ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แค่ค่าปรับที่กฎหมายเขียนไว้ไม่ได้ปรับตามสักที สนช. เลยถือโอกาสยกเครื่องกฎหมายอาญาทีเดียวทั้งฉบับ เพิ่มค่าปรับขึ้น 10 เท่าทุกฐานความผิด แถมพิเศษ ความผิดฐานเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต เพิ่มค่าปรับขั้นต่ำ 50 เท่า
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักอย่างเดียว คือ การเพิ่มโทษปรับในความผิดต่างๆ ให้สูงขึ้น เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญานั้น ใช้มาตั้งแต่ปี 2499 เป็นเวลา 60 ปีแล้ว สภาพเศรษฐกิจและค่าเงินบาทได้เปลี่ยนไปมาก ค่าปรับที่เคยเขียนไว้ในกฎหมายเดิมจึงอาจล้าสมัย ความผิดที่ร้ายแรงมีโทษจำคุกสูงแต่กลับมีโทษปรับน้อย ไม่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดนั้นๆ
การแก้กฎหมายในครั้งนี้ จึงเป็นลักษณะยกเครื่องประมวลกฎหมายอาญาทีเดียวแทบทั้งฉบับ โดยเพิ่มโทษปรับในอัตราเดียวกัน คือ 10 เท่าตัว สำหรับ 241 ฐานความผิด ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 จากเดิมกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็เปลี่ยนเป็น จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมตรา 334 จากเดิมกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท ก็เปลี่ยนเป็น จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
มีที่เพิ่มเติมเป็นพิเศษอยู่สองมาตรา คือ ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตายสาหัส ในมาตรา 297 ที่จากเดิมไม่มีโทษปรับ มีเพียงโทษจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี การแก้ไขครั้งนี้เพิ่มให้มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับควบคู่กัน โดยให้โทษปรับคิดเป็นเงินตั้งแต่ 10,000 ถึง 200,000 บาท และฐานทำร้ายร่างกายบุพการี หรือเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ในมาตรา 298 จากเดิมที่ไม่มีโทษปรับ เพิ่มเป็นให้มีโทษจำคุก 2 ปีถึง 10 ปี และปรับ 40,000 ถึง 200,000 บาท
เจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่น โทษปรับขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 50 เท่า
การแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษปรับ 10 เท่าครั้งนี้ ยังมีจุดที่แก้ไขเป็นพิเศษในหมวด ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมด 10 มาตรา คือ มาตรา 147-151 มาตรา 154-156 และมาตรา 201-202 ซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ไขโทษปรับในอัตราสูงสุดให้เพิ่มขึ้น 10 เท่า แต่ยังแก้ไขอัตราโทษปรับในอัตราต่ำสุดให้เพิ่มขึ้น 50 เท่า
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามมาตรา 149 จากเดิมมีโทษจำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิต เปลี่ยนเป็น จำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือประหารชีวิต หรือความผิดฐานเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ทำบัญชีเท็จ จากเดิมมีโทษจำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท เปลี่ยนเป็น จำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท
เท่ากับว่า ในความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 10 มาตรานี้ ไม่ว่าการกระทำความผิดจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม และไม่ว่าการกระทำจะร้ายแรงเพียงใดก็ตาม หากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดจริงศาลไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยน้อยกว่า 5 ปี และไม่อาจลงโทษปรับน้อยกว่า 100,000 บาทได้
ความผิดที่เพิ่งเขียนขึ้นใหม่ โทษปรับทันสมัยอยู่แล้ว ไม่ต้องเพิ่มอีก
ความผิดบางหมวดในประมวลกฎหมายอาญา ถูกเขียนขึ้นหลังการเขียนประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 ซึ่งเป็นการเขียนขึ้นใหม่ตามความจำเป็นของแต่ละยุคสมัย และเนื่องจากความผิดเหล่านี้ยังไม่ล้าสมัย จึงกำหนดโทษปรับเอาไว้ตามอัตราค่าเงินที่คง ไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก
ความผิดที่เขียนขึ้นใหม่จึงไม่ถูกเพิ่มโทษปรับด้วย ได้แก่
1) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย ตามมาตรา 135/1 - 135/4 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2546
2) ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 269/1 - 269/7 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2547
3) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ตามมาตรา 269/8 - 269/15 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2550
4) ความผิดเกี่ยวกับศพ ตามมาตรา 366/1 - 366/4 ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี 2558
นอกจากนี้ ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีโทษเล็กน้อย ตั้งแต่มาตรา 367-398 เช่น ความผิดฐานส่งเสียงอื้ออึง ความผิดฐานพกพาอาวุธเข้าไปในที่สาธารณะ ความผิดฐานเมาสุราจนประพฤติวุ่นวาย ก็เพิ่งถูกเพิ่มโทษ 10 เท่าไปแล้วใน
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกครั้ง ในปี 2558 การแก้ไขครั้งนี้จึงไม่ได้เพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้นอีก