคการเมืองมีเวลาน้อยเกินไป ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรแก้ไขเป็น 60 วัน และหากพรรคการเมืองทำไมทันก็สามารถขยายเวลาไปอีกได้ 30 วัน แต่ถ้ายังไม่แล้วเสร็จจะต้องมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคการเมืองได้เวลาแก้ไขถึง 90 วันแล้ว
 
 
กรธ.เปิดสัมมนารับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... 
 
มีชัย  ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนเสาหลักค้ำจุนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ดังนั้นต้องหาวิธีที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมโดยการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ขณะที่หน่วยงานของรัฐ ทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถส่งคำร้องให้ยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อให้สามารถคลี่คลายวิกฤติได้โดยเร็วและจะต้องทำให้ปริมาณคดีที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเกิดความสมดุล โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรับผิดชอบสูง กล้าหาญ และมีจริยธรรม เนื่องจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันกับทุกหน่วยงาน
 
ด้านสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องปรับระบบไต่สวนให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยวิธีแพ้ชนะตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว ขณะที่การกำหนดประเด็นวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรวินิจฉัยทุกประเด็น เพราะที่ผ่านมามีการพิจารณาข้ามประเด็นทั้งที่เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน
 
เช่นเดียวกับ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีระบบชัดเจน ดังนั้น ในร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ควรกำหนดนิยามขอบเขตของระบบไต่สวนและระบบกล่าวหาเพื่อให้เกิดความสมดุล โดยตั้งแต่เริ่มพิจารณาคดี และการเขียนคำร้องต้องมีหลักการเขียนประเด็นข้อพิพาทที่ขัดแย้งให้ชัดเจน ส่วนการยื่นคำร้องของประชาชนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาจะต้องเป็นเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทำให้มีจำนวนคดีน้อย ดังนั้น ต้องปรับแก้ไขให้มีเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไปจนทำให้การวินิจฉัยขาดคุณภาพ
 
 
27 เมษายน 2560
ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ ระบุฟังความเห็นจากปชช.ก่อน
 
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลสื่อฯ ซึ่งส่วนตัวยังไม่เห็นด้วย และจะต้องฟังความเห็นจากประชาชนก่อน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ การที่มอบความรับผิดชอบให้กับสมาคมสื่อฯ แต่ก็มีการยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด เพราะเมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถหาคนที่รับผิดชอบได้ จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และการยอมรับในตัวขององค์กร
 
ที่มา: ประชาไท 
 
มีชัยแนะองค์กรสื่อชี้แจงเหตุผล หากไม่เห็นด้วยจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ยืนยันหลักการ การตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และการออกใบอนุญาตวิชาชีพสื่อสารมวลชน ตามรายงานการปฏิรูปสื่อสารมวลชน ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นเนื้อหาของรายงานฉบับดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผลักดันกฎหมายจะต้องอธิบายเหตุผลที่ต้องมีการออกใบอนุญาต 
 
ทั้งนี้ เห็นว่าแนวทางดังกล่าวไม่เป็นการครอบงำสื่อ เพราะว่าอาชีพอื่นๆ ในประเทศไทยก็มีใบอนุญาตจำนวนมาก เพื่อติดตามการปฏิบัติหน้าที่ว่าถูกต้องตามหลักวิชาชีพหรือไม่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงเขียนว่าหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรมีระบบใบอนุญาต แต่ความเห็นส่วนตัวยังไม่สามารถตอบได้ว่าอาชีพสื่อสารมวลชนควรมีใบอนุญาตหรือไม่ เพียงแต่พูดตามหลักการเท่านั้น ดังนั้น สมาคมสื่อมวลชน ควรรวมตัวกันเพื่อชี้แจงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรมีใบอนุญาต
 
 
สปท.  ยืนยัน หากร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อ ขัดหลักสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้
 
อลงกรณ์ พลบุตร  รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่ สปท. เตรียมเสนอรายงานร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เข้าสู่การประชุมของ สปท.ว่าจะมีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของ สปท. หรือไม่  โดยยืนยันว่า รายงานดังกล่าว ไม่ใช่การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ตั้งใจให้การประกอบวิชาชีพของสื่อมวลชน เป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบสังคม มีจรรยาบรรณ
 
อลงกรณ์กล่าวอีกว่า ร่างรายงานดังกล่าว ยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ทั้งในชั้นวิป สปท.   ที่ประชุมใหญ่ สปท.   และคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่งสิ่งใดที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ หรือหลักสากล ก็ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ จึงขอให้สื่อมวลชนให้ความเห็นเข้ามา และกรรมาธิการต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็นด้วย
 
 
สปท.นัด 1 พ.ค.นี้ เดินหน้าดันกม.คุมสื่อฯ ด้าน กมธ.ยันหลักการเดิมไม่ยอมเปลี่ยน
 
คำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (วิป สปท.) แถลงภายหลังการประชุมว่า สัปดาห์หน้า สปท.จะมีประชุม 2 วัน โดยในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ที่ประชุม สปท.จะพิจารณารายงานการปฏิรูปของคณะ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อมวลชน จำนวน 2 เรื่อง
 
1.เรื่อง การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน : ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …
2.เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ 
 
สำหรับเหตุผลที่วิป สปท.บรรจุกฏหมายคุมสื่อฯเข้าสู่การประชุม สปท.อีก คำนูณกล่าวว่า ที่ผ่านมาวิป สปท.ได้มีการพิจารณาแล้ว และมีมติให้นำกลับมาทบทวน ตามที่วิป สปท.ได้เสนอความเห็นต่อ กมธ.สื่อฯ 3 -4 ประเด็น ก่อนที่จะเสนอกลับมายังวิป สปท.อีกครั้ง ซึ่งจากการหารือทาง กมธ.สื่อฯยังคงยืนยันความเห็นเดิม ว่า กมธ.ได้มีการทบทวนแล้ว และยืนยันในประเด็นที่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.สื่อฯ กับ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.สื่อฯ ได้ออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาเป็นระยะๆ 
 
ดังนั้น วิป สปท.จึงมีมติให้นำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่การตอบโต้ไปมาระหว่างตัวแทนองค์กรสื่อฯกับ กมธ.สื่อ ส่วนจะมีโอกาสที่ร่างกฎหมายดังกล่าว จะถูกตีกลับมาทบทวนอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคมนี้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร