NLA Weekly (6 พ.ค.-12 พ.ค. 60): กรธ. เตรียมติดดาบองค์กรอิสระรัดเข็มขัดรัฐบาล ด้าน สนช. ไฟเขียว ผบ.เหล่าทัพ นั่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

NLA Weekly (6 พ.ค.-12 พ.ค. 60): กรธ. เตรียมติดดาบองค์กรอิสระรัดเข็มขัดรัฐบาล ด้าน สนช. ไฟเขียว ผบ.เหล่าทัพ นั่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อ 14 พ.ค. 2560
9 พฤษภาคม 2560
 
กรธ ร่วมหารือ สตง ปรับกฎหมายลูกติดดาบองค์กรอิสระควบคุมการใช้เงินรัฐบาล
 
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ... ว่า กรธ กำลังหาทางออกแบบกฎหมายให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เช้มงวดกับการใช้งินแผ่นดินไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ในขณะเดียวกันก็ต้องให้คนใช้เงินโดยสุจริตแล้วเกิดผิดพลาดไม่ให้ต้องรับผิดชอบภายหลัง และ กรธ. ยังคิดอีกว่า จะทำกฎหมายออกมาในลักษณะใดที่ให้การตรวจสอบงบประมานของภาครัฐ ไม่ซ้ำซ้อนหน้าที่ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะจะเป็นอันตรายกับระบบราชการได้ในอนาคต
 
มีชัย กล่าวว่า เบื้องต้นจะให้ สตง. มีหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมานภาครัฐ ว่า มีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ ป.ป.ช. ยึดรายงานจาก สตง. เป็นหลักเพื่อดำเนินการสอบสวนเชิงลึกต่อ และต้องมีการประสานงานทางข้อมูลต่างๆ ร่วมกันระหว่าง สตง. และ ป.ป.ช. ส่วนการตรวจสอบงบประมานของหน่วยงานอย่าง ป.ป.ช. จึงมีคำถามว่า สตง. จะสามารถทำได้หรือไม่ หากพบว่า ป.ป.ช. มีการใช้งบประมาณโดยมิชอบ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาตรวจสอบการทุจริตของ ป.ป.ช. ก็คือ เจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. เอง ซึ่งก็ได้ยินมาว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีอิทธิพลถึงขนาด ป.ป.ช. กลัว
 
ส่วนการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สตง. คือ กรมบัญชีกลาง แต่มักเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นแบบผ่านๆ ไม่เห็นมีการทักท้วงอะไร กรธ. จึงมองว่า ถ้าให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่บนพื้นฐานที่ สตง. เคยทำ จะเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบและใช้ระบบแบบเดียวกัน และเมื่อไหร่ที่ สตง. พบการใช้จ่ายเงินของรัฐไม่ถูกต้องตามวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถประชุมร่วมกับองค์กรอิสระ อื่น เพื่อท้วงติงรัฐบาลได้
 
ด้าน พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด มีการเพิ่มบทบาทหน้าที่นอกเหนือจากตรวจสอบทางกฎหมาย แต่ยังเพิ่มเติมสาระสำคัญจากเดิม เช่น ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อาจเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่อาจพบว่า จะมีการใช้จ่ายเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือประชานิยม ลดแลกแจกแถม หากเห็นว่า การใช้เงินนั้น มีลักษณะหาเสียง ก็ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. แต่ยังต้องส่งไปยัง กกต. ด้วย เพื่อวินิจฉัยตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีที่เอาเงินแผ่นดินไปหาเสียง เมื่อ คตง. เห็นว่า เข้าข่ายก็จะไปหารือร่วมกับ ป.ป.ช. และ กกต. หากเห็นพ้องกันว่า การใช้จ่ายเงินเหล่านั้นจะก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องแจ้งไปยังรัฐสภา และ ครม. โดยไม่ชักช้า แต่ทั้งนี้ ควรมีมาตรการกำหนดให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
 
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ด้านการใช้เงินในทางราชการไม่เหมาะสม ไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็จะส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้พิจารณา ส่วนการติดตามทวงคืนความเสียหายของรัฐที่เกิดขึ้นแล้ว หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ดำเนินการ สตง. มีอำนาจติดตามการทวงคืนเหล่านี้ แม้ไม่มีตัวแทนความเสียหายแทนประชาชน ก็อาจกำหนดให้ สตง. เป็นผู้เสียหายแทนประชาชน สามารถฟ้องร้องได้ ทั้งนี้ อยากให้มีการกำหนดเพิ่มเติมว่า สำหรับการกระทำที่ฝ่าฝืนหลีกเลี่ยง จนก่อให้เกิดความเสียหาย นอกจากผิดวินัย อาญา และแพ่งแล้ว ควรต้องมีโทษปรับทางปกครองเพิ่มเติมด้วย
 
 
สนช. เตรียมปรับแก้กฎหมายลูก กกต. ก่อนพิจารณาอีกครั้ง 9 มิ.ย.นี้
 
พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาจากมาตรา 21 - 33 โดยมีการแขวนหลายมาตรา อาทิ มาตรา 21 กกต. จะต้องทำงานเต็มเวลา มีความสุจริตเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ซึ่ง กมธ. อยากให้เพิ่มความเป็นกลางทางการเมืองด้วย ส่วนมาตรา 22 เกี่ยวกับให้ กกต. สามารถวางระเบียบ หรือให้ความเห็นในการปฏิบัติหน้าที่ของ รมต. ในระหว่างที่อายุสภาสิ้นสุด หรือมีการยุบสภาให้สองคล้องกับรัฐธรรมนูญ 169 ซึ่งเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องการห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ การให้เจ้าหน้าที่พ้นจากตำแหน่ง การอนุมัติงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อใช้ในการฉุกเฉินสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
       
นอกจากนี้ พล.ท.พิศณุ กล่าวต่อว่า อีกมาตราที่แขวนไว้ คือ มาตรา 26 เกี่ยวกับ กกต. คนเดียวสามารถสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเมื่อมีเหตุสงสัยได้ ซี่ง กกต. เองยังมีความเห็นว่าขาดอำนาจใจการสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง โดย กกต. รายเดียว เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรค 3 สามารถกระทำได้ ที่ประชุมจึงรับไว้พิจารณาแต่ยังมีความเห็นว่า กกต. คนเดียวจะสั่งเรื่องนี้โดยเด็ดขาดอาจไม่เหมาะสม และอาจขัดมาตรา 224 ได้ ส่วนในมาตรา 27 เกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งทาง กกต. ยังอยากให้ กกต. จังหวัดเหมือนเดิม จึงต้องแขวนไว้ก่อน ส่วนในมาตรา 33 เกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาเพิกถอนคำสั่งระงับการดำเนินการชั่วคราวเดิมผู้มีสิทธิ์ร้องต่อศาลฎีกา แต่ในร่าง พ.ร.ป. เปลี่ยนเป็นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ทาง กมธ. จึงเห็นว่าควรนำร่าง พ.ร.บ. เดิมมาเทียบเคียง
       
"มาตราที่แขวน เพื่อรอข้อมูลเพิ่มเติมให้การพิจารณาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้สอดคล้องกับความคิดเห็นของ กรธ. เนื่องจาก กมธ. มุ่งหวังที่จะเห็น กกต. เปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางการจัดการเลือกตั้งที่ดีขึ้น เพราะการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ที่ผ่านมา ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ" พล.ท.พิศณุ กล่าว 
 
 
11 พฤษภาคม 2560
 
พุทธอิสระ ยื่นหนังสือถึง กรธ. จัดการคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหากิน
 
พระพุทธอิสระ เจ้าวาสวัดอ้อน้อย ยื่นหนังสือกับประธานกรธ. เรื่อง ขอให้พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตเพิ่มเติม 
 
โดย พระพุทธอิสระเผยว่า ตาม พรบ. คณะสงฆ์ 2505 ซึ่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 45 นั้น   ให้ถือว่าพระภิกษุได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าหน้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา แต่กลับปรากฏว่า ไม่มีองค์กรใดทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่และใช้งบประมาณของนักศาสนา ผู้มีตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ได้เลย เมื่อมีการตรวจสอบ จึงนำมาซึ่งความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อวงการศาสนาและสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก อย่างเช่น กรณีคดีธรรมกาย เป็นต้น 
 
ด้าน ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรธ.  รับฟังและพร้อมดูแลในส่วนของทางนิติบัญญัติในเรื่องที่เกี่ยวข้อง  หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินก็พอจะมีทางเป็นไปได้  แต่เรื่องที่มายื่นนั้นเป็นเรื่องทีเกี่ยวกับคณะสงฆ์มีผลกระทบถึงความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนา  อีกทั้งวัดไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ  คนที่ทำงานในวัด ก็มิใช่ เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองทางบ้านเมือง  อาจจะยากที่จะตรวจสอบได้   
 
 
กมธ.วิสามัญของสนช. ไฟเขียว ผบ.เหล่าทัพ นั่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ 
 
พลเอกสุชาติ หนองบัว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.  การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า ที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ได้มีการพิจารณาคำแปรญัตติของสมาชิก สนช.จำนวน 5 คำแปรญัตติ ซึ่งทั้ง 5 คำแปรญัตติเสนอให้แก้ไขในมาตรา 12 อันเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หมวด 1 ว่าด้วยยุทธศาสตร์แห่งชาติ หมวด 2 คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ และหมวด 3 การติดตามตรวจสอบประเมินผล ซึ่งที่ประชุมพิจารณาในเบื้องต้นแล้วมีมติเห็นควรให้คงไว้ตามร่างเดิม 
 
สำหรับสัดส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีตัวแทนจากเหล่าทัพ จำนวน 5 คน นั้น ที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ เห็นว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ซึ่งตัวแทนจากเหล่าทัพเป็นตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง เมื่อเทียบกับจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด 32 คน นั้นมีจำนวนที่เหมาะสมแล้ว 
 
ทั้งนี้ ที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ กำหนดพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 มิถุนายน ก่อนเสนอต่อประธาน สนช. ในวันที่ 14 มิถุนายน เพื่อนำเข้าที่ประชุม สนช.พิจารณาต่อไป