1 พฤษภาคม 2560
สปท.มติ 141 เสียง เห็นชอบกฎหมายคุมสื่อ นิยามคลุมสื่อออนไลน์-เพจดัง
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน จำนวน 2 เรื่อง คือ รายงานการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน ที่เสนอให้มีร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....ซึ่งก่อนเข้าสู่วาระการประชุม สมาชิกหลายคนแสดงความเห็น โดยประธานสปท.แสดงความเห็นส่วนตัวว่า สื่อควรมีใบรับรองจากสภาวิชาชีพเพื่อกำกับดูแลกันเองได้ โดยหลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่สุดมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 เสียง งดออกเสียง 17
สำหรับการพิจารณานั้นเริ่มจาก พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ชี้แจงว่า เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กมธ.รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และเมื่อเช้าวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้นัดประชุมกมธ.นัดพิเศษ เพื่อฟังข้อคัดค้านจากสื่อมวลชน กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมติเสียงข้างมากว่า จะขอปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้น จึงไม่มีบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อมวลชนและเจ้าของสื่อตามมาตรา 91 และ 92 อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กมธ.ยังเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ และส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน แต่ได้ปรับลดโควตาตัวแทนคณะกรรมการฯจากภาครัฐจาก 4 คน เหลือ 2 คน และเพิ่มโควตาให้มีคณะกรรมการฯที่เป็นตัวแทนจากสื่อเพิ่มเป็น 7 คน
สนช.พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง เร่งหารือแนวทางแก้ปัญหารายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อน
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ว่า ขณะนี้ สนช.พิจารณาในมาตรา 23-32 โดยมีการแขวนไว้ 2 มาตรา คือมาตรา 23(5) เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่เป็นการพัฒนาตามระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพรรคการเมือง ซึ่งในท่อนท้ายกำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยที่ประชุมเห็นว่า เหตุใดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองประเด็นอื่นไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก กกต. ทั้งที่เป็นเรื่องภายในของพรรคการเมือง
ส่วนในมาตรา 26 วรรคสอง ในกรณีที่ปรากฏบุคคลใดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรค ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้กับหัวหน้าพรรคการเมืองทราบพร้อมกับลบข้อมูล ซึ่งทาง กมธ. ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งให้สมาชิกทราบด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะโยงถึงบทโทษในมาตรา 100 ซึ่งจะมีโทษปรับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ไม่แจ้งให้ทราบไม่เกิน 50,000 บาท และหากเกินระยะเวลาปรับอีกวันละ 1,000 บาท ขณะที่มาตรา 27(3) กรณีที่สมาชิกไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพนั้น ยังต้องแขวนการพิจารณาไว้ก่อน เนื่องจากเชื่อมโยงกับเรื่องค่าบำรุงพรรคในมาตรา 15 (5) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป
2 พฤษภาคม 2560
สนช.พิจารณาร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กกต.แล้ว 20 มาตรา
พลโท พิศณุ พุทธวงศ์ สมาชิกสนช. แถลงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... ว่าได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสถาบันพระปกเกล้า
โดยที่ประชุมสามารถพิจารณาไปแล้ว 20 มาตรา จาก 78 มาตรา ทั้งนี้มีสมาชิก เสนอคำแปรญัตติมาแล้ว 14 คน ในหลายมาตรา ส่วนใหญ่เน้นไปในมาตรา 70 เกี่ยวกับบทเฉพาะกาล รวมถึงประเด็นย่อยอื่น อาทิ ค่าตอบแทนผู้ตรวจการเลือกตั้ง อายุของเลขาธิการ กกต. วาระในการดำรงตำแหน่งของ กกต. สำหรับการปรับเพิ่มถ้อยคำ โดยเฉพาะคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งมีความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเห็นควรให้บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (4) ขณะที่คำปรารภ ต้องทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 20 ว่าด้วยเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบ ตามรัฐธรรมนูญ 2560
ส่วนการปรับแก้มีเพียงถ้อยคำเล็กน้อยใน มาตรา 12 ที่ให้ตัดคำว่า ผู้พิพากษาในศาลฎีกาออก เพราะกินความความหมายกว้าง พร้อมยืนยันว่า กรรมาธิการฯ จะนำทุกความเห็นมาประกอบการพิจารณาและมีแนวโน้มจะเชิญหน่วยงานอื่นมาชี้แจงเพิ่มเติมในการประชุมครั้งต่อไป
โฆษกวิป สนช.เผย ประธาน สนช. ตั้งคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายลูกล่วงหน้าเกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และวิธีพิจารณาคดีผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองแล้ว
เจตน์ ศิรธรานนท์ และยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยถึงการพิจารณากฎหมายให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญว่า เป็นหน้าที่หลักของผู้เสนอกฎหมายที่ต้องจัดทำรายงานความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและผลกระทบรอบด้านเสนอเข้ามา สนช.มีหน้าตรวจสอบ และจัดทำหลักเกณฑ์การปฏิบัติความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมาย
โดยขณะนี้มีร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. จำนวน 17 ฉบับ และที่เสนอเข้ามาภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้อีก 4 ฉบับ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรา 77 หรือไม่ หากไม่ครบสมบูรณ์จะให้หน่วยงานที่เสนอร่างกฎหมายเข้ามา จัดทำเสนอเข้ามาเพิ่มเติม อีกทั้งจะเปิดรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนทางเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามการทำงานของ สนช.
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ ประธาน สนช. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายล่วงหน้าจำนวน 2 คณะ ก่อนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามาให้ สนช. พิจารณา
4 พฤษภาคม 2560
สปท.นัดประชุม 8 พ.ค.นี้ ขณะ พ.ร.บ.สื่อ พิจารณาปรับแก้ภายใน 7 วัน ก่อนส่ง ครม.
คำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าว่าการประชุมในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2560 การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จะปรับแก้ภายใน 7วัน ก่อนส่งให้ประธานสปท. เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี โดยแนวทางปรับแก้จะเป็นไปตามที่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ. เสนอ คือยังคงมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คงสัดส่วนตำแหน่งเจ้าหน้าของรัฐ 2ตำแหน่งเป็นกรรมการ ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ แต่ให้มีใบรับรองที่ออกโดยแต่ละองค์กรของสื่อ ทั้งนี้ จะสรุปความเห็นต่างของสมาชิกแนบท้ายรายงานไปด้วย
5 พฤษภาคม 2560
สนช.พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง เผยพิจารณาถึงมาตรา 76 แล้ว
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ว่า พิจารณาถึงมาตรา 76 แล้วจากทั้งหมดประมาณ 140 มาตรา และแขวนไว้ 14 มาตรา อาทิ คำนิยาม "พรรคการเมือง" การปรับแก้ไขลดเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมืองจาก 1 ล้านบาท การเก็บเงินบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกพรรคเป็นรายปีตาม 100 บาท ห้ามพรรคการเมืองรับเงินจากชาวต่างชาติ รวมทั้งเรื่องการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งที่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนชายหญิงอย่างเท่าเทียม การยุบพรรคการเมืองการตั้งสาขาพรรคการเมือง นอกจากนี้ได้เสนอให้เพิ่มว่าแต่ละพรรคต้องมีตำแหน่งเลขาธิการพรรคที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกพรรค ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ที่ประชุม กมธ.จะเชิญผู้เสนอคำแปรญัตติเข้ามาชี้แจง ภายหลังจากที่ประชุม กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว